เสียงสะท้อน จากสื่อต่างชาติในไทย ท่ามกลางสภาพทำงานที่น่าวิตก

ประชาชนและแวดวงสื่อสารมวลชน ตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของ “สื่อ” บางกลุ่มตกเป็นเป้าสายตาจากข้อกล่าวหา แต่อีกปริมณฑลหนึ่งของวงการสื่อสารมวลชนในไทย มีกลุ่มสื่อที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน

การประกาศแนวทางการพิจารณาตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว รหัส M หรือการต่อ “วีซ่าผู้สื่อข่าวต่างชาติ” จากกระทรวงการต่างประเทศ รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างข้อสงสัยต่อสื่อต่างชาติ

แนวทางพิจารณาใหม่มีหลายประการ แต่จุดสำคัญที่น่าสนใจคือต้องมีสังกัด และไม่มีพฤติกรรมหรือการทำงานที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสาธารณะ หรือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย ไม่เคยบิดเบือนข่าวสารอย่างจงใจ

แนวทางนี้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อกลุ่มสื่อมวลชนต่างชาติที่ตั้งฐานการทำงานในไทย ที่ผ่านมา การทำงานของสื่อที่ตั้งฐานรายงานข่าวในดินแดนแห่งรอยยิ้มเป็นส่วนหนึ่งของเงาสะท้อนภาพของประเทศผ่านแว่นส่องจากชนเชื้อชาติอื่นออกไปสู่สายตาโลกภายนอก

Advertisement

ขณะที่ นายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า เพื่อป้องกันการหาประโยชน์จากการประกอบอาชีพอื่นแอบแฝง หรือใช้สิทธิประโยชน์จากบัตรประจำตัวสื่อมวลชน และยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธวีซ่าสื่อหลากหลายกลุ่มซึ่งรวมถึงช่างภาพอิสระ พร้อมแนะแนวทางเปลี่ยนประเภทวีซ่าเป็นแบบที่หมาะสม เช่น รหัส B หรือการติดต่อธุรกิจ

โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวต่างชาติในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาชีพของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้โดยยอมรับว่า แนวปฏิบัติจากทางการสร้างความกังวลแก่ผู้สื่อข่าวต่างชาติอย่างมาก

โจนาธาน เล่าว่า กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัญญาว่าไม่ใช่การ “คัดกรองสื่อ” แต่การรับรู้ในมุมมองของ โจนาธาน เฮด แตกต่างจากทั้งเนื้อหาในแนวทางการพิจารณาต่อวีซ่า ต่างจากการชี้แจงจากทั้งโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งให้สัมภาษณ์สื่อหลังการหารือกับผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ช่วงต้นเดือนมีนาคม

Advertisement

นายดอน กล่าวว่า สื่อบางกลุ่มที่เข้ามาทำหน้าที่นำเสนอข่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ส่งผลให้ต้องกลับมาพิจารณารูปแบบของการดูแลวีซ่า

โจนาธาน เฮด แสดงความคิดเห็นว่า แม้การชี้แจงเบื้องต้นจากทางการจะระบุว่า “ไม่ใช่การคัดกรองสื่อ” แต่การตั้งเป้าหมายไปที่สื่อมวลชนซึ่งรายงานข่าวที่ “ทำให้เกิดความเข้าใจผิด” สื่อให้เห็นว่าพุ่งเป้าไปที่กลุ่มสื่อมวลชนที่ทำงานเชิงวิจารณ์ แต่จนถึงตอนนี้สื่อมวลชนที่ได้รับผลกระทบไม่ใช่กลุ่มที่ทำงานด้านการเมืองในกระแสหลัก เป็นสื่อมวลชนที่ทำงานอื่นๆ เช่น ช่างภาพอิสระ

หลังจากโต้แย้งไป โจนาธาน กล่าวว่า สมาคมยินดีที่ทางการอยากหารือกับสมาคมซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวก แต่ยังรู้สึกผิดหวังเล็กๆ กับระเบียบเบื้องต้นที่ทำให้สื่อมวลชนวิตกกังวล

พร้อมตั้งคำถามต่อความจำเป็นและประโยชน์ต่อการแต่งตั้งคนทำหน้าที่สื่อทั้งที่พวกเขาทำงานด้านนี้อยู่แล้ว

สําหรับแนวทางแก้ไขที่สมาคมแนะนำสื่อมวลชนจากการชี้แจงของกระทรวง ซึ่งระบุว่าสามารถขอวีซ่ารหัส B โจนาธาน อธิบายปัญหาที่เผชิญว่า กระบวนการไม่ชัดเจน กลุ่มสื่อยังต้องตรวจสอบว่ามีกระบวนการอื่นสำหรับสื่อที่ไม่ได้ถูกรับรองวีซ่าจากทางการจะสามารถรับวีซ่ารูปแบบอื่นๆ ได้อยู่หรือไม่ อย่างไร

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้ต้องย้อนกลับมาพิจารณา “บทบาทสื่อ” ท่ามกลางความขัดแย้งซึ่งบางครั้งการนำเสนอความเป็นจริงหรือแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์จะถูกมองในเชิงลบจากผู้ได้รับผลกระทบ

โจนาธาน เฮด อธิบายบทบาทของสื่อตามมุมมองของเขาว่า อุดมคติของการทำหน้าที่คือพยายามสะท้อนความเป็นจริง บนเส้นทางคู่ขนาน สื่อมีทั้งศักยภาพและความรับผิดชอบต่อการเปิดเผยและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลเปิดเผยหรือลงมือทำเรื่องต่างๆ สื่อมีหน้าที่ตรวจสอบ

โจนาธานถึงขั้นเชื่อว่างานของสื่อควรทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำงานแบบสมบูรณ์พูนสุขด้วยการท้าทายการทำงานของรัฐบาลในฐานะพลเมือง

จากฐานคิดนี้ทำให้โจนาธานมองว่าเป็นหน้าที่ของพวกเขาในการตั้งคำถาม-พูด-ขุดคุ้ยสิ่งที่อาจทำให้บางกลุ่มไม่สบายใจ พยายามค้นหาและเปิดเผยความจริงของเรื่องราวต่างๆ

ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้ง โจนาธาน อธิบายอย่างมั่นใจว่าหลายรัฐบาลในไทยถูกท้าทายจากสื่อ จากหลายสถานการณ์ ภาพการแถลงข่าวหลายครั้งสะท้อนหรืออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับรัฐบาลที่มักอยู่บนเส้นทางที่ขรุขระ

แต่บนเส้นทางที่เดินทางลำบากยังมีสื่อที่กล้าหาญพอผลักดันพรมแดนระหว่างความสัมพันธ์ของภาครัฐกับสื่อให้เห็นอยู่

ในแง่บทบาทสื่อต่างชาติในไทย โจนาธาน เล่าว่า สื่อมวลชนต่างประเทศสามารถปฏิบัติงานที่ต้องการแทบครบถ้วน สื่อมวลชนต่างประเทศรายงานข่าวรวมถึงทำงานเชิงวิจารณ์ ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐมักวิจารณ์การทำงานของสื่อในอีกพื้นที่หนึ่ง

ประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งโจนาธานหยิบยกมาเล่าคือ กระบวนการทำงาน สื่อต่างชาติพบว่าคนไทยเริ่มวิตกต่อการพูดคุยหรือให้ข้อมูลกับสื่อต่างประเทศ ทำให้สื่อทำงานยากกว่าที่เคยเป็น

และถ้าคนทั่วไปที่จะพูดคุยกับสื่อ วิตกหรือหวาดกลัวต่อบางอย่าง แน่นอนว่าสื่อเองก็ต้องกังวลด้วย

คําถามที่ตามมาคือ การทำงานของสื่อต่างประเทศแตกต่างจากสื่อไทยอย่างไร ในแง่ “ทิศทาง” ของเนื้อหา โจนาธาน เชื่อว่าสื่อไม่ควรเลือกข้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วแต่ละประเทศมีสื่อที่หลากหลาย แต่ละสื่อมีเนื้องานที่มีแนวโน้มเดินในทิศทางใดหรือด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งต้องยอมรับว่า ไม่มีความเป็นกลางอย่างสมบูรณ์แบบในปริมณฑลของสื่อ

มุมมองของโจนาธาน เชื่อว่า “สื่อที่ดี” คือสื่อที่เปิดกว้างต่อข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะมีความเชื่อพื้นฐานอย่างไรก็ตาม

แต่สิ่งสำคัญคือพร้อมจะเปิดกว้างสำหรับข้อมูลในทิศทางอื่นเสมอ

หน้าที่ของสื่อคือพยายามรวบรวมข้อมูลทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้และรายงานโดยใช้ข้อมูลที่มีนำเสนอในสิ่งที่คิดว่าเป็น “ความเป็นจริง” และต้องพร้อมเปิดประตูสำหรับการเปลี่ยนแปลงหากมีข้อมูลใหม่เข้ามา ข้อมูลใหม่ที่ได้อาจทำให้เนื้องานออกไปอีกทิศทางหนึ่ง

โจนาธาน ยอมรับว่า แนวคิดการแบ่งฝ่ายในสังคมไทยค่อนข้างเข้มข้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ สังคมอื่นมีการแบ่งแยกความคิดเห็นเช่นเดียวกัน แม้แต่การเมืองในสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม

แต่สิ่งสำคัญที่ควรเข้าใจคือ “สื่อ” ไม่สามารถทำงานอย่างสมบูรณ์แบบอย่างไร้ที่ติ ถ้าทำงานแบบวัตถุวิสัย บางกลุ่มที่เชื่อมั่นในความคิดของตัวเองอย่างรุนแรงจะต้องผิดหวังต่อการทำงานของสื่อ

ประสบการณ์การทำงานของสื่อมักบอกว่าถ้าสิ่งที่เผยแพร่ไปแล้วถูกคนจากหลายด้านวิจารณ์ มักแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำอาจไม่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าถูกวิจารณ์โดยฝ่ายเดียวจะต้องกลับมาถามตัวเอง ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

ประเด็นสำคัญที่โจนาธาน ย้ำคือ สื่อต้องถามตัวเองเสมอว่า “ภาพแทนของความเป็นจริงที่เป็นธรรมคืออะไร”

“ความเป็นจริง” ที่ให้น้ำหนักอาจทำให้ใครบางคนไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สร้างความกังวลแก่สื่ออีกหนึ่งประการ คือ อารมณ์ร่วมที่รุนแรง แม้อิทธิพลของสื่อกระแสหลักไม่ได้มีอิทธิพลอย่างที่เคยเป็น แต่สิ่งที่สื่อทำยังคงเป็นหน้าที่ตามปกติ การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อสิ่งที่สื่อนำเสนอเป็นสิทธิของผู้รับสารอยู่แล้ว ทางเลือกคือการป้อนหรือแนะนำข้อมูลด้านอื่นๆ เพื่อให้สื่อนำไปเป็นเครื่องมือทำงาน

แต่การแสดงความคิดเห็นด้วยอารมณ์รุนแรงหรือโจมตีสื่อเป็นวิธีที่ไม่ทำให้บรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมดีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image