‘ลูกจ้างสาว’ ถึง ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ ลวนลามทางเพศ’ เขย่าระบบคิด ‘ชายเป็นใหญ่’

เป็นเรื่องฉาววงการข้าราชการ” อีกแล้ว แต่คราวนี้หวยไปออกที่ กระทรวงสาธารณสุข” กับกรณีพนักงานอัตราจ้างหญิงที่เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับ หัวหน้าข้าราชการชาย” ที่ลวนลามและกระทำอนาจารด้วยการจับหน้าอก

เหตุการณ์ทำนองนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดในสังคมไทย แต่มีเกิดขึ้นมาแล้วนับไม่ถ้วน เป็นข่าวใหญ่กระฉ่อนสังคมมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข เหตุผลหนึ่งเพราะไม่ได้เอาผิดผู้กระทำอย่างจริงจัง รวมทั้งไม่ค่อยมีลูกน้องคนไหนกล้าออกมาแจ้งความดำเนินคดี ด้วยเป็น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” ที่ผู้หญิงบางคนกลัวว่าถ้าออกมาแล้วอาจไม่คุ้ม!!!

การออกมาแจ้งความเอาผิดหัวหน้างานของพนักงานอัตราจ้างหญิงครั้งนี้ สังคมต้องชื่นชมที่เธอกล้า กระชากหน้ากากอันชั่วร้าย” ซึ่งเธอได้แสดงให้สังคมเห็นว่า ผู้กระทำต่างหากต้องอับอาย”

และในขณะที่บ้านเรากำลังมีข่าวเรื่องนี้ใหญ่โต ในห้วงเวลาเดียวกันก็มีข่าวของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้องสาวอเมริกันชื่อดัง ที่ตัดสินใจฟ้องกลับดีเจ เดวิด มุลเลอร์ หลังคู่กรณีฟ้องเธอว่าใส่ความเขาเรื่อง “จับก้น” จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกไล่ออกจากงาน และในที่สุดหลังสู้คดีนานถึง 2 ปี สวิฟต์ชนะคดีพร้อมเรียกร้องค่าเสียหายเพื่อเป็นสัญลักษณ์แค่ 1 ดอลลาร์ (ราว 33.4 บาท) พร้อมบอกว่า อยากจะให้คดีนี้ เป็นตัวอย่างแก่ผู้หญิงคนอื่น ที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่ถูกกระทำอย่างอุกอาจ และน่าอับอายเช่นเดียวกัน”

Advertisement


ทั้งนี้ นักร้องสาวคนดังได้มีแถลงการณ์ขอบคุณศาลหลังจากชนะคดีว่า “ฉันรู้ดีถึงข้อได้เปรียบที่ฉันได้รับในชีวิต ในสังคม และกำลังความสามารถของฉันที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการต่อสู้คดีเพื่อปกป้องตัวเองในชั้นศาลแบบนี้ ความหวังของฉันก็คือ เพื่อช่วยเหลือเจ้าของเสียงเหล่านั้น ที่ควรจะได้รับการได้ยิน และในอนาคตอันใกล้ฉันยังจะบริจาคเงินให้แก่องค์กรการกุศลอีกหลายแห่ง ที่จะช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเอง”

ล่าสุด สวิฟต์ได้บริจาคเงินก้อนโตให้กับมูลนิธิจอยฟูล ฮาร์ท ฟาวน์เดชั่น ที่ทำงานช่วยเหลือเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ


ผู้หญิงทั้งคู่อยู่กันคนละซีกโลก สถานะทางสังคมแตกต่างกัน แต่ในความเป็นผู้หญิงที่ถูกกระทำ เธอมีหัวอกเดียวกัน เป็นหัวอกที่ลุกขึ้นสู้ และไม่ยอมแพ้กับระบบคิด “ชายเป็นใหญ่” ที่สร้างปัญหาให้กับพวกเธอ

Advertisement

ระบบคิด ชายเป็นใหญ่

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ปัญหาการลวนลามคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในทุกหน่วยงาน กระบวนการที่ผู้เสียหาย หรือผู้ถูกกระทำจะออกมาเปิดเผยนั้นยากมาก เพราะไม่กล้าร้องทุกข์เอาผิด กลัวตกงาน กลัวถูกตามข่มขู่คุกคาม

“กรณีนี้ กระทำต่อหน้าพนักงานคนอื่น คิดว่าตัวเองมีอำนาจ คิดแบบชายเป็นใหญ่ จึงควรตรวจสอบพฤติกรรมและอยากให้ทุกฝ่ายมองการคุกคามลวนลามทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ ไม่สยบยอม”

“ระบบความคิดชายเป็นใหญ่เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ปัญหาเริ่มจากการปลูกฝังของครอบครัวที่สอนให้ผู้ชายต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำ อ่อนแอกว่าผู้หญิงไม่ได้ พอโตมาเป็นวัยรุ่น พ่ออาจสอนให้มีความรู้เรื่องเพศ ปลูกฝังให้เที่ยวสถานบริการเพื่อทดสอบความเป็นชาย หรือเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย รุ่นพี่ก็ปลูกฝังให้ต้องขึ้นครู เป็นผู้ชายต้องดื่มเหล้าเคล้านารี พอเข้าทำงาน อยากมีอำนาจก็ต้องเอาใจนาย เอาเด็กมาให้นาย แบบนี้เป็นการปลูกฝังให้ผู้ชายมีทัศนคติว่า เรื่องเพศแสดงออกได้เสมอ”

ความสัมพันธ์เชิง อำนาจ

ซึ่งนี่คือการปลูกฝังเรื่องเพศแบบผิดๆ และเมื่อบวกกับ “อำนาจ” ที่เป็น “ผู้บริหาร” ที่ชี้ถูกชี้ผิดคนได้ ก็ยิ่งทำให้ย่ามใจ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นหัวหน้าเป็นใหญ่เป็นโต

“เขาอยากคุกคามใครก็ทำได้ โดยใช้ทัศนคติชายเป็นใหญ่ และถ้าลูกน้องไม่ยอม ก็ใช้อำนาจข่มขู่ทั้งไล่ออก ไม่เลื่อนขั้น ซึ่งตรงนี้ก็จะมีคำถามกลับมาว่า ทำไมผู้หญิงไม่สู้ ผู้หญิงจะสู้ได้อย่างไร เพราะผู้หญิงบางคนมีภาระต้องรับผิดชอบครอบครัว ถ้าตกงานจะทำยังไง หรือถ้าการงานไม่ก้าวหน้า พ่อแม่ครอบครัวที่ต้องดูแลก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย นี่คือเหตุผลที่ผู้หญิงหลายคนไม่ตัดสินใจ”

ปัญหาฝังรากลึก แม้มีกฎหมายดี

แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมาย มีมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน อาทิ กฎหมายอาญา ซึ่งยอมความไม่ได้ ในมาตรา 278 ว่าด้วยการกระทำอนาจาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยิ่งถ้าเป็นผู้บังคับบัญชาคุกคามทางเพศลูกน้อง จะผิดเพิ่มในมาตรา 285 ว่าด้วยผู้ถูกกระทำอยู่ในความปกครอง ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ หนึ่งในสาม รวมทั้ง กฎระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ.2553

“ทัศนคติชายเป็นใหญ่แก้ช้ามาก พอแก้ช้า แน่นอนต่อให้มีกลไกหรือกฎหมายก็แก้ยาก เพราะทัศนคติชายเป็นใหญ่ไม่เจือจางไปจากสังคมไทย แต่ยังคงอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งสิ่งที่ทำให้ปัญหายังค้างคา เพราะปัญหาระบบการศึกษา เรียนหนังสือยังสอนแบบกดทับผู้หญิง สอนผู้ชายเหนือกว่า สอนผู้หญิงเป็นเพศที่ด้อยกว่า ส่วนการเลี้ยงดูในครอบครัวก็ยังไม่เปลี่ยนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ยังไม่สอนให้ผู้ชายทำงานบ้านเป็น ไม่สอนให้เคารพศักดิ์ศรีผู้หญิง ขณะที่สื่อมวลชนก็ยังนำเสนอละครที่มีฉากคุกคามทางเพศ ฉากข่มขืน ฉากกดทับผู้หญิง นี่เป็นสิ่งที่คนในสังคมไม่เปลี่ยน และยังมีทัศนคติว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง รวมทั้งโครงสร้างใหญ่ทางการเมือง ผู้หญิงยิ่งไม่มีบทบาทเลย ผู้หญิงอยู่ในเงื่อนไขที่ถูกกดทับตลอด”

จะเด็จ เชาวน์วิไล

เริ่มแก้ที่ ครอบครัว

แม้การแก้ทัศนคติชายเป็นใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่แก้ง่าย แต่หากไม่เริ่ม ปัญหาเหล่านี้ก็ยังวนเวียนเป็น “วงจรอุบาทว์” อยู่ในสังคมไทย

“การแก้เริ่มง่ายๆ ที่ครอบครัว ครอบครัวต้องสอนใหม่ ให้ผู้ชายเปลี่ยนบทบาทตัวเอง สอนลูกหลานผู้ชายให้ทำงานบ้านให้เป็น ต้องช่วยงานบ้าน อย่าดูถูกว่าเป็นเรื่องผู้หญิง และหากมีลูกสาวต้องฝึกให้ลุกขึ้นมาทำเรื่องโน่นนี่ได้ เป็นผู้นำได้ ส่วนระบบการศึกษาก็ต้องปฏิรูป ขณะนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเสร็จแล้ว และพร้อมแล้วให้กระทรวงศึกษาธิการนำไปปรับใช้ ซึ่งนี่จะเป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติคนรุ่นใหม่ ส่วนสื่อก็ต้องปฏิรูปตัวเองนำเสนอในทางสร้างสรรค์ที่ไม่กดทับผู้หญิง”

“ขณะที่ภาครัฐก็ต้องเพิ่มบทบาทผู้หญิงให้มากกว่านี้ ทั้งในชุมชน การเมือง ต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้หญิงมีทรัพยากรมากขึ้น ชี้ทิศทางชุมชน บ้านเมืองได้เหมือนผู้ชาย ซึ่งถ้าทำได้ผู้หญิงจะได้รับการพัฒนาและได้รับการยอมรับมากขึ้น”

นอกจากทัศนคติที่ต้องแก้แล้ว ก็ต้องแก้กลไกการ “ร้องทุกข์” ให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำ เพราะปัจจุบันแม้กฎหมายจะดี แต่การเข้าร้องทุกข์ก็ยังทำได้ยาก

“ดังนั้น ต้องมีกระบวนการช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างเป็นมิตร ใส่ใจความละเอียดอ่อน และดำเนินการจริงจัง เชื่อว่าจะสามารถลดจำนวนการกระทำผิดดังกล่าวได้”

จะเด็จทิ้งท้ายว่า เราต้องสู้กับระบบคิดชายเป็นใหญ่ เพราะความคิดนี้ครอบคนในสังคมทั้งผู้ชายผู้หญิง ถ้าจะทำให้เขาเปลี่ยนได้ต้องเปลี่ยนทั้งหมด จะทำอย่างไรให้ระบบชายเป็นใหญ่เจือจางในสังคมไทย

“ต้องเปลี่ยนวิธีคิดทั้งหญิงและชาย และทุกคนต้องไม่ยอมรับมัน” จะเด็จทิ้งท้าย

 

 

 

 

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก “รอยเตอร์”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image