สปท.ชี้ร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริต ส่อทำ ขรก.เกียร์ว่าง แนะ สนช.ทบทวน

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ สปท.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. . . . ซึ่ง สนช.ได้ลงมติรับหลักการไปแล้วและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษานั้น ตนเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว แต่ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. . . . ที่ศาลยุติธรรมเสนอนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความเที่ยงธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบ โดยการพิจารณาคดีของศาลอาญาคดีทุจริตฯต่างจากศาลอาญาทั่วไป ตนมองว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการต่อสู้คดีของจำเลย นอกจากนี้ ในการจัดตั้งศาลฯและวิธีพิจารณานั้น ส่งผลโดยตรงต่อข้าราชการทำให้เขาขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในราชการ ทั้งที่ข้าราชการส่วนใหญ่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ภาคภูมิใจที่เป็นข้าราชการต่อแผ่นดิน เนื่องจากศาลอาญาดังกล่าวมีอำนาจพิเศษในการพิจารณาความผิด ดังนี้ คือ ผิดตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147-205 ความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. และความผิดตาม พ.ร.บ.เสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ (ฮั้วประมูล) ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด่วยการให้เอกชน ร่วมทุนในกิจการของรัฐ ความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง) ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ง่ายต่อการดำเนินคดีกับข้าราขการในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น การสั่งข้อราชการใดๆ ข้าราชการต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน จึงส่งผลต่อเนื่องถึงการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินทำให้เกิดเกียร์ว่างได้

นายบัญชากล่าวว่า นอกจากนี้ ในการไต่สวนโดยยึดสำนวนไต่สวนของ ป.ป.ช.หรือ ป.ป.ท.เป็นหลัก มีผลทำให้ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยต้องหักล้างสำนวนการไต่สวน โดยเป็นปัญหาของทนายจำเลยในการค้นหาความจริง เพราะทนายจำเลยไม่มีความชำนาญในการทำหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยในระบบไต่สวน เนื่องจากศาลคดีอาญาทุจริตฯมีอำนาจพิจารณาในความผิดตาม พ.ร.บ.รวม 5 ฉบับที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น ย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบในทางคดีและขาดความมั่นใจในการทำหน้าที่ของทนายความจำเลย นอกจากนี้ ต้องการให้เมื่อมีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ควรนำ “ระบบกล่าวหา” มาใช้ในการพิจารณาก่อน 1 ปี หลังจากนั้นให้ประเมินผลดีเสียแล้วค่อยนำ “ระบบไต่สวน” มาใช้ การทำหน้าที่ของทนายความจำเลยจะไม่มีข้อขัดข้องเพราะได้มีเวลาศึกษาพอสมควร

“ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นภัยต่อข้าราชการที่ดี แทนที่จะกล้าปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อไป ก็พยายามโยนงานเกี่ยงงานว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่ขอรับผิดชอบ ไม่แทนงาน ฯลฯ ส่วนคนที่คิดไม่สุจริต กฎหมายเดิมก็เอาผิดเขาได้อยู่แล้ว การออกกฎหมายเพิ่มเติมมาเช่นนี้ ต่อให้ข้าราชการทำถูกก็หวั่นไหว ไม่รู้ความซวยจะมาถึงเมื่อไหร่ หนำซ้ำอัยการก็น่าจะไม่สามารถรับแก้ต่างให้ได้ด้วย ข้าราชการค่อนประเทศมีโอกาสพลาด เรื่องเดียว อนาคตดับเลย” นายบัญชากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image