สปส.แจงข้อเท็จจริง ’14 โรคห้ามเบิกประกันสังคม’ มีปรับแก้บางข้อแล้ว

ตามที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และเครือข่ายแรงงานเตรียมประชุมหารือถึงการปลดล็อกหรือผ่อนปรนกรณี 14 เงื่อนไขกลุ่มโรคและการบริการที่ไม่สามารถเบิกสิทธิประกันสังคมได้ โดยมองว่าบางอย่างควรยกเลิกบางอย่างอาจแนบท้ายเพิ่มเติม เช่นกรณีตรวจสุขภาพช่องปาก ตรวจสุขภาพมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และการตรวจตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ รวมทั้งอื่นๆ ที่จะมีการหารือในรายละเอียดวันที่ 20 กันยายนนี้ ที่โรงแรมเบย์ ศรีนรินทร์นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 กันยายน นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า จริงๆ หลายข้อ ทาง สปส.มีการปรับปรุงแก้ไขไปแล้ว เพียงแต่ในเว็บไซต์ที่มีการเขียนเช่นนั้น อาจเพราะรายละเอียดมาก และไม่ได้อยู่ในเหมาจ่ายรายหัว เป็นการจ่ายในบางกรณี ซึ่งก็จะมีการพิจารณากัน อย่างไรก็ตาม หากไม่เข้าใจก็ขอให้โทรไปสอบถามได้ที่สายด่วนประกันสังคม โทร 1506 อย่างกรณีผู้ป่วยยาเสพติด ทางประกันสังคมก็ให้การรักษา โรคไตก็ให้การรักษาเช่นกัน รวมทั้งการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่บางอย่างก็ไม่เข้าเกณฑ์ไม่สามารถให้ใช้สิทธิประกันสังคมได้ อย่างเรื่องศัลยกรรม ความสวยความงาม หรือการรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง การเปลี่ยนเพศ หรือการให้แว่นตา แต่เลนส์กระจกตาอยู่ในสิทธิการรักษา

นพ.สุรเดชกล่าวถึงกรณีข้อทวงถามของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยว่ารัฐควรจ่ายสมทบมากกว่านี้ และรัฐยังมีปัญหาค้างจ่ายเงินสมทบอีก ว่า จริงๆ รัฐบาลต่างชาติไม่มีใครมาจ่ายแบบประเทศไทยด้วยซ้ำไป และประเด็นค้างเงินนั้นเป็นเรื่องตั้งแต่รัฐบาลเก่าๆ การนำประเด็นนี้มาต่อว่ารัฐบาลชุดนี้ ตนมองว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งการจ่ายเงินก็กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนที่กังวลเรื่องผลกระทบกันนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะไม่เกิดขึ้นแน่นอน และกฎหมายระบุชัดว่า หากเงินไม่พอ รัฐบาลต้องสนับสนุนและให้การดูแลอย่างทั่วถึง สำหรับกรณีการขยายอายุเกษียณจาก 55 ปี เป็น 60 ปี ก็เพื่อประโยชน์ผู้ประกันตน และจากการทำประชาพิจารณ์เบื้องต้นก็เห็นด้วย แต่จะสรุปทั้งหมดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้บังคับหรือเปลี่ยนทันที แต่อาจมีการจูงใจ หรือทำแบบค่อยเป็นค่อยไป

นายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า คสรท.ได้เสนอข้อเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมปฏิรูปตัวเองในหลายๆ เรื่องมาตลอด อย่างกรณี 14 โรคและการบริการที่มีข้อยกเว้นในการเบิกค่ารักษาพยาบาลหรือค่าใช้จ่ายต่างๆ นั้น ทาง คสรท.ก็เรียกร้องเช่นกัน เพราะหลายอย่างมีความยุ่งยากควรมีการปรับแก้ อย่างกรณีเงื่อนไขหากผู้ประกันตนป่วยเป็นโรคหรือมีภาวะที่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทคนไข้ใน 180 วัน หรือ 6 เดือนในหนึ่งปี จะไม่สามารถเบิกได้ แต่มีข้อยกเว้นให้เป็นไปตามดุลพินิจของคณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งตรงนี้เป็นขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพราะทุกอย่างต้องผ่านคณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งกว่าจะอนุมัติก็อาจไม่ทันท่วงที รวมไปถึงกรณีอื่นๆ ทุกอย่างก็ผ่านคณะกรรมการการแพทย์หมด

Advertisement

นายสมพรกล่าวอีกว่า เดิมทีกฎหมายประกันสังคมให้เก็บเงินสมทบ 3 ฝ่าย ร้อยละ 5 เท่ากันหมด แต่ตั้งแต่ปี 2543 เงินสมทบหายไปเมื่อมีการสมทบจากรัฐลดลง มีการแก้กฎหมายให้รัฐจ่ายสมทบเพียง 2.75 ซึ่งหากรัฐจ่ายเท่ากันหมด ตนมองว่าก็จะช่วยให้เงินในระบบเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งยังทราบมาว่าเงินสมทบที่รัฐจ่ายน้อยลงนั้น ยังค้างจ่ายเงินสมทบอีกด้วย เรื่องนี้ยังเป็นคำถามอยู่ก็อยากให้มีการชี้แจงเรื่องนี้เช่นกัน เพราะเห็นว่าค้างอยู่ 4-5 หมื่นล้านบาท

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า 14 โรคและการบริการที่ทางเครือข่ายฯจะมีการหารือนั้น หลายโรคก็เห็นด้วยว่าควรมีเงื่อนไขไม่ให้เบิกจ่าย แต่บางกรณีก็ไม่สมควร อย่างกรณีโรคหรือการประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด กรณีนี้ถือเป็นการปิดโอกาสการรักษา เพราะต้องยอมรับว่า การที่คนจะติดสารเสพติด หลายครั้งไม่ใช่ว่าเพราะตนเอง ก็มีหลายปัจจัย และปัจจุบันผู้ติดสารเสพติดก็ถือว่าเป็นผู้ป่วย ก็ควรได้รับการรักษาและได้ใช้สิทธิของประกันสังคมไม่ใช่หรืออย่างไร ส่วนเรื่องทันตกรรมควรปลดล็อกให้ได้รับสิทธิทั้งหมด หากไม่ได้ก็ต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน อย่างในกลุ่มโรคในช่องปาก หรือจากทันตกรรมก็ต้องได้รับสิทธินั้นๆ

“ที่ผ่านมาเครือข่ายฯจึงเสนอว่า ควรให้มีการตรวจสุขภาพช่องปาก/ทันตกรรมเป็นการแยกออกมาเลย ไม่ใช่ว่า ไปอุดฟันแล้วทันตแพทย์ทุกรายจะตรวจสุขภาพช่องปากให้ในคราวเดียวทุกคน จะรับประกันได้อย่างไรว่าจะได้รับการตรวจ ดังนั้น ควรแยกออกมาต่างหากให้การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นอีกสิทธิที่ผู้ประกันตนควรได้รับ จึงควรออกประกาศแนบท้ายของคณะกรรมการการแพทย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจน ส่วนการตรวจอื่นๆ อย่างมะเร็งต่อมลูกหมากเข้าใจว่าค่อนข้างยาก เพราะเคยเข้าหารือกับทางประกันสังคมมองว่า คนส่วนใหญ่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอายุเกิน 55 ปี ซึ่งก็จะเป็นช่วงเกษียณของผู้ประกันตน หากป่วยก็จะได้รับสิทธิจากหลักประกันสุขภาพถ้วน” นายมนัสกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image