เช็ก “ปัจจัย-ตัวแปร” เส้นทางสู่ “เลือกตั้ง” ยังคลุมเครือ-ซับซ้อน

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา

ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

บทเฉพาะกาล มาตรา 70 ให้ประธาน กกต.และ กกต.ชุดปัจจุบัน หรือ “5 เสือ” โดนเซตซีโร่ พ้นตำแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

แต่ให้รักษาการ จนกว่าประธาน กกต.และ กกต.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ จำนวน 7 คน จะเข้ารับหน้าที่

Advertisement

กระบวนการสรรหา กกต.ใหม่จะเริ่มทันที และต้องเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ

7 เสือ กกต.ชุดนี้จะมีวาระ 7 ปี ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ผลทางการเมืองของการประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้ก็คือ เท่ากับว่า ประเทศไทยขยับเข้าใกล้การเลือกตั้งเข้าไปอีก

Advertisement

เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา กำหนดว่า ภายหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ ให้เสร็จภายใน 240 วัน หรือ 8 เดือน

ใน 10 ฉบับนี้ มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ หากทั้ง 4 ฉบับ ประกาศใช้ จะต้องจัดเลือกตั้งใน 150 วัน หรือ 5 เดือน

เป็นไฟต์บังคับตามรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายจับตามอง

เมื่่อ พ.ร.บ.กกต. ประกาศใช้ ก็ถือเป็นฉบับแรก ยังเหลืออีก 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว กับร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. ทั้งสองฉบับหลังนี้ กรธ.ยังอยู่ระหว่างยกร่าง

อย่างไรก็ตาม แม้การเลือกตั้งครั้งต่อไป ถูกกำหนดไว้แล้วด้วยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไหร่ ยังมีปัจจัยตัวแปรอีกมาก

สำหรับรัฐบาล ยังแทงกั๊กในเรื่องการเลือกตั้ง

เพราะแม้รัฐบาลยืนยันใน “โรดแมป” ที่ประกาศไว้ แต่ “คีย์แมน” ในรัฐบาลเอง ก็ไม่ได้ชี้ชัด หรือชี้กำหนดเวลาว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่แน่

ต่างจากรัฐบาลหลังรัฐประหารที่ผ่านๆ มา รวมถึงรัฐบาลหลังปฏิวัติ 2549 ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เสร็จ ก็รีบคืนอำนาจทันที

อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการ อดีผู้นำนักศึกษาเคยชี้ไว้ว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้วางตัวเป็นรัฐบาลชั่วคราว ที่เข้ามาแก้ปัญหาบางอย่าง ส่วนมากคือเรื่องความมั่นคง เรื่องการเมือง

หากติดตามข่าวสารจะเห็นว่า เป็นไปอย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ระบุ

รัฐบาล คสช. วางตัวเหมือนรัฐบาลปกติ แต่ทำมากกว่า โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิรูป การวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ

คสช.อาจรู้ดีว่า “เสียของ” แน่ หากใช้วิธีการทางการเมือง ทางกฎหมาย ถอนรากถอนโคน “ขั้วอำนาจ” จากเลือกตั้ง แล้วเข้าสู่การเลือกตั้ง เพราะไม่มีใครคุมผลจากคูหาลงคะแนนได้ 100%

แต่จะต้องสร้างผลสำเร็จทาง “เศรษฐกิจ” มาสร้างความพึงพอใจจากประชาชน เพื่อลดการเรียกร้องทางการเมือง

ดังนั้น ภาพที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องได้แก่การที่ รัฐบาลเร่งเครื่้องสร้างผลงานเศรษฐกิจเต็มที่ โดยเฉพาะภายใต้แผนงานไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่

มาตรการอัดฉีดต่างๆ ก่อนหน้านี้ คือ “บัตรคนจน”

และล่าสุด ที่รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าฯ หรือ“เมติ” ของญี่ปุ่นนำทีมนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 500 คนมาไทย และลงไปสัมผัสพื้นที่ “อีอีซี” หรือระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 11-13 กันยายนที่ผ่านมา

สำหรับอีอีซี คือ “อีสเทิร์น ซีบอร์ด” ภาคสอง หลังจากภาคแรก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ระหว่าง 2523-2531 ผลักดันเอาไว้

รัฐบาลตั้งเป้าใช้พื้นที่อีอีซี เป็นแม่เหล็ก ดึงการลงทุน สร้างพันธมิตร เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา และพื้นที่นี้จะเป็นโมเดล สำหรับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยก้าวล้ำไปไกลกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ

นั่นคือ ความสัมพันธ์โยงใยของเศรษฐกิจกับการเมืองในรัฐบาล คสช.

ดังนั้น แม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเริ่มมีผลบังคับใช้ คดีความของนักการเมืองโดยเฉพาะคดีจำนำข้าว มาถึงขั้นตอนที่มีคำตัดสิน

แต่ยังไม่มีสัญญานชัดเจนของการเลือกตั้ง

และยังมีข่าวของคดีที่จะเกี่ยวข้องไปถึงบุคคลในวงการเมือง และเครือข่ายทางการเมืองอีกหลายคดี

บรรยากาศทางการเมืองจะยังอยู่ในกรอบเดิมๆ ต่อไป ไม่มีการปลดล็อก หรือผ่อนคลายทางการเมืองใดๆ

ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลสะเทือนภายหลังศาลฎีกา ยกฟ้องคดี 99 ศพ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นจำเลย ด้วยเรื่องข้อกฎหมาย ว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลอาญา

แต่อยู่ในเขตอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

เป็นการยืนยันว่า คดีนี้สามารถเดินทางไปขอความยุติธรรมได้ หลังจากที่กล่าวกันว่า คดี 99 ศพจะไม่มีศาลให้ขึ้น

ทางแกนนำ นปช. ได้แถลงข่าวประกาศรื้อคดีใหม่ ด้วยการยื่นร้องผ่านอัยการสูงสุด เพื่อส่งเรื่องต่อไปยัง ป.ป.ช.

ความซับซ้อนจะดำเนินต่อไป เพราะ ป.ป.ช.ประกาศเดินหน้าเอาผิดผู้เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเยียวยาม็อบต่างๆ รวมถึงกรณี 99 ศพ ซึ่งได้แก่ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่นเอง

ในภาพรวม ขั้วอำนาจยังไม่มั่นใจกับผลสำเร็จ คำว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” จึงยังต้องรอบทสรุปที่ชัดเจน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image