เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน

แฟ้มภาพ

“เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือน ขณะที่ หุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน และการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของ ECB”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนใกล้ 35.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้า (ซึ่งนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตร 4.8 หมื่นล้านบาท และซื้อสุทธิหุ้น 2.4 พันล้านบาท ในสัปดาห์นี้) นอกจากนี้ เงินบาทยังเพิ่มช่วงบวกได้ต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเงินหยวน และสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจาก ECB ประกาศเครื่องมือผ่อนคลายทางการเงินออกมาหลายด้านในการประชุมวันที่ 11 มี.ค. 2559 โดยมีทั้งการปรับลดดอกเบี้ย (ดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปที่ 0% ดอกเบี้ยเงินฝากลดลงไปที่ -0.40% ดอกเบี้ยเงินกู้ลดลงไปที่ 0.25%) เพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์เป็น 8.0 หมื่นล้านยูโร และเปิดโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำรอบ 2

สำหรับในวันศุกร์ (11 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 35.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (4 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.00-35.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอาจต้องจับตาสัญญาณนโยบายการเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (15-16 มี.ค.) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (14-15 มี.ค.) ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะประกาศออกมาเพิ่มเติมระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ดัชนีการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก ดัชนีกิจกรรมการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมี.ค. ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้าง เดือนก.พ. และข้อมูลเงินทุนไหลเข้าสุทธิเดือนม.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของราคาน้ำมัน และการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของ ECB โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,393.41 จุด เพิ่มขึ้น 1.01% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 8.35% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 57,290.76 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 503.38 จุด เพิ่มขึ้น 1.51% จากสัปดาห์ก่อน

Advertisement

ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนในสัปดาห์นี้ โดยดัชนีปรับเพิ่มขึ้นในวันจันทร์ จากแรงหนุนของการปรับขึ้นราคาน้ำมัน ก่อนที่ดัชนีจะปรับลดลงในวันอังคารหลังตัวเลขการส่งออกจีนออกมาหดตัวรุนแรง จากนั้น ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้งในวันพุธ จากแรงซื้อเก็งกำไรก่อนการประชุม ECB แต่ก็มีแรงขายทำกำไรในวันพฤหัสบดี จากนั้น ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นต่อในวันศุกร์ จากความคาดหวังถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (14-18 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีมีแนวรับที่ 1,385 และ1,365 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,420 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีการรายงานปริมาณน้ำมันคงคลัง เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค และความเชื่อมั่นผู้บริโภค สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดตาม คงได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image