ยันมติ8:1ศาลฎีกาฯชี้’ยิ่งลักษณ์’ผิด ส่วนมติ9:0เอกฉันท์จำคุก5ปี ไม่รอลงอาญา

เมื่อเวลา 12.00 น.วันที่ 28 กันยายน แหล่งข่าวระดับสูงจากศาลยุติธรรมเปิดเผยผลการลงมติขององค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งที่ลงโทษจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ว่า ในวันที่ 27 กันยายน ในการทำคำพิพากษากลางในช่วงเช้าภายหลังจากองค์คณะแถลงคำพิพากษาส่วนตนในที่ประชุมแล้ว หลังจากนั้นองค์คณะมีการลงมติโดยในคดีมีการลงมติ 2 รอบ คือ รอบแรกองค์คณะจะลงมติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะเสียงข้างมากมีมติ 8-1 เสียง ลงมติว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนองค์คณะเสียงข้างน้อย 1 คน คือนายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ลงมติเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า หลังจากลงมติครั้งแรกที่เสียงข้างมากเห็นว่ามีความผิดแล้วจะต้องยึดตามมตินั้นว่าการกระทำของยิ่งลักษณ์เป็นความผิด และจะมีการลงมติในครั้งที่ 2 ว่าในเมื่อจำเลยมีความผิดแล้วจะลงโทษจำเลยอย่างไร และจะรอการลงโทษไว้หรือไม่ การลงมติในครั้งที่ 2 มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 ให้ลงโทษจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์จำเลย 5 ปีไม่รอการลงโทษ

“ในเมื่อมติมี 2 รอบ แม้รอบแรกเสียงข้างน้อยจะเห็นว่าไม่ผิด แต่เมื่อแพ้มติแล้วก็ต้องเห็นเอาตามเสียงส่วนใหญ่ หลังจากนั้นจะต้องมาพิจารณาในเรื่องของการลงโทษและมาลงมติกันอีกครั้งที่ 2 และผลออกมาลงโทษ 5 ปีไม่รอลงอาญา” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมทำคำพิพากษากลางนั้นขั้นตอนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 20 บัญญัติให้การทำคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดหรือการพิพากษาคดี ให้ผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนทำความเห็นส่วนตนในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือ พร้อมทั้งต้องแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ และให้ถือมติตามเสียงข้างมาก โดยองค์คณะผู้พิพากษาอาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาเป็นผู้จัดทำคำสั่งหรือคำพิพากษาตามมตินั้นก็ได้ และคำสั่งที่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือคำพิพากษาของศาล ให้เปิดเผยโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนความเห็นในการวินิจฉัยคดีของผู้พิพากษาในองค์คณะผู้พิพากษาทุกคนให้เปิดเผยตามวิธีการที่ประธานศาลฎีกากำหนด และตามมาตรา 20 บัญญัติให้ความเห็นในการวินิจฉัยคดีอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ชื่อคู่ความทุกฝ่าย เรื่องที่ถูกกล่าวหา ข้อกล่าวหาและคำให้การ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย บทบัญญัติของกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง คำวินิจฉัยคดี รวมทั้งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับองค์คณะในคดีโครงการรับจำนำข้าว ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1.นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาลำดับที่ 1 เจ้าของสำนวนคดี 2.นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ลำดับที่ 4 3.นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา 4.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา 5.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา 6.นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฯ 7.นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา 8.นายวิรุฬห์ แสงเทียน รองประธานศาลฎีกา และ 9.นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image