เรื่องเล่าในบ้าน ‘อึ๊งภากรณ์’ ‘ป๋วย’ ในสายตาลูกชาย

นับเป็นปีที่มีการพูดถึง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เหตุเพราะเป็นวาระครบ 100 ปีชาตกาลของป๋วย อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สมาชิกขบวนการเสรีไทย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี พ.ศ.2508

นอกจากนี้ ยูเนสโกยังยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาล ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2559 นี้

คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จึงจัดปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 10 “เรื่องเล่าในบ้านอึ๊งภากรณ์”

Advertisement

มองป๋วยในบทบาทของ “พ่อ” จากสายตาของลูกชายคนโต

“เรื่องที่คุยได้คือเรื่องในบ้าน ในครอบครัว หากเป็นเรื่องบทบาทสาธารณะ คนอื่นจะรู้มากกว่าผม”

จอน อึ๊งภากรณ์ กล่าวขึ้นก่อนเริ่มต้นบทสนทนา

Advertisement

จอน คือลูกชายคนโตของป๋วยกับ มาร์กาเร็ต สมิธ

จอน คือผู้ก่อตั้งมูลนิธิเข้าถึงเอดส์-หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท เป็นอดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจ ปี พ.ศ.2548 และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw)

น้องชายอีก 2 คนของเขาคือ ไมตรี และ ใจ อึ๊งภากรณ์

02

เมื่อพ่ออยู่บ้าน

ภาพของพ่อในมุมมองของจอนต่างจากที่สังคมรู้จัก คือเมื่ออยู่นอกบ้านป๋วยจะเข้าสังคมเก่ง มีเพื่อนฝูงเยอะ แต่อยู่ที่บ้านเขาจะไม่ค่อยพูด

“อยู่บ้านคุณแม่พูดมากกว่า คุณแม่จะเป็นคนตั้งกฎในบ้าน กฎสำคัญคือเวลาทานข้าวเย็นเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนต้องอยู่พร้อมกันหมด ต้องทานให้เสร็จทุกคนจึงจะลุกได้ เพราะเป็นเวลาพูดคุยกัน คุณแม่จะเล่าเรื่องคุณพ่อให้ฟังบนโต๊ะ แล้วจะถามคุณพ่อว่าใช่ไหม คุณพ่อก็จะพยักหน้า

“คุณพ่อเป็นคนใจเย็น แต่ถ้าจะถึงจุดเดือดก็เดือด เวลาผมทะเลาะกับแม่ คุณพ่อจะนั่งฟังอยู่จนเดือด ลุกขึ้นมาถือไม้ ผมจะรู้ว่าถึงเวลาหนีแล้ว พ่อวิ่งไล่รอบบ้าน แต่หนีทันตลอด (หัวเราะ) ผมดื้อที่สุดในสามคน ทะเลาะกับแม่ทุกเรื่อง ผมจะตั้งคำถามตั้งแต่วิธีถือช้อนส้อม ตั้งคำถามกับกฎที่คุณแม่ตั้งขึ้น”

จอนบอกว่า เขาไม่รู้ว่าทำไมคุณแม่จึงเจ้าระเบียบนัก อาจเป็นเพราะความเชื่อในการเลี้ยงลูก เจ้าระเบียบชนิดที่ว่า เมื่อถึงเวลานอนต้องดับไฟเข้านอนเลย ถ้าพรุ่งนี้สอบก็ต้องแอบเอาไฟฉายไว้ใต้หมอน ถ้าคุณแม่เห็นก็จะมายึดไฟฉายไป

แม้จะเจ้าระเบียบในบ้าน แต่บ้านอึ๊งภากรณ์ก็ไม่เคยกำหนดว่าอนาคตลูกๆ ต้องเรียนอะไร

จอนเล่าว่า ตอนเด็กขณะอยู่อังกฤษ ราวปี พ.ศ.2499 คุณพ่อทำงานที่สถานทูตไทยในอังกฤษ ในฐานะที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง และเป็นผู้แทนไทยในสภาดีบุกโลก คุณแม่ถามว่าลูกอยากเรียนโรงเรียนแบบไหน มีให้เลือก 2-3 โรงเรียน

โรงเรียนแรกสอนตามธรรมเนียม ดีทางวิชาการ โรงเรียนที่สองแหวกแนว กินมังสวิรัต ไม่บังคับเรียนนักและไม่มีการตีเด็ก

“ผมเลือกโรงเรียนที่ไม่มีการตีเด็ก ตั้งอยู่ห่างจากลอนดอนออกไป 50 กม. คุณพ่อไปซื้อบ้านแถวนั้น เรานั่งรถเมล์ 10 นาที ถึงโรงเรียน แต่คุณพ่อต้องนั่งรถไฟใต้ดินหนึ่งชั่วโมงครึ่งกว่าจะถึงที่ทำงาน เขาเอาโรงเรียนของลูกมาเป็นตัวตั้ง ทำให้ผมประทับใจ” จอนเล่าพร้อมรอยยิ้ม

4

ฝันถึงสังคมที่เป็นธรรม

ถามถึงอิทธิพลทางความคิดของป๋วย อึ๊งภากรณ์ จอนบอกว่า ดูจะไม่แฟร์ถ้าให้เขาพูด เพราะเป็นเรื่องตั้งแต่ที่เขายังไม่เกิด

“คุณปู่เสียตั้งแต่พ่อยังเด็ก ฐานะทางบ้านมีปัญหา คุณพ่อเป็นคนเรียนเก่งจึงเป็นนักเรียนทุน เมื่อไปเรียนที่ LSE (วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน) ได้ความคิดจากสังคมนักคิดนักเขียน เช่น คนอย่างเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ เป็นกลุ่มเดียวกับคนที่คุณแม่อ่าน อาจเป็นอิทธิพลที่คุณพ่อได้รับ

“ตลอดเวลาคุณพ่อตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมไทย เป็นความคิดในครอบครัวและหมู่เพื่อนฝูง พ่อเชื่อเรื่องระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ คุณแม่เองเชื่อเรื่องนี้เช่นกัน จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนที่คุณพ่อเขียนก็พูดเรื่องสังคมที่เท่าเทียม”

จอนบอกว่า หลังจากที่คุณพ่อทำงานด้านเศรษฐกิจมานาน เชื่อว่าอยากเห็นความเท่าเทียมมากขึ้น จึงมีบทบาทเรื่องการพัฒนาชนบท หลังๆ พูดเรื่องปัญหาค่าจ้างกรรมกร ปัญหาความยากจนของชาวไร่ชาวนา

ส่วนเรื่องประชาธิปไตย ป๋วยยึดมั่นมาตลอดอยู่แล้ว เห็นได้จากการเขียนจดหมายในชื่อ “นายเข้ม เย็นยิ่ง” คัดค้านการรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญ หลังจอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารตนเอง ปี พ.ศ.2514

“หลังร่างรัฐธรรมนูญมาเป็นสิบปี คุณพ่อคงเสียใจมาก จึงเขียนจดหมายฉบับนั้น”

จอนมองว่า จุดเด่นของป๋วยคือกล้าพูด โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่น แต่ป๋วยมองคนในแง่ดี มองถนอมเป็นคนสะอาด หวังดีต่อประเทศ แต่ก็เตือนเรื่องจอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม และบุตรเขยของจอมพลประภาส

“พ่ออาจมองโลกในแง่ดี แม้เป็นเผด็จการก็มองแยกเป็นตัวบุคคล กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีเรื่องโกงกิน คุณพ่อก็เตือนแสดงความเห็น แต่คุณพ่อก็ทำงานกับจอมพลสฤษดิ์ในฐานะข้าราชการ คุณพ่อไม่รับตำแหน่งการเมือง”

1.ป๋วยขณะลงพื้นที่ทำงานพัฒนาชนบท 2.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับปรีดี พนมยงค์ ที่อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ราวปี พ.ศ.2517-2518 3.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขณะอุ้ม ปีเตอร์ (ไมตรี) กับจอน 4.มาร์กาเร็ต สมิธ อึ๊งภากรณ์ คู่ชีวิตป๋วย

08

ป๋วยรับใช้เผด็จการ?

หนึ่งในประเด็นที่ป๋วยถูกวิพากษ์วิจารณ์คือการทำงานให้รัฐบาลเผด็จการ

จอนมองเรื่องนี้ว่า เมื่อก่อนไม่มีทางเลือก เพราะเป็นระบอบเผด็จการมาตลอด และป๋วยก็มองอย่างแยกแยะ

“คุณพ่อไม่ได้ชอบระบอบเผด็จการ แต่รู้ว่าขณะนั้นต้องอยู่กับสิ่งนี้ ก็พยายามวิพากษ์วิจารณ์เรื่องคอร์รัปชั่น คุณพ่อเกลียดคนที่ใช้อำนาจแบบป่าเถื่อนมาก และที่รับจอมพล ป.ไม่ได้คือเรื่อง พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ว่าฆ่าคนเยอะ นี่เป็นภาพที่ผมได้เห็น

“สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ภาพว่าจอมพลสฤษดิ์โกงกิน แต่พ่อมองจอมพลประภาสว่าอาจจะร้ายกว่าสฤษดิ์ พ่อไม่เห็นด้วยกับ ม.17 อยู่แล้ว แต่อาจเพราะว่าคุณพ่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพลเอก เนตร เขมะโยธิน ที่ใกล้ชิดกับสฤษดิ์

“พ่อมองสฤษดิ์สองด้าน ด้านหนึ่งสฤษดิ์รับฟังและให้โอกาสทำเรื่องพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันเมื่อพ่ออยู่ในสภาดีบุกโลก ประเทศไทยถูกกล่าวหาว่ามีการลักลอบขายดีบุก ปรากฏว่าเป็นฝีมือของสฤษดิ์เอง พ่อก็กล้าไปพูดกับสฤษดิ์อย่างตรงไปตรงมา อย่างเรื่องรัฐมนตรีถือหุ้นในธนาคารพ่อก็กล้าพูด” จอนกล่าว

04

6 ตุลา ในความทรงจำ

หนึ่งในบทบาทสำคัญของป๋วยคือการเป็นอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ช่วงเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

จอนรำลึกความว่า ช่วงที่เขากับพ่อคุยกันมากที่สุดน่าจะเป็นช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนทางการเมืองกันเสียส่วนใหญ่ พ่อคิดว่าเขามองพรรคคอมมิวนิสต์ในแง่ดีเกินไป

“ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับคุณพ่อ ไมตรี-น้องผมบอกว่าอาการคุณพ่อน่าเป็นห่วง ดื่มเยอะ กลับดึก เครียด คิดว่าผลจากการโจมตีของสื่อมวลชน วิทยุยานเกราะ-หนังสือพิมพ์ดาวสยาม ที่เอาแนวโฆษณาชวนเชื่อของ กอ.รมน.มาโจมตีตลอดเวลา ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจคุณพ่อพอควร พ่อเครียดและเกิดอารมณ์ง่ายในช่วงนั้น คนละเรื่องกับหลัง 6 ตุลา เมื่อไปอยู่อังกฤษ คุณพ่อรีแลกซ์มาก แม้เกิดเหตุการณ์ร้าย มีรัฐประหาร แต่ท่านไม่เครียดเหมือนก่อน 6 ตุลา

“ถามว่าก่อน 6 ตุลาพ่อคิดอะไร เราไม่ได้คุยกันละเอียด ผมพยายามโฆษณาชวนเชื่อให้ท่านมาเป็นสังคมนิยมมากขึ้น (หัวเราะ) แต่คุณพ่อจะเตือนผมมากกว่า ผมจะเถียงทั้งกับไมตรีและคุณพ่อเรื่องสังคมนิยม ช่วงผมเรียนที่อังกฤษแล้วคุณพ่อมาเยี่ยม ผมพาพ่อไปดูหนังเกี่ยวกับประเทศจีนที่ฝรั่งถ่าย ดูก้าวหน้ามาก ผู้ใช้แรงงานสามารถมามีส่วนบริหารโรงงาน ผมพยายามล้างสมองคุณพ่อ แต่คุณพ่อมีความต้านทานสูง เชื่อในระบอบประชาธิปไตย ไม่เชื่อในสังคมคอมมิวนิสต์ เพราะบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย”

จอนยืนยันว่า ป๋วยเชื่อเรื่องระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ไม่เห็นด้วยกับระบอบสังคมนิยมแบบจีนหรือรัสเซีย ไม่เห็นด้วยกับระบอบเผด็จการใดๆ และให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพมาก

1382712695-j-o

จุดยืนของป๋วย หากอยู่ในวันนี้

“ถ้าใครบอกว่าหากอยู่ในสมัยปัจจุบันคุณพ่อจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังของ คสช. ผมเชื่อหัวชนฝาว่าไม่มีทาง” จอนกล่าว

ก่อนจะบอกว่า ความคิดความเชื่อของป๋วยตลอดมาคือไม่ยอมรับระบอบเผด็จการ แต่ถ้าเป็นข้าราชการภายใต้ คสช.ก็คงไม่ได้ลาออก อาจยังทำหน้าที่เดิมแต่ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง

“ผมไม่สามารถบอกได้ว่าถ้าคุณพ่ออยู่จนปัจจุบันจะคิดอย่างไร แต่พูดได้ว่าถ้าคุณพ่อคิดแบบปี 2519-20 พ่อไม่สนับสนุนเผด็จการ ไม่ว่านักการเมืองจะเลวยังไง ระบอบประชาธิปไตยก็ดีกว่าเผด็จการ คุณไม่มีทางสร้างสังคมได้ภายใต้การจำกัดสิทธิเสรีภาพ”

ส่วนเรื่องการยกย่องป๋วยที่ผ่านมา จอนเผยในมุมของลูกว่า

“ผมคิดว่าคุณพ่อวิพากษ์วิจารณ์ได้ ผมไม่ชอบเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์คุณพ่อ เพราะเป็นการรำลึกถึงคนตายแบบที่ตายไปแล้ว แต่วิพากษ์หนังสือ ความคิด หรือการทำงานของคุณพ่อ จะทำให้คุณพ่อมาชีวิตอยู่อย่างยั่งยืน ทำให้พ่อถูกมองเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่น่าสนใจ อาจเลวบ้าง มีข้อดีข้ออ่อน เป็นความจริงของมนุษย์

“สังเกตว่าสังคมไทยชอบบูชาคนโดยไม่รู้ เป็นธรรมเนียมยกย่องคุณพ่อ ผมเจอคนอีเมล์มาด่าผมว่า ถ้าพ่อเห็นสิ่งที่ผมทำตอนนี้คงนอนตายตาไม่หลับ เขามีภาพคุณพ่อในความคิดเขา เราอยู่ในสังคมที่เชื่ออะไรง่ายๆ ทุกคนคิดถึงคุณพ่อในอุดมการณ์ของเขาเอง ถ้าเขาชอบเผด็จการก็คิดว่าคุณพ่อจะเห็นด้วย อย่าเอาคุณพ่อมาสนับสนุนความคิดตัวเอง แต่เอาพ่อมาวิพากษ์วิจารณ์ดีกว่า”

จอนยืนยันชัดเจน และบอกว่าสิ่งที่อยากเห็นคือคนอ่านหนังสือของป๋วย อึ๊งภากรณ์ มากขึ้น

“ช่วงที่ผ่านมา จากการอ่านข้อเขียนต่างมาและมีการพิมพ์หนังสือใหม่หลายเล่ม เป็นช่วงที่ผมรู้จักคุณพ่อมากขึ้น อยากให้อ่าน และอ่านแล้วไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย”

ลูกชายสกุลอึ๊งภากรณ์กล่าวปิดท้ายอย่างเปิดกว้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image