โซนร้อนขนุนเคลื่อนที่เข้าลาว ทำ16-17ต.ค.เหนือ-อีสาน ฝนตกหนัก 7เขื่อนเริ่มวิกฤตน้ำเกินระดับกักเก็บ

ภาพประกอบข่าว

วันที่ 13 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานการคาดการสภาพอากาศ โดยแบบจำลองภูมิอากาศ(วาฟ) ของสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) ว่า พายุโซนร้อน “ขนุน” (KHANUN) บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ มีทิศทางเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกลงสู่ทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศลาวตอนบน จากนั้นจะปะทะกับความกดอากาศสูงและอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ช่วงวันที่ 13 -15 ตุลาคม บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้ปะทะกับความชื้นที่ยังมีอยู่ในพื้นที่ส่งผลให้ภาคเหนือจะยังคงมีฝนอีก 1วัน จากนั้นฝนจะลดลงส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะยังมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

วาฟระบุอีกว่า ช่วงวันที่ 16 -19 ตุลาคม พายุโซนร้อน ขนุน จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศลาวตอนบน จากนั้นจะปะทะกับความกดอากาศสูงและอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกของภาคเหนือ อาจกลับมามีฝนเพิ่มขึ้นและอาจมีฝนตกหนักได้ในบางแห่งในช่วงวันที่ 16 -17 ตุลาคม ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะทวีกำลังแรงขึ้น ทำให้ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคกลาง และภาคตะวันออกจะมีกำลังแรงขึ้นส่งผลให้ภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก จะมีฝนต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง

สำหรับปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง พบว่า ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักถึงตกหนักมากในบางบริเวณของภาคเหนือ ด้านตะวันตกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และบางบริเวณของภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช 123 มิลลิเมตร ภูเก็ต 80 มิลลิเมตร พังงา 71 มิลลิเมตร เชียงใหม่ 63 มิลลิเมตร เลย 60 มิลลิเมตร กรุงเทพมหานคร 60 มิลลิเมตร ตาก 58 มิลลิเมตร นครสวรรค์ 51 มิลลิเมตร และแพร่ 51 มิลลิเมตร

Advertisement

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 34 แห่งทั่วประเทศอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำกักเก็บคงเหลือ 56,477 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 80 %ของความจุ โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การ 32,950 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีสถานการณ์สูงกว่าระดับการเก็บกักปกติ มีดังนี้ เขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 114 เขื่อนแควน้อยมีปริมาณน้ำ กักเก็บร้อยละ 102 เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 112 เขื่อนน้ำอูน มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 105 เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 102 เขื่อนน้ำพุง มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 101 เขื่อนห้วยหลวง มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 101

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image