‘ระบบโต๊ะ’ เพื่อนสำเร็จรูป หรือโซตัสซ่อนรูป

คล้ายจะเป็นธรรมเนียมประจำปี ที่เมื่อถึงฤดูเปิดภาคเรียนใหม่ของมหาวิทยาลัยแล้วจะปรากฏข้อถกเถียงที่เข้มข้นตามสื่อต่างๆ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นประเด็น “รับน้อง”

ไม่เพียงแค่เรื่องความปลอดภัยในกิจกรรม แต่ข้อถกเถียงเหล่านั้นยังขยายกินความไปถึงสิ่งที่ระบบรับน้องปลูกฝังให้นักศึกษาหน้าใหม่ในแต่ละปี หรือก็คือโซตัส-Sotus อันเป็นตัวย่อของคำว่า Seniority, Order, Tradition, Unity และ Spirit

ภาพรวม คือ การปฏิบัติตามคำสั่งของรุ่นพี่อย่างเคร่งครัดตามประเพณี ด้วยความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

นิยามความหมายของโซตัสนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผิดถูกหรือพ้นยุคสมัยหรือไม่นั้นก็เถียงกันมายาวนาน แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนกว่านั้นคือ ใช่หรือไม่ว่าขอบเขตและเงื่อนไขในการปฏิบัติตามระบบนั้นคลุมเครือ จนหลายครั้งคำสั่งของรุ่นพี่หรือการฝึกความอดทนก็นำไปสู่อันตรายอย่างที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่บ่อยๆ

Advertisement

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแต่ละปีกิจกรรมรับน้องสร้างความสูญเสียให้หลายๆ ครอบครัว จะมากหรือน้อยนั้นต่างกันไป แต่ถึงอย่างไร นั่นก็คือความสูญเสีย

เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สถานที่ที่ขึ้นชื่อว่า ‘เสรีภาพทุกตารางนิ้ว’ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพของตัวเอง และมีคำกล่าวในรั้วสถาบันว่า ไม่มีการรับน้อง จะมีก็แต่ ‘รับเพื่อนใหม่’ และระบบโต๊ะ บ้าน ซุ้มต่างๆ ซึ่งมีข้อถกเถียงมาแล้วหลายครั้งหลายคนเพื่อหาข้อตกลงว่ากิจกรรมเหล่านี้จำเป็นหรือไม่

สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จึงผุดงานเสวนาขึ้นมาในหัวข้อ “ระบบโต๊ะ เพื่อนสำเร็จรูปหรือโซตัสซ่อนรูป” เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการค้นหาคำตอบ

Advertisement

 

ความหวังดี&ความก้าวก่าย เส้นบางๆ ที่กั้นอยู่

ชวิศ วรสันต์ เลขาธิการเครือข่ายปฏิรูปรับน้องประชุมเชียร์เพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ความเห็นว่า เพื่อนสำเร็จรูปนั้น หมายถึงเพื่อนที่ถูกระบบสร้างมาให้โดยไม่ผ่านกระบวนการธรรมชาติ

“ซึ่งความจริงแล้วเราอาจไม่อยากเป็นเพื่อนกับเขาก็ได้” ชวิศกล่าวติดตลก “มันอาจเป็นความหวังดีจากมุมมองของรุ่นพี่ คือมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่างความหวังดีกับการก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว ไม่ได้หมายความว่าไม่ดี แต่ถ้ามากเกินไป น้องหรือเพื่อนที่เข้ามามีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกสิ่งใหม่ๆ หรือเปล่า”

เขาระบุว่า ตนเองต่อต้านโซตัสอย่างจริงใจ ด้วยเหตุผลว่า สำหรับเขานั้น ระบบนี้ทำให้คนอ่อนแออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้โดยแง่หนึ่งแล้วระบบนี้จะมีข้อดีมากมาย ซึ่งเขาย้อนถามกลับอย่างตรงไปตรงมาว่า “ดีกับใคร?” กระทั่งว่าความอ่อนแอของนักศึกษาใหม่นั้นดีกับใคร ใช่หรือไม่ว่าดีต่อคนที่จะชักนำเรา

“มันไม่ดีสำหรับคนที่รู้จักตัวเองว่าอยากทำอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นคนที่เข้มแข็งหรือมีเป้าหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดึงเวลา ดึงทรัพยากรเราไปอย่างมหาศาล ระบบคุณค่าที่เซตไว้ดึงโอกาสหรือประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ของเราในการเข้ามหาวิทยาลัยไปอย่างน่าเสียดาย” เขากล่าวปิดท้าย

 

มองต่างมุม ระบบโต๊ะให้อะไรหลายด้าน

พชร ทองสุข นักศึกษาปี 2 คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า มุมมองในเรื่องระบบโต๊ะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะรู้สึกแย่ แต่บางคนอาจยอมรับได้และรู้สึกดีด้วย แน่นอนว่าระบบโต๊ะคือเพื่อนสำเร็จรูป แต่จะมากน้อย ใครจะปฏิเสธว่าระบบนี้ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่

“ในมุมมองของผม ในคณะรัฐศาสตร์ที่เรียนการเมืองการปกครอง ผมว่าทุกคนมีอีโก้ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง แต่พอมารวมในระบบโต๊ะ คนกลับสามารถรวมกันได้”

ไม่เพียงเท่านั้น เด็กหนุ่มมองว่าระบบโต๊ะยังทำให้การดำเนินกิจกรรมใดๆ ก็ตามภายใต้รั้วมหาวิทยาลัยยังดำรงอยู่ไปได้ด้วยดี อันเนื่องมาจากความเหนียวแน่นของ “รุ่น” ซึ่งมาจากการผ่านระบบโต๊ะมาแล้วนั่นเอง

“เราเปรียบคณะรัฐศาสตร์เป็นประเทศไทย เราเปรียบระบบโต๊ะเป็นจังหวัด เพื่อนในโต๊ะเป็นอำเภอ ถ้าเกิดระบบโต๊ะแบบนี้ขึ้นมาเชื่อว่าจะจัดกิจกรรมหรือบริหารประเทศไทยได้ เป็นการวางชั้นๆ ขึ้นไปเพื่อให้เกิดการทำงานขึ้นมากกว่าการเอาคน 300 คนไปทำกิจกรรมเดียว” พชร กล่าว

 

ระบบโต๊ะ = ระบบอาวุโส

ดำรงศักดิ์ เหนือคลอง นักศึกษาปี 2 คณะรัฐศาสตร์ มธ. อีกหนึ่งสมาชิกของระบบโต๊ะกล่าวว่า เรากำลังพยายามตีตราว่าระบบโต๊ะคือสีดำ แล้วการไม่มีระบบโต๊ะคือสีขาว แต่ในสังคมจริงๆ ตามหลักรัฐศาสตร์ไม่มีสีขาวและดำ มีแต่สีเทาๆ

“เราพยายามมีเสรีภาพ มีประชาธิปไตย แต่สิ่งสำคัญของประชาธิปไตยไม่ได้มีเพียงเสรีภาพ ต้องมีความเสมอภาคด้วย ซึ่งสำคัญกว่าเสรีภาพด้วยซ้ำไป” ดำรงศักดิ์ กล่าว

ก่อนขยายความว่า สิ่งที่ระบบโต๊ะทำคือการสร้างระบบการเคารพผู้อาวุโส ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนอาจคิดว่าไม่สำคัญหรือมองปัจจัยนี้ในแง่ลบ แต่สำหรับระบบราชการไทยนั้น ความอาวุโสเป็นระบบบังคับบัญชาที่เป็นแนวดิ่งลงมา ซึ่งหมายถึงว่า การเลื่อนตำแหน่งหรือขยับขยายไปสู่สิ่งที่ดีกว่านั้น ความอาวุโสเป็นปัจจัยหลักมากกว่าคุณธรรม

“ในเมื่อสังคมไทยมันยังไม่สามารถก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์ได้ ระบบโต๊ะก็คงไม่หายไปจากมหาวิทยาลัย” ดำรงศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

รับน้อง ระบบโต๊ะ
บนเงื่อนไขบังคับสภาพทางสังคม

ด้าน นิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ปัญหาของระบบโต๊ะคือการรวมกลุ่มที่ถูกจัดขึ้นโดยระบบหรือการจับฉลาก ทั้งที่การรวมกลุ่มควรเกิดจากความสมัครใจ การจัดกิจกรรมรับน้องแต่ละครั้งแม้ว่าไม่มีการบังคับแต่ก็มีเงื่อนไขบังคับทางสังคม เช่น การทำงานกลุ่ม การเข้าสังคม

คำถามของเขาคือ สิ่งเหล่านี้ควรเกิดขึ้นจริงๆ หรือ?

เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ระบบนี้จะมีหรือไม่มี สิรวิชญ์มองว่า ปัญหาที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นจากการบังคับให้เข้าร่วมและสร้างเงื่อนไขทางสังคมที่บีบให้แม้แต่คนที่ไม่อยากเข้าต้องเข้าระบบ

“สำหรับผม อย่างเดียวในสังคมเสรีประชาธิปไตยคือ คุณอย่าบังคับเท่านั้นเอง แล้วถ้าเรารู้ว่า เรากำลังตอกย้ำความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เสมอภาค ไม่เท่าเทียมกัน เราจะไม่ก้าวข้ามไปได้หรอกหรือครับ”

“ถ้าเราไปอยู่ในระบบสังคมจริง เราต้องไปเป็นส่วนค้ำจุนความไม่ถูกต้องของสังคมหรือเปล่า”

นั่นเป็นข้อคำถามทิ้งท้ายของเขา

(จากซ้าย) ชวิศ วรสันต์, พชร ทองสุข, ดำรงศักดิ์ เหนือคลอง, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image