“กรมชลฯ”เล็งเชื่อม68คลองฝั่งตะวันตกเจ้าพระยาแก้ปัญหาน้ำท่วม7จังหวัดภาคกลางตอนล่าง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมฯได้ดําเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนจนถึงแม่น้ำแม่กลอง เพื่อแก้ปัญหานํ้าท่วมที่มีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นพื้นที่กว้าง ซึ่งผลการศึกษาได้ข้อสรุปว่าจะต้องดำเนินการปรับปรุงระบบชลประทานในพื้นที่ตอนล่างของฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งแต่พื้นที่ใต้คลองท่าเรือ-บางพระ จนไปถึงทะเล ร่วมกับคลองในแนวนอนจากแม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำท่าจีน วงเงิน 15,767.80 ล้านบาท ระยะเวลาในการดำเนินโครงการประมาณ 5 ปี โดยจะเชื่อมโยงระบบคลองต่างๆเป็นโครงข่ายในการส่งน้ำและระบายน้ำ มีจำนวนทั้งสิ้น 68 คลอง ซึ่งมีทั้งคลองชลประทานและคลองธรรมชาติ ประกอบด้วย กลุ่มคลองในแนวนอนเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำแม่กลอง-แม่น้ำท่าจีน จำนวน 4คลอง กลุ่มคลองในแนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงจากคลองท่าผา-บางแก้ว จนถึงทะเล 3 แนว จำนวน 22 คลองและกลุ่มคลองที่เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและระบายน้ำจำนวน 42 คลอง ทั้งนี้ในจำนวนทั้ง 68 คลองดังกล่าว จะมีคลองที่ดำเนินการปรับปรุง-ขุดลอกจำนวน 32 คลอง ที่เหลืออีก 36 คลอง ไม่ต้องปรับปรุง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะต้องดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ เช่น สถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ เป็นต้น เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูน้ำหลากและฤดูน้ำแล้ง จำนวน 43 อาคาร จากทั้งหมด ที่จะต้องนำมาใช้บริหารจัดการน้ำทั้งสิ้น 86 อาคาร โดยอาคารบังคับน้ำที่ปรับปรุงทั้ง 43 อาคารนั้น แบ่งเป็นอาคารเดิมมีสภาพชำรุดและใช้งานมานาน ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับปรุงเพิ่มช่องระบายน้ำ หรือถ้าชำรุดมากจะต้องทำการรื้อถอนก่อสร้างใหม่แทนอาคารเดิม เพื่อใม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในระบบโครงข่าย มีจำนวนทั้งหมด 21 อาคาร ที่เหลืออีก 22 อาคาร เป็นอาคารบังคับน้ำที่เสนอก่อสร้างใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำและกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image