สุจิตต์ วงษ์เทศ : คนในกะลา เหมือนกบ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

“กะลาทุกใบที่ครอบกบอยู่ มีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์จากความมืดมิดภายใต้กะลานั้นเสมอ” นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบอก (ในตอนท้ายบทความเรื่อง “กะลาคว่ำ กะลาหงาย” มติชน ฉบับวันจันทร์ 13 พฤศจิกายน 2560 หน้า 16)

ที่ว่ามีคนบางกลุ่มได้ประโยชน์จากความมืดมิดภายใต้กะลา ก็เพราะ “กบใต้กะลาเป็นสภาพผิดธรรมชาติ ไม่มีทางเกิดขึ้นเองได้”

ดังนั้น ต้องมีคนบางกลุ่มทำให้สภาพกบใต้กะลามีขึ้นในสังคมไทย แล้วพิทักษ์รักษาไว้ให้นานเท่านาน เพราะ “อยากอยู่ยาว” เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์

หงายกะลา

Advertisement

ผลประโยชน์ที่ได้จากกะลาครอบมีอะไร? ต้องดูจากกะลาถ้าหงายขึ้นจะมีผู้สูญเสียอะไร? คำอธิบายต่อไปนี้สรุปย่อจากบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

กะลาถูกหงายขึ้น ทำให้กบมองเห็นฟ้ากว้างอันไร้ขอบเขตเบื้องบน

ฟ้าที่เปิดกว้างย่อมเป็นอันตราย (หรืออย่างน้อยกระทบ) ต่ออำนาจทุกชนิดที่มีอยู่ในสังคม แม้แต่อำนาจของพ่อแม่เหนือลูก, ครูเหนือศิษย์, รัฐเหนือประชากร, ศาสนาเหนือคนนับถือศาสนา ฯลฯ

Advertisement

เพราะฟ้ากว้างทำให้อำนาจเหล่านั้นถูกตั้งคำถามใหม่ และจำเป็นต้องนิยามอำนาจของตนใหม่

ด้วยเหตุดังนั้น อำนาจในสังคมต่างๆ จึงมักสร้างกะลาขึ้นบดบังฟ้ากว้างไว้อย่างน้อยบางส่วน (โดยเลือกส่วนที่อาจให้อำนาจในการยึดกะลาไปคลุมได้กว้างขวางทั่วฟ้าที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้)

แม้แต่ประวัติศาสตร์โบราณคดีก็ถูกกะลาครอบไว้ให้คนกลุ่มหนึ่งแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเองและพวกพ้อง

 

คว่ำกะลา

ไม่ว่าเราจะดึงกะลามาปิดฟ้าเอง หรือคนอื่นครอบกะลาลงมาเพื่อไม่ให้เราเห็นฟ้า ทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลร้าย ซึ่ง อ. นิธิ สรุปว่า

  1. ใต้กะลาย่อมมืด มองไม่เห็นคนอื่นว่าจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวอย่างไร? ร้ายขึ้นไปอีกก็คือไม่รู้สึกว่ามีคนอื่นร่วมอยู่ด้วยเลย
  2. ขาดความเคารพความเป็นมนุษย์ของคนอื่น เที่ยวตะโกนขับไล่คนอื่นไปอยู่ประเทศอื่น แล้วพร้อมจะพิฆาตคนอื่นถึงชีวิต

[ทั้งหมดนี้มาจากสรุปย่อบทความของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ถ้าจะให้ดีขอแนะนำไปอ่านเองทั้งหมด อร่อยเหาะ ไม่ต้องรอพระสงฆ์เคาะระฆัง]

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image