ภาณุ ตรัยเวช “ในสาธารณรัฐไวมาร์ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง”

สำหรับประเทศเยอรมนี ในห้วงทศวรรษเกือบ 100 ปีก่อนหน้านี้ หน้าประวัติศาสตร์และความสนใจของผู้คนอาจมุ่งไปที่สงครามโลกครั้งที่ 2 และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์-ผู้นำจากพรรคนาซีอันเลื่องชื่อ

ทว่า ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 20 “สาธารณรัฐไวมาร์” คือภาพแทนของเยอรมนีที่เปลี่้ยนระบอบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นระบอบที่มีอายุยืนยาวอยู่เพียง 14 ปี เท่านั้น ก่อนจะล่มสลายลงเมื่อฮิตเลอร์ขึ้นยึดครองอำนาจ นำไปสู่เหตุการณ์น่าสลดใจทั้งสงครามใหญ่ ระเบิดปรมาณู และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เหล่านี้ล้วนเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง เพราะการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยในครั้งนั้น ที่สุดแล้วนำไปสู่โศกนาฏกรรมมากมายที่ล้วนยังบาดลึกอยู่ในหัวใจใครหลายคน

“ภาณุ ตรัยเวช” ร้อยเรียงบันทึกทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ ทั้งในทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมออกมาได้อย่างลงตัว

Advertisement

เขาจบการศึกษาจากรั้วโรงเรียนอัสสัมชัญจนถึงมัธยมต้น ต่อระดับชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และได้ทุนในระดับปริญญาตรีจาก University of California, Los Angeles (UCLA) สาขาฟิสิกส์ ก่อนจะเรียนต่อคณะอุตุนิยมวิทยาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก

พ้นไปจากนี้ ภาณุยังครองตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมเยาวชนจากรายการแฟนพันธุ์แท้ และเป็นเจ้าของงานเขียนนวนิยายหลายต่อหลายเล่ม รวมทั้ง “คดีดาบลาวยาวแดง” นวนิยายเชิงสืบสวนที่เข้ารอบ Long List ซีไรต์เมื่อปี 2555

ปัจจุบัน ภาณุเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นเจ้าของเพจ “ในไวมาร์เยอรมัน” ซึ่งเขาเรียบเรียงเนื้อหาจากเพจและเรียงร้อยหน้ากระดาษของประวัติศาสตร์เหล่านั้นมาเป็นหนังสือความยาวเกือบ 500 หน้า-พร้อมเรื่องราวทางวัฒนธรรมและสังคมในห้วงเวลา 14 ปี อันแสนสั้นของประชาธิปไตยในไวมาร์

Advertisement

เตรียมทำหนังสือเล่มนี้นานไหม

ทำมา 4 ปี นานพอสมควร ที่ใช้ระยะเวลาขนาดนี้คือรวบรวมข้อมูลด้วย แล้วมันก็ยาว ต้องเขียนยาวด้วย และเขียนเสร็จกว่าจะออกมาก็ต้องตรวจเช็กความเรียบร้อยให้คนโน้นคนนี้อ่าน และทำรูปเล่ม เป็นขบวนการที่ยาวนานพอสมควร

ข้างในก็คล้ายๆ เรื่องในเพจ แต่จะต่อเนื่อง เป็นเรื่องเดียวกันมากกว่า เพราะเราเขียนเป็นหนังสือก่อนค่อยไปแยกใส่ในเพจ เวลาโพสต์ก็โพสต์แยกทีละวันๆ ด้วย

คิดว่าหนังสือเล่มนี้ต่างจากหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองเล่มอื่นอย่างไรบ้าง

หนากว่าครับ (หัวเราะ) อยากให้เขียนสนุกนะ ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการ รู้สึกตัวเองเป็นนักเล่าเรื่องและเขียนนิยายมาก่อน พยายามเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้สึกว่าอยากให้อ่านสนุก ไม่อยากให้เป็นวิชาการมาก แต่ก็อยากให้ได้ความรู้ด้วย

ก็คิดว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกนะครับ (ยิ้ม)

หนังสือประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักถูกใช้เป็นหนังสืออ้างอิง คือสนใจเรื่องอะไรก็มาเปิดดู ไม่ค่อยมีคนมานั่งอ่านเท่าไหร่ แต่เล่มนี้ อยากให้อ่านได้เรื่อยๆ อ่านแล้วอยากอ่านต่อ สนุกที่จะได้รู้เรื่องราวทั้งหมด มันมีความเป็นนวนิยายด้วยนะ

ทำไมต้องเป็นสาธารณรัฐไวมาร์

เพราะจริงๆ เป็นช่วงที่น่าสนใจ โดยเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เป็นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนีปกครองในระบอบประชาธิปไตย หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นเช่นนั้นอยู่ประมาณ 14-15 ปี จนกระทั่งล่มสลายไปเพราะอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ขึ้นมาครองอำนาจ เปลี่ยนเยอรมนีเป็นอาณาจักรที่ 3 คือเติร์ด ไรซ์ (Third Reich) ที่เรารู้จักกัน เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าทำไมประชาธิปไตยจึงไม่อยู่ยงคงกระพัน มันมีความเชื่อว่าประเทศต่างๆ ควรจะดำเนินไปบนหนทางของประชาธิปไตย เราควรเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คนควรใช้เหตุผลมากขึ้น แต่ไวมาร์เหมือนเป็นปริศนาใหญ่ว่าประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประชาธิปไตยนั้น ทำไมถึงล่มสลายลงมาได้

ความล้มเหลวของประชาธิปไตยในไวมาร์เป็นอย่างไร

ยังมีฝ่ายที่รู้สึกว่าไวมาร์เป็นประชาธิปไตยที่ล้มเหลว มันน่าสนใจว่าเวลานั้นเขาล้มเหลวอย่างไร แล้วเราก็ศึกษาดูเพื่อจะไม่ทำล้มเหลวอย่างเขา และจะมีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งผมรู้สึกว่าจุดยืนผมใกล้เคียงกับฝั่งนี้มากกว่า คืออยากจะโต้เถียงเชิงว่ามันไม่ได้ล้มเหลวขนาดนั้น มันก็ยังเป็นประชาธิปไตยทั่วไป เหมือนกับประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน คือมีทั้งจุดที่ดีและจุดที่แย่ ซึ่งมันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ล้มเหลว แต่เป็นประชาธิปไตยที่อยู่ต่อไปได้ ถ้าเกิดมีปัจจัยบางอย่างที่คนจะต่อสู้เพื่อให้มันอยู่ต่อจริงๆ

คือผมรู้สึกว่าไวมาร์ไม่ได้ต่างอะไรกับเยอรมนีในปัจจุบันหรือแม้แต่ประเทศไทย หรือสังคมประชาธิปไตยไหนๆ เลย คือมันมีทั้งข้อเสีย มีทั้งคนที่ไม่พอใจกับระบบและคนที่ออกมาต่อสู้ปกป้อง ซึ่งถ้าเราเข้าใจตรงนั้นก็จะรู้สึกว่ามันเป็นช่วงเวลาและยุคสมัยที่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

เกี่ยวกับยุคสมัยไหม เพราะประชาธิปไตยอาจผลิบานในยุคโลกเสรีด้วย

มีส่วนนะครับ เพราะประชาธิปไตยนั้นมาพร้อมกับยุคสมัยใหม่ ใช้คำกว้างๆ เพราะมันจะรวมไปถึงเทคโนโลยี ความสัมพันธ์แบบใหม่ของผู้คน ความเข้าใจที่ผู้คนมีต่อตัวเอง ต่อสภาพบ้านเมือง

พอถึงยุคสาธารณรัฐไวมาร์ คนเยอรมันในยุคนั้นต้องมาเผชิญหน้ากับความเข้าใจใหม่ๆ อย่างนี้ ก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นดีงามและฝ่ายที่ต่อต้าน ซึ่งการต่อสู้กันระหว่างสองฝ่ายก็นำไปสู่การล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยในยุคนั้นด้วย

เยอรมนีเป็นประเทศที่ผ่านความขัดแย้งรุนแรงมาเยอะ เราเรียนรู้อะไรได้บ้างในฐานะที่เราก็อยู่กับความขัดแย้งเช่นกัน

ถามว่าเรียนรู้อะไรก็ยากนะ จริงๆ ผมก็ยังอยากให้เป็นคำถามที่เปิดกว้าง ลองอ่านหนังสือดูแล้วเราอาจจะเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ได้เหมือนกับที่ผมตั้งใจก็ได้

หนังสือเล่มนี้พูดถึงประวัติศาสตร์ประเทศเยอรมนีในหลายมุมมองมากๆ เช่น ประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรม รวมไปถึงเศรษฐกิจ กระทั่งเรื่องเพศ มันมีหลายมุมมองมากๆ ที่เราอ่านแล้วจะสามารถหยิบจับออกมาได้ ไม่อยากกำหนดตายตัวว่าเราจะเรียนรู้อะไร

แต่ถ้าจะเป็นทิศทางที่ผมหวังคือ อยากให้เห็นว่าจริงๆ แล้วความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดามากๆ ไม่อยากให้มาคิดว่าเรามีความขัดแย้งแล้วจะต้องเป็นสิ่งเลวร้าย แต่มันสำคัญมากกว่าที่เราจะเรียนรู้หรือรับมือกับความขัดแย้งอย่างไร

ปัญหาคือ เมื่อคนพยายามใช้ประโยชน์จากความขัดแย้งมากกว่า เช่น มีคนบอกว่ามีวิธีที่ทำให้คนเลิกทะเลาะกัน เรารู้วิธีที่ทำให้ชาวเยอรมันกลับมาสามัคคีอย่างเดิม ซึ่งความล่มสลายมันมาจากคนที่ปฏิเสธความขัดแย้งตรงนั้นแล้วพยายามจะใช้ประโยชน์จากมัน

ถ้าอ้างตามชื่อหนังสือคือ ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วเขามาจากความยินยอมของประชาชนมากน้อยแค่ไหน

ตำแหน่งสูงสุดในเยอรมันเป็นตำแหน่งประธานาธิบดีที่เปลี่ยนมาจากระบอบกษัตริย์ของเมื่อก่อน แล้วประธานาธิบดีนั้นมาจากการเลือกตั้ง แล้วฮิตเลอร์นั้นพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งให้กับเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก และไม่ได้ตำแหน่งประธานาธิบดีมา

คนที่บอกว่าฮิตเลอร์มาจากการเลือกตั้งก็จะหยิบยกประเด็นว่า พรรคนาซีมีคะแนนเสียงในรัฐสภามากสุด ฮิตเลอร์จึงได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป หลังจากนั้นในเวลาต่อมา ฮินเดนบูร์กก็แต่งตั้งฮิตเลอร์ให้ขึ้นตำแหน่งนายกฯแทน แต่เราต้องเข้าใจว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นตำแหน่งแต่งตั้ง จึงขึ้นอยู่กับตัวประธานาธิบดีคือฮินเดนบูร์กและคนใกล้ชิดที่หยิบเอาฮิตเลอร์มาครองตำแหน่งนายกฯ

ทั้งนี้ มันไม่ใช่ว่าฮิตเลอร์และพรรคนาซีมี ส.ส.ในรัฐสภามากสุดถึงได้ขึ้นมาตำแหน่งนั้น เพราะตลอด 14 ปีของไวมาร์ คนที่ได้ตำแหน่งนายกฯนั้น น้อยมากที่จะมาจากพรรคเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา คือพรรคที่ชนะบ่อยสุด ได้คะแนนเสียงมากสุดในรัฐสภาของไวมาร์คือพรรค SPD (Sozialdemokratische Partei Deutschlands) เป็นพรรคฝ่ายซ้าย แต่นายกฯแทบไม่เคยมาจากพรรคนี้เลย ส่วนหนึ่งตอนนั้นเขารู้สึกด้วยซ้ำว่านายกฯต้องเป็นคนพรรคอื่น ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดการคานอำนาจขึ้น

การเป็นนายกรัฐมนตรีกับการได้เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาไม่ได้ไปด้วยกันขนาดนั้น นี่คือประเด็นหนึ่ง

อีกประเด็นซึ่งเป็นประเด็นหลักในหนังสือเหมือนกันคือ หลังจากที่พรรคนาซีได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาแล้ว ฮิตเลอร์ก็ยื่นข้อเสนอว่าอยากเป็นนายกฯ แต่ตอนนั้นคนครองอำนาจจะมีทั้งฮินเดนบูร์ก, คูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ บอกว่าให้ไม่ได้ แต่ก็มีการคุยกัน จนฮิตเลอร์ยื่นข้อเสนอว่า ถ้าฮินเดนบูร์กอยากตั้งใครเป็นนายกฯ ฮิตเลอร์จะสนับสนุนคนนั้น แลกกับฮินเดนบูร์กต้องยุบสภา ซึ่งคะแนนเสียงพรรคนาซีเยอะมาก จนฮิตเลอร์รู้สึกว่าถ้าได้คะแนนมาครึ่งหนึ่ง สัญญาอะไรไปก็ไม่ต้องทำตามก็ได้

เวลาฝ่ายที่บอกว่าฮิตเลอร์ชนะการเลือกตั้ง จะหยิบเรื่องที่บอกว่าพรรคนาซีได้ 230 เสียงจาก 500 เสียง แต่เหตุการณ์นั้นไม่ได้นำไปสู่เก้าอี้นายกฯทันที หลังจากนั้นพอมีการยุบสภาและเลือกตั้งอีกครั้ง ฮิตเลอร์พนันไว้ว่าเขาจะชนะอย่างท่วมท้น แต่ไม่สำเร็จ และพรรคนาซีได้คะแนนเสียงน้อยลงจากตรงนั้นด้วยซ้ำ จนทุกคนมองว่านี่คือขาลงของพรรคนาซี และคะแนนเสียงที่ฮิตเลอร์ได้หลังจากนั้นก็อยู่ที่ 1 ใน 3 เท่านั้น ยังเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ที่น้อยลงและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหรือใช้ต่อรองอะไรได้

ถ้าจะบอกว่ากระบวนการเลือกตั้งทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นมา อยากชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่ เพราะหลังจากนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งถัดมา พรรคนาซีได้คะแนนเสียงน้อยลง กลับเป็นพรรคคอมมิวนิสต์เองที่มีคนมากขึ้นเรื่อยๆ

ภาณุ ตรัยเวช

สาเหตุที่พรรคนาซีได้คะแนนเสียงน้อยลงคืออะไร

ก่อนหน้านั้นมีวิกฤตเศรษฐกิจและเรื่องความขัดแย้งต่างๆ ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยใดๆ ก็ตาม คนที่สุดโต่งจริงๆ มันมีไม่เยอะ มีจำนวนหนึ่งเท่านั้น ต่อให้พยายามแสดงออกว่าตัวเองเป็นเสียงส่วนใหญ่ขนาดไหน ก็ไม่มีทางเป็นได้ ก็เป็นเสียงส่วนน้อยอยู่นั่นเอง พรรคนาซีก็เช่นนั้น ชิงความเป็นเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้

คือทุกสังคมมีคนสติดีมากกว่าคนสติไม่ดีอยู่แล้วครับ (หัวเราะ)

อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เคยพูดประโยคหนึ่งที่ผมชอบมาก ว่าในสังคมที่มีโจร 9 คน แล้วมีพระรูปเดียว ไม่มีระบอบบ้าอะไรที่มันจะทำให้ดีได้ ทุกระบอบล่มเหมือนกันหมด เพียงแต่ว่าสังคมส่วนใหญ่มีพระ 9 รูป และโจรคนเดียวมากกว่า ซึ่งสังคมแบบนั้น ถ้าใช้ระบอบอื่นที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยเนี่ย โจรจะขึ้นเป็นผู้นำได้

ผมคิดว่าในไวมาร์ก็เหมือนกัน คืออาจจะมีปัญหาเยอะ แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังสติดีอยู่ ฉะนั้น ด้วยกระบวนการแบบระบอบประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นขึ้นมานิดหนึ่งแล้ว ทุกอย่างมันก็ประคับประคองต่อไปได้ แต่ตอนนั้นเป็นเรื่องของการเจรจาหลังฉากล้วนๆ ระหว่างฮิตเลอร์และคนใกล้ชิดฮินเดนบูร์ก ดึงเอาอำนาจการตัดสินใจจากประชาชนแล้วมาคุยกันเอง จนในที่สุด ฮิตเลอร์ก็ได้ตำแหน่งนายกฯ แต่ก็ยังไม่จบ รัฐธรรมนูญที่บังคับว่าเดี๋ยวจะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ยังอยู่ โดยที่ฮิตเลอร์เองอยากฉีกรัฐธรรมนูญนี้ทิ้งมาก แต่ตามกฎหมายจะทำได้ก็ต้องมีเสียง 2 ใน 3 ของเสียงทั้งหมดซึ่งพรรคนาซีมีไม่ถึง ฮิตเลอร์จึงยุบสภา ให้มีเลือกตั้งใหม่โดยที่ตัวเองกุมอำนาจทั้งหมด

ดังนั้น มันจึงเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ใบปลิวทุกพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคนาซีถูกฉีกทิ้งหมด ทุกเมืองมีประกาศลำโพงติดไว้ตลอดเวลาว่าต้องเลือกฮิตเลอร์ นี่เป็นการโกงเลือกตั้งชนิดที่ไม่ต้องบอกแล้วว่านี่คือการเลือกตั้ง แต่ถามว่าโกงขนาดนี้ ฮิตเลอร์ได้เสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการหรือไม่ ก็ยังไม่ใช่เสียงที่มั่นใจได้ขนาดนั้นว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ และพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตัวแทนชนะเลือกตั้ง 80 คน ซึ่งทั้ง 80 คนนี้ไม่มีใครอยู่ในประเทศได้เลย ต้องหนีออกนอกประเทศหมด แสดงให้เห็นว่าการโกงเลือกตั้งครั้งนี้สุดโต่งมากจริงๆ ซึ่งมาถึงจุดนี้ก็ยังต้องใช้วิธีโกงอื่นๆ อีกเพื่อพลิกกฎหมายเพื่อจะฉีกรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงร่างกฎหมายใหม่ที่มีความเป็นเผด็จการมากขึ้น

ให้ภาพได้ไหมว่าสภาพสังคมแบบไหนที่ยอมให้ฮิตเลอร์มาเป็นผู้นำได้

(นิ่งคิด) ผมคิดว่าไม่มีสังคมไหนยอมหรอก อย่างที่บอกว่าทุกสังคมมีคนสติดีมากกว่าคนสติไม่ดีเสมอ แต่สังคมที่มีโครงสร้างทางอำนาจไม่ยึดโยงกับประชาชน ให้ใครก็ได้ที่เป็นส่วนน้อยของสังคมมาตัดสินว่าจะให้ใครมีอำนาจ สังคมแบบนั้นสามารถปล่อยให้อยู่ดีๆ มีคนบ้าคนหนึ่งมาเป็นผู้นำได้ ผมว่าสังคมในลักษณะนั้นที่น่ากลัว

อันที่จริงไม่ใช่เรื่องของสังคมด้วยซ้ำไป แต่เป็นเรื่องของระบบที่มันเอาอำนาจไปอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าพูดจริงๆ ก็เป็นปัญหามาจากรัฐธรรมนูญไวมาร์ที่เปิดโอกาสให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น เป็นรัฐธรรมนูญที่มีทั้งภาวะอนาธิปไตยในตัวเอง เป็นการเลือกตั้งระบบแบบปาร์ตี้ลิสต์ ต่อให้คุณชนะแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถส่งคนเข้าไปนั่งในรัฐสภาได้แล้วห้าคน ฉะนั้น รัฐสภาไวมาร์จึงมีหลายเสียง คละกันหลายพรรคมาก ดังนั้น จึงไม่มีความเป็นเอกภาพ ทำให้ตัวรัฐบาลจริงๆ อ่อนแอ

ขณะเดียวกันก็มีอีกระบบมาเสริมกันคือตัวรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้นายกฯประกาศยึดครองอำนาจ เปลี่ยนประเทศเป็นเผด็จการชั่วคราว

มันเลยตลกตรงที่เหมือนไม่มีทางสายกลางเลย เหมือนระบบปกติก็ยุ่งไปหมด แต่ระบบพิเศษที่เอามารับมือระบบปกติก็เป็นอำนาจนิยมเกินไป

ซึ่งสภาวะแบบนี้ยิ่งทำให้คนไม่ศรัทธาในประชาธิปไตยเข้าไปใหญ่

ประทับใจบทไหนในหนังสือเป็นพิเศษไหม

ชอบบทสุดท้ายครับ (ยิ้ม) เป็นเชิงผูกพันกับตัวละคร ฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจเรียบร้อย ปัญญาชนก็ต้องหนี เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, ชาวไวมาร์หรือศิลปิน ไม่มีใครสามารถอยู่ได้ ทุกคนหนีไปหมด แล้วเวลาเราเขียน แต่ละบทก็เล่าถึงไอน์สไตน์, ไวลล์และเบรคช์ (นักดนตรีแจ๊ซในไวมาร์) หรือกลุ่มแฟรงก์เฟิร์ต แต่ในบทสุดท้าย เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจ คนเหล่านี้ก็หนีออกไปหมดทุกคนเลย บางคนก็หนีแล้วไปตาย ไม่รอด เช่น วาลเธอร์ เบนยามิน (นักปรัชญาวิพากษ์) หนีไปฝรั่งเศส แล้วเมื่อตอนหลังที่พรรคนาซีขยายอำนาจ เริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 และมายึดครองฝรั่งเศส เบนจามินก็ต้องฆ่าตัวตาย และแน่นอนว่าพวกคนยิวต้องหนีไป หรือคนที่ไม่ใช่ยิวแต่เป็นฝ่ายซ้ายที่ไม่เห็นด้วยกับพรรคนาซีก็ต้องค่อยๆ ทยอยหนีออกไปนอกประเทศ

ตอนนั้นก็เริ่มมีการเผาหนังสือขึ้น โยเซฟ เกิบเบลส์ ซึ่งเป็นคนสนิทของฮิตเลอร์ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อ ก็เอาหนังสือของคนที่เราอ่านมาตลอดทั้งเล่ม เรื่องราวของพวกเขา เอามาเผากลางลานเลย

มันสะเทือนใจตัวเอง และเรารู้สึกผูกพันกับบุคคลในประวัติศาสตร์เหล่านี้ที่เราตามอ่านเรื่องราวของพวกเขามาตลอด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image