‘ทรัมป์’สู่อำนาจ…สหรัฐเสียภูมิ จริงหรือ? โดย ไพรัช วรปาณิ

ชาวโลกกำลังให้ความสนใจกับข่าว….สอง “ตัวเก็ง” คนล่าสุด ซึ่งวิเคราะห์จากผลคะแนนขั้นต้น ทั้งสองมีโอกาสเข้าเป็นตัวแทนของสองพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นั่นคือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ “ปากสว่าง” ผู้โอหัง แห่งพรรครีพับลิกัน และนางฮิลลารี คลินตัน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง แห่งพรรคเดโมแครต…ทั้งสองต่างได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐต่างๆ อย่างท่วมท้นให้เข้าเป็นตัวแทนพรรค เพื่อขึ้นชิงในช่วงเดือนพฤศจิกายนศกนี้อย่างเป็นทางการในนาทีสุดท้าย

ผู้เขียนมองว่าหนทางก้าวสู่อำนาจของบุคคลทั้งสองมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ยังคงต้องฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามนานัปการ โดยเฉพาะนายโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องเพราะในพรรครีพับลิกันเกิดกระแสต่อต้านอย่างกว้างขวาง และมีความเห็นแตกแยกเป็นหลายฝ่าย ได้แสดงการคัดค้านนายทรัมป์อย่างเป็นรูปธรรมในทุกรูปแบบ อาทิ การออกจดหมายต่อต้าน ชำแหละอย่างเปิดเผย หนักหน่วง เป็นต้น ฉะนั้นการจะก้าวข้ามอุปสรรคของนายทรัมป์จึงไม่ง่ายนัก ยังต้องขึ้นอยู่กับ “เงื่อนไข” และปัจจัยอื่นอีกหลายประการ…

ที่สำคัญสุดคือ นายทรัมป์จะต้องใช้ความสามารถโน้มน้าวจิตใจสมาชิกผู้เห็นต่างซึ่งมีอิทธิพลอยู่ในพรรครีพับลิกันให้หันกลับมาเป็นฝ่ายสนับสนุนตนอย่างเป็นเอกภาพแบบพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้สัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงไร?! จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เขาต้องลงมือแก้เกมด่วน ก่อนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ เพราะนายทรัมป์เองก็รู้ดีว่าถ้าหากได้รับการสนับสนุนจากพรรคก็เชื่อแน่ว่าไม่มีอะไรหยุดยั้งชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐของตนเหนือคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต หรือนางฮิลลารีอย่างแน่นอน

พิเคราะห์จากผลการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อชิงเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันที่ผ่านมาของทรัมป์ ที่คว้าชัยชนะการเลือกตั้งขั้นต้นเพิ่มอีก 3 รัฐ รวมเป็นชัยชนะ 15 รัฐ จาก 24 รัฐ คว้าคะแนนคณะผู้แทนพรรคได้แล้วอย่างน้อย 446 แต้ม ชนะเหนือนายเท็ด ครูซ ส.ว.รัฐเท็กซัส ได้คะแนนอย่างน้อย 347 แต้ม ตามด้วยนายมาร์ค รูบิโอ ส.ว.รัฐฟลอริดา ได้คะแนนอย่างน้อย 151 แต้ม ซึ่งโดยระบบแล้วผู้ที่ชนะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันจะต้องคว้าคะแนนคณะผู้แทนพรรคถึง 1,237 แต้ม

Advertisement

น่าเชื่อได้ว่าสุดท้ายแล้วจะเหลือเพียงสองคนคือ ทรัมป์และฮิลลารี ดังกล่าวเท่านั้นที่มีโอกาสขึ้นชิงแชมป์

พรรคเดโมแครต นางฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งคนสำคัญ คว้าคะแนนคณะผู้แทนพรรคแล้วถึง 1,221 แต้มแล้ว ตามด้วยนายเบอร์นี แซนเคอร์ส ส.ว.รัฐเวอร์มอนต์ ได้คะแนน 571 แต้มเท่านั้น ทั้งนี้โดยระบบของผู้แทนพรรคเดโมแครต การจะได้ขึ้นชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐต้องได้คะแนนถึง 2,383 คะแนน

การที่ “Mr.ปากสว่าง” โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เป็นมหาเศรษฐีพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งนิวยอร์กซิตี้ วัย 69 ปี มีทรัพย์สินมากว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีบุคลิกเชื่อมั่นตัวเอง อัตตาสูง แถมปากโป้งโอหัง เคยแสดงโวหารอันดุเดือดเผ็ดมัน จนได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนชั้นกรรมาชีพส่วนใหญ่อย่างล้นหลาม แต่ทว่า…กลับถูกผู้คนระดับสูงในพรรคต่อต้านอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใดหรือ? มีอะไรซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง? แล้วจะผ่านด่าน 18 อรหันต์ในพรรครอบสุดท้ายได้หรือไม่? น่าติดตาม….

Advertisement

บรรดาผู้อาวุโสในพรรครีพับลิกันต่างออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านและห่วงใยว่า

หากวันใดที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนชิงประธานาธิบดี ก็คาดว่าจะต้องพ่ายแพ้แก่นางฮิลลารีแน่นอน ซึ่งถ้าเป็นตามที่กล่าวจริง ย่อมจะยังผลให้พรรครีพับลิกันได้รับความอับอายขายหน้าอย่างสุดจะทนอีกด้วย

เหตุใด นายโดนัลด์ ทรัมป์ “ปากสว่าง” ผู้มีนโยบายแข็งกร้าวบ้าบิ่น ด้วยการใช้วาทกรรมในการหาเสียงอันลือลั่นด้วยท่าทีโอหัง…จนทำให้บรรดาผู้อาวุโสในพรรคห่วงว่าจะเป็นการสร้างศัตรูจากนานาประเทศ แต่ตามสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ การกล่าวหาเสียงแบบดุเดือดเผ็ดมันกลับเป็นที่สะใจและถูกใจประชาชน ซึ่งกำลังเบื่อหน่ายต่อความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน จึงทำให้เขาได้รับคะแนนเลือกตั้งขั้นต้นเพิ่มขึ้นในหลายรัฐดังที่ปรากฏ

น่าประหลาดใจมากสำหรับคอการเมือง ก็คือ ปรากฏการณ์….มีสมาชิกอาวุโสและบุคคลสำคัญๆ ในพรรครีพับลิกันได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายแสดงการคัดค้านการเข้าเป็นตัวแทนพรรคของนายโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมกันหลายคน ข้อความในจดหมายเขียนกล่าวเตือนด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า หากนายทรัมป์ผู้โอหังได้ขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว เขาจะบ้าอำนาจ จนเป็นอันตรายต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของชนชาติอเมริกาอย่างมหันต์ทีเดียว!

ในจดหมายคัดค้านกล่าวเสริมว่า “คำปราศรัยอันดุเดือดของทรัมป์ ทำให้พวกเราสรุปได้ว่า ทันใดที่เขาได้เป็นประธานาธิบดี เขา(ทรัมป์) จะเถลิงอำนาจตามอำเภอใจ สร้างศัตรูไปทั่วทิศ ซึ่งนอกจากจะทำให้อเมริกาไม่ปลอดภัยแล้ว ยังจะบั่นทอนชาติภูมิหรือเกียรติศักดิ์ของสหรัฐในสายตาชาวโลกอีกด้วย

แหล่งข่าวเปิดเผยต่อว่า การร่วมลงชื่อในหนังสือจดหมายดังกล่าวมีทั้งอดีตผู้ใหญ่ทางการบริหารประเทศ อดีตนายธนาคารโลกระดับสูง และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ฯลฯ ร่วมด้วยอย่างน่าตกใจ

ข้อความในจดหมายได้ชี้ให้เห็นว่า คำกล่าวต่อต้าน “มุสลิม” อย่างรุนแรง และการเสนอแนวคิดให้มีการสร้างกำแพงสูงเพื่อปิดกั้นผู้อพยพระหว่างชาวเม็กซิโกกับอเมริกัน โดยระบุว่าชาวเม็กซิโกล้วนเป็นอาชญากรทางเพศนั้น ถือได้ว่าเป็นแนวคิดและคำกล่าวที่รุนแรงไร้ตรรกะและเหตุผลทั้งสิ้น

พร้อมกับการยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ในฐานะที่เป็นสมาชิกผู้ซื่อสัตย์ของพรรครีพับลิกันมาช้านาน พวกเราไม่อาจจะทนต่อการให้ทรัมป์ผู้โอหัง ดำรงฐานะเป็นตัวแทนของพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งผู้นำของประเทศสหรัฐอย่างเด็ดขาด

จดหมายได้ระบุต่อไปว่า พวกเราจะใช้ความพยายามขัดขวางบุคคลผู้มีบุคลิกไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานาธิบดีในทุกวิธีทาง พร้อมกับแสดงความกังวลว่า หากทางพรรคส่งแล้วเกิดแพ้แก่นางฮิลลารีในการชิงชัยที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ ยิ่งจะทำให้พรรคอับอายขายหน้าอย่างที่สุด!

ในอักมุมหนึ่ง นายทรัมป์มักจะโชว์วิสัยทัศน์ หาเสียงด้วยการด่าทอผู้นำในรัฐบาลปัจจุบันว่าเป็นคนงี่เง่า ไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง อย่างไม่เกรงกลัวผู้ใด จึงเกิดข้อสงสัยตามมาว่าท่ามกลางคนชอบก็มีคนชังก็มาก แต่ไยเขาจึงยังสามารถทำคะแนนเสียงได้ถึงขนาดนี้?

สื่อต่างๆ ในสหรัฐชี้ว่าลัทธิหรือแนวนโยบายทางการเมืองของทรัมป์ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ใหม่อย่างหนึ่งที่สอดรับกับความต้องการแสวงหาสิ่งที่ “ดีกว่า” ของชนชั้นกรรมาชีพพอดี ซึ่งทรัมป์ใช้หลักจิตวิทยากล่าวปลุกเร้าว่า ถึงเวลาแล้วที่ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องมีสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงความไม่พอใจต่อชนชั้นปกครอง เนื่องเพราะตั้งแต่ศตวรรษ 60 เป็นต้นมา รายได้ของเหล่าคนงานไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย ซ้ำร้ายยังมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่โยกย้ายออกไปประกอบการยังต่างประเทศจำนวนมาก และปล่อยมีคนต่างชาติอพยพเข้าอเมริกาเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันแก่งแย่งงานกันทำ และที่เลวร้ายที่สุด อเมริกาที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่เชิดชูความเสมอภาพ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน แต่มาบัดนี้สิ่งเหล่านี้ได้อันตรธานไปหมด ไม่เหลือไว้ให้คนรุ่นหลังยอมรับอีกต่อไปแล้ว….ว่างั้น!

นักวิเคราะห์มองว่า แม้มีชาวอเมริกาจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายอันสุดโต่งของทรัมป์ แต่ก็อย่าได้ประมาท เพราะทรัมป์มีทักษะและความชาญฉลาดคล่องตัวในด้านการเมือง ไม่ด้อยกว่าการค้าที่ประสบความสำเร็จ โดยการทำวิกฤตให้พลิกเป็นโอกาส ย่างก้าวเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างพลิกความคาดหมาย ท่ามกลางความงงงวย-กังวลของฝ่ายต่อต้าน ก็อาจเป็นได้!

จากการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันปรากฏว่า ทรัมป์ได้เสียงสนับสนุน 42% ส่วนฮิลลารีได้ 45% สำหรับความเห็นฝ่ายที่ไม่ชอบ นางฮิลลารีและนายทรัมป์อยู่ที่ระหว่าง 60-55% ฉะนั้นโดยสรุปโอกาสการชิงชัย ใช่ว่าทรัมป์จะแพ้ฮิลลารีเสมอไป

ผลจากการที่ทรัมป์ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ วิพากษ์ประเด็นปัญหาผู้อพยพและการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ไม่ถูกทางของรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้เขาได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนชั้นล่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างล้นหลาม แต่ท่าทีและลีลาดังกล่าว ที่กล่าวหาคนเม็กซิโกเป็นอาชญากรทางเพศ และการวางมาตรการห้ามชาวมุสลิมเข้าประเทศ ตลอดการแสดงวาทะเย้ยหยันสตรีเพศและผู้พิการอย่างโอหังนั้น ล้วนเป็นชนวนให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากผู้มีบทบาทในพรรครีพับลิกันทั้งสิ้น

แนวคิดที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลปัจจุบัน ได้ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆจากประชาชนชั้นกรรมาชีพผู้นิยมลัทธิสุดโต่ง นายทรัมป์จึงถูกมองว่าน่าจะเป็นผู้นำที่เหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสนองตอบอารมณ์ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งสอดรับกับจิตวิทยาการต่อต้านปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมาย ด้วยวิธีการใช้ “หมัดเหล็ก” ตามแนวทางของ “ทรัมป์ ผู้อหังการ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในอเมริกาต่างวิจารณ์ว่า วาทกรรมหยามสตรีเพศของนายทรัมป์อาจมีผลทำให้แพ้แก่ฮิลลารีในที่สุด แต่ข้อเท็จจริงที่มิอาจมองข้ามคือ ความรู้สึกไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลในปัจจุบัน มีเพิ่มขึ้นทุกขณะ ฉะนั้นการด่าและโจมตีรัฐบาลของทรัมป์ อาจสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิ จนเป็นผลบวกต่อคะแนนเสียงของเขาก็เป็นได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ถ้ามองจากสถานการณ์ในขณะนี้ ผู้เขียนเชื่อว่านางฮิลลารีได้เปรียบในการกำชัยชนะมากกว่านายทรัมป์ ผู้โอหัง เพราะตัวนายทรัมป์เองมีความมัวหมองอยู่ อาทิ…ข่าวความสัมพันธ์กับแก๊ง 3เค หรือการยื่นภาษีที่ไม่ชัดเจน ตลอดจนการแสดงลีลาหมิ่นเกียรติสตรีเพศและคนพิการ น่าจะยังผลให้ฮิลลารีได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น แต่ทว่าหันกลับมาวิเคราะห์ในอีกสถานการณ์หนึ่งที่ไม่มีใครคาดคิด… นั่นคือนายทรัมป์อาจพลิกกลับขึ้นเป็นผู้นำในนาทีสุดท้าย ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความนิยมเต็มร้อยจากใจประชาชนผู้ใช้สิทธิ ไยจึงเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องอธิบายว่าว่า…นั่นอาจเป็นการแสดงบทบาทของประชาชนชาวอเมริกันที่ผิดหวัง-เบื่อหน่ายต่อนักการเมืองรุ่งเก่า ซึ่งมีนางฮิลลารีรวมอยู่ด้วย มิได้สร้างผลงานหรือการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของปวงชนอย่างแท้จริง จนเป็นเหตุให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยากลองใช้ “บริการใหม่” ดูบ้างนั่นเอง

อีกนัยหนึ่ง อาจเกิดจากความมั่นใจใน “Truth” นางฮิลลารี สั่นคลอน?…ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนก็ยังเป็นห่วงแทนประชาชนชาวสหรัฐ…ถ้าไม่เอาฮิลลารี แต่เอาของใหม่อย่างนายทรัมป์ “ปากสว่าง” ผู้อหังการเข้าเถลิงอำนาจ อาจจะทำให้สหรัฐมีศัตรูเพิ่มขึ้นและเสียภูมิ ขาดความเชื่อถือจากต่างประเทศ ตามคำกล่าวหาในจดหมายคัดค้านของพรรครีพับลิกันหรือไม่?

น่าจับตา…นักยุทธศาสตร์พรรครีพับลิกัน กล่าวไว้อย่างแหลมคมตอนหนึ่งว่า…”โดนัลด์ ทรัมป์ มีวิธีการสร้างแรงจูงใจให้ชนชั้นกรรมาชีพนิยมมากเพียงใดก็ตาม แต่ในทางกลับกันก็อาจเกิดผลในทางลบได้ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม…ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดได้ชนะในศึกชิงบัลลังก์ครั้งนี้

แต่…ประชาชน (ไม่เพียงแต่ชาวสหรัฐ) ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย-รังเกียจ ต่อพฤติกรรม ฉ้อฉล ตอแหล หลอกลวงของผู้นำแห่งตนในทุกประเทศ”….นี่คือ “Truth” ครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image