“ปกป้อง…ถาม-ชาญวิทย์…ตอบ” หลากเรื่อง อ.ป๋วย ที่คุณอาจไม่เคยรู้

ที่มา : ตัดทอนบางส่วนมาจาก Anti-memoir of a man called Puey Ungphakorn ความ “อ” ทรงจำ 100 ปีป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สัมภาษณ์ ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เมื่อปลายปี 2558 เนื่องในวาระ 100 ปี ชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ปกป้อง : เท่าที่อาจารย์รู้จักอาจารย์ป๋วย ท่านเป็นคนอย่างไร

ชาญวิทย์ : ผมต้องบอกก่อนว่า ผมเกือบไม่รู้จักอาจารย์ป๋วยเลย จนกระทั่งเมื่อมาทำงานกับท่าน และก็ทำงานกับท่านได้เพียงปีเดียว ในช่วงที่ท่านเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ และเมื่อท่านต้องออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้วไปอยู่ต่างประเทศ ผมก็ต้องออกตามท่านไปด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าพูดจริงๆ แล้ว ผมรู้จักอาจารย์ป๋วยในระยะเวลาที่สั้นมากๆ

ปกป้อง : แต่อาจารย์เคยเขียนบอกว่าถึงจะเป็นแค่ปีเดียว แต่อาจารย์รู้สึกว่ารู้จักอาจารย์ป๋วยลึกซึ้ง เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่เวลาเป็นตัวกำหนด

Advertisement

ชาญวิทย์ : ครับ อาจารย์ป๋วยก็เป็นคนซึ่งผมรู้จักเพียงไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน แต่เรารู้สึกว่ารู้จักกันมานานจังเลย เป็นลักษณะพิเศษมากๆ ผมคิดว่าโดยประสบการณ์ ผมเรียนธรรมศาสตร์ปี 2503-2506 แล้วผมก็เรียนคณะรัฐศาสตร์ ผมเป็น “สิงห์แดงแข็งขัน” (รัฐศาสตร์) ตอนนั้น คณะเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์ป๋วยเป็นคณะที่เล็ก และผมเกือบไม่ให้ความสนใจเลย เพราะฉะนั้นเมื่ออาจารย์ป๋วยกลับเข้ามาเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ในปี 2507 ผมไม่ได้อยู่ธรรมศาสตร์แล้ว เตลิดเปิดเปิงไปทำงานอยู่ระยะหนึ่งที่ กทม. ที่กระทรวงการต่างประเทศ แล้วก็ไปเรียนต่อเมืองนอก 7 ปี (2508-2516)

ปกป้อง : พออาจารย์ได้เจอตัวจริงแล้ว อาจารย์ป๋วยเป็นคนยังไง ทำไมทุกคนจึงสนใจท่าน อาจารย์ได้คำตอบไหม

ชาญวิทย์ : ที่ผมคิดว่าผมได้สัมผัสกับอาจารย์ป๋วย เพราะในบรรยากาศของปี 2516 ก่อนที่อาจารย์ป๋วยจะเข้ามาเป็นอธิการบดี ความตื่นตัวทางวิชาการมีสูงมาก ทั้งในหมู่อาจารย์ หมู่นักศึกษา ของคนรุ่นนั้น ที่เรารู้จักกันในนาม “คนเดือนตุลา” อะไรทำนองนั้น

Advertisement

จำได้ว่า วันหนึ่งผมก็ไปพูดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ผมพูดเรื่องสกุลประวัติศาสตร์ สกุลตำนาน สกุลพงศาวดาร สกุลใหม่ที่เกิดขึ้นในตอนหลัง จำได้ว่าในครั้งนั้น ท่านอาจารย์ป๋วยมาฟังด้วย ผมเห็นท่านเป็นครั้งแรกว่ามีชายสูงอายุที่ตรงนี้ (ชี้ที่ขมับ) ยังไม่แก่

เมื่อเราอภิปรายกัน และพูดถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ตอนนั้น อย่าลืมว่ากำลังมีกระแสที่จะนำไปสู่การรับรองจีนปักกิ่ง และไม่รับรองจีนไต้หวัน กระแสมันมาแรงมากๆ ที่จีนปักกิ่งได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติแทนจีนไต้หวัน แล้วผมก็พูดถึงเรื่องการค้าแฝงอยู่ในระบบ “จิ้มก้อง” บรรณาการด้วย มีการส่งไม้ฝางก็ดี ยาสมุนไพร ผลเร่ว อะไรทำนองนี้

ผมจำได้ว่าอาจารย์ป๋วยเข้ามาอภิปรายร่วมกับเรา ผมก็…อืม อาจารย์ป๋วยเป็นคนแปลกนะ จบเศรษฐศาสตร์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่สามารถร่วมอภิปรายในวงประวัติศาสตร์เชยๆ

โบราณๆ อย่างเราได้ อันนั้นเป็นความประทับใจครั้งแรก อาจารย์ป๋วยจะพูดว่า ผมก็จำได้สมัยของปู่ยาตายายนั้น ต้องนำเข้าของจากเมืองจีน พวกเครื่องดอง ผักดอง ที่มาเป็นไหๆ ผมก็ว่าอันนี้แปลกดี คือนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป ว่าไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก จะไม่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับสังคม ชีวิต ผู้คน พวกนี้จะอยู่กับตัวเลข และค่อนข้างน่าเบื่อ แต่คนอย่างอาจารย์ป๋วยไม่น่าเบื่อเลยเวลาคุยเรื่องเศรษฐศาสตร์

ปกป้อง : อาจารย์ป๋วยชวนอาจารย์มาเป็นรองอธิการบดีฝ่ายใหม่ คือ ฝ่ายวิชาพื้นฐาน ตอนนั้นมีความเป็นมาอย่างไรครับ

ชาญวิทย์ : ตำแหน่งที่ผมได้และอยู่กับอาจารย์ป๋วย 1 ปี เรียกว่าตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐาน คือดูแลนักศึกษาปี 1 อย่างเดียว บางคนจะเรียกผมว่าเป็น “รองพื้น” ตำแหน่งนี้ไม่เคยมีในสารบบ และก็มีอยู่หนเดียวในสมัยอาจารย์ป๋วย หลังจากนั้นก็ไม่มีตำแหน่งนี้อีกเลย

งานที่อาจารย์ป๋วยต้องการผลักดันมีหลายอย่างที่วางเอาไว้ ที่สำคัญก็คือ การที่อาจารย์บอกว่า มหาวิทยาลัยปิด อย่างจุฬาฯก็ดี ธรรมศาสตร์ก็ดี มหิดลก็ดี มันจบลงด้วยคนที่ได้เปรียบอยู่แล้ว ก็ได้เปรียบต่อไป คนที่เรียนโรงเรียนในกรุงเทพฯ เรียนในโรงเรียนระดับเกรดเอ ยังไงก็ต้องสอบเข้าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดลได้ คนที่อยู่ไกลๆ ไม่ได้หรอก

ดังนั้น อาจารย์จึงมีโครงการที่เรียกว่า นักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือที่เราเรียกกันว่า “ช้างเผือก” อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ เป็นคนร่างโครงการ และเสนอของบประมาณแผ่นดิน แต่ว่าไม่ผ่าน แต่ว่าในตอนหลัง เมื่อบ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สภาพปกติชั่วคราว ในสมัยของอาจารย์ประภาศน์ อวยชัย เป็นอธิการบดี อาจารย์ประภาศน์และอาจารย์อรุณ รัชตะนาวิน รองอธิการบดี ดึงกลับขึ้นมา แล้วก็ผลักดันจนสำเร็จ

ปกป้อง : อาจารย์เคยพูด เคยเขียนว่า ไม่มีสมัยไหนที่เราทะเลาะกับนักศึกษาได้มัน เด็ดขาดเท่ากับสมัยนั้น ทั้งตัวอาจารย์และอาจารย์ป๋วยบริหารความท้าทายนั้นอย่างไร

ชาญวิทย์ : ผมคิดว่าคนที่น่านับถือมากๆ เลยคืออาจารย์ป๋วยกับอาจารย์เสน่ห์ ทั้งสองท่านในยุคที่เรากำลังพูด 2 ปี คือ ปี 2518-2519 ความขัดแย้งในสังคมไทยมีสูงมากๆ ปัญหาที่ถูกเก็บเอาไว้มันระเบิดขึ้นมาหลัง 14 ตุลาคม 2516

อาจารย์ป๋วยและอาจารย์เสน่ห์ ยอมรับการประท้วง สิ่งที่เรามาเรียกว่า “อารยะขัดขืน” ในปัจจุบันได้อย่างดีมาก คุณประท้วงได้ ผมเปิดหอประชุมใหญ่ให้คุณเข้าไปประท้วงเลย แต่มาทำให้คนอื่นเรียนหนังสือไม่ได้ สอบไม่ได้ ทำไม่ได้ ไม่เคารพสิทธิคนอื่น

อันนี้เป็นสิ่งที่ผมจำได้แม่นเลย อาจารย์ป๋วยกับอาจารย์เสน่ห์บอก เอาเลย คุณกำลังจะช่วยชาวนาใช่ไหม ซึ่งเข้ามาพึ่งพิงธรรมศาสตร์ เข้าไปในหอประชุมใหญ่ ห้องน้ำห้องท่ามี ไปพูดกันในนั้น ลานโพธิ์นั้น ขอให้ปลอดหน่อย เพราะตึกศิลปศาสตร์เขาต้องเรียน คนที่อยากเรียนก็มีเยอะ คนที่ต้องการสอบก็มีเยอะ ดังนั้น ต้องเคารพสิทธิคนอื่น ผมว่าอันนี้แหละ คือสิ่งที่อาจารย์ป๋วยบอกว่า “สันติประชาธรรม” คืออะไร เป็นอย่างไร

ปกป้อง : นักศึกษาที่อาจารย์ป๋วยต้องชนด้วย ถือว่ารักและเคารพอาจารย์ป๋วยไหม อยู่กันยังไง รู้สึกกันยังไง ระหว่างกัน

ชาญวิทย์ : ผมคิดว่านักศึกษารักอาจารย์ป๋วยมากๆ ด้วย คือผมจำได้ มีอยู่วันหนึ่ง ก่อนที่อาจารย์จะได้โหวตเป็นอธิการบดี อาจารย์กลับมาจากอังกฤษ เพราะต้องลี้ภัยการเมืองอยู่ช่วงหนึ่ง เนื่องจากมีความขัดแย้งกับจอมพลประภาส จารุเสถียร (รอง นรม.) ซึ่งเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงจำได้ ในช่วงที่จอมพลถนอมยึดอำนาจตัวเอง อาจารย์ป๋วยเขียนจดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง (รหัสเสรีไทยของท่าน) เขียนเตือนสติว่า การยึดอำนาจไม่ใช่ทางออกของสังคมไทย และอาจารย์ป๋วยก็พิสูจน์ว่าถูกต้อง เพียงแต่มีคนจำนวนมากยังไม่ยอมรับฟัง

อาจารย์ป๋วยรักธรรมศาสตร์ นักศึกษารักอาจารย์ป๋วย วันหนึ่ง อาจารย์กลับมาจากอังกฤษ ยังไม่ได้เป็นอธิการบดี นักศึกษาเศรษฐศาสตร์แถวๆ ตึกเศรษฐศาสตร์ มาเขียนตัวโตเลยว่า “เตี่ย กลับมาแล้ว”

อาจารย์ป๋วยเป็นคนแรกๆ ที่ขึ้นไปในตำแหน่งสูงมาก และพูดถึงกำพืดของตัวเองว่าเป็นลูกจีน หลานจีน แต่เกิดเมืองไทย ทำงานให้ประเทศไทย ผมว่าอาจารย์ป๋วยทำให้คนรู้สึกว่า ไม่ว่าคุณจะมาจากไหนก็ตาม แต่เมื่อคุณมาอยู่ด้วยกัน เราก็เป็นคนไทย เพียงแต่ว่าเราอาจจะเป็น จปล (เจ๊กปนลาว) จปม (เจ๊กปนมอญ) ฯลฯ ก็แล้วแต่นะครับ

ปกป้อง : ตลอด 1 ปี ที่อาจารย์ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับอาจารย์ป๋วย ในฐานะความเป็นมนุษย์ อาจารย์ป๋วยเป็นคนแบบไหน ในฐานะครู ท่านเป็นครูแบบไหน ในฐานะผู้บังคับบัญชา หัวหน้า เป็นหัวหน้าแบบไหน

ชาญวิทย์ : อาจารย์ป๋วยเป็นอาจารย์ป๋วยนะ หายาก คือเป็นคน เป็นมนุษย์ แล้วในความเป็นคน เป็นมนุษย์ ท่านก็มีอะไรอยู่ในนั้นหลายอย่าง ถ้าพูดอย่างเท่ๆ หรูๆ ก็ต้องบอกว่าเป็นคนประเภท “เรอเนสซองซ์ แมน” เป็นคนที่หลากหลาย ความสนใจกว้างมาก ดนตรีก็สนใจ ภาพเขียนก็สนใจ ประวัติศาสตร์ก็สนใจ เศรษฐศาสตร์ก็เป็นเศรษฐศาสตร์แนวหน้า ผมจำได้ว่าอาจารย์ชอบพูดว่าอาจารย์เรียน Economics and Politics ไม่ได้เรียน Economics อย่างเดียวนะ ไม่เชยๆ แบบบรรดาพวกกระแสหลัก ผมคิดว่าในความเป็นอาจารย์ป๋วย มีความหลากหลายมาก มันทำให้คนเข้าไปหาอาจารย์ป๋วยได้ในมิติต่างๆ

อย่างกรณีของผม ผมก็สามารถจะคุยประวัติศาสตร์กับอาจารย์ป๋วยได้ คือนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ประวัติศาสตร์ มันเหมือนอาจารย์ป๋วยเป็นคน well rounded เหมือนอย่างครั้งหนึ่ง ที่เราบอกว่ามหาวิทยาลัยที่ดีเยี่ยมต้อง well rounded ต้องรอบด้าน

อาจารย์เป็นคนแบบนั้น มันทำให้เรารู้สึกว่า…ตกเย็นนะ อาจารย์บอกไปกินข้าวดีกว่า อาจารย์ไปกินที่ไหนรู้ไหม ไปกินตลาดนานา บางลำพู มีตรอกซอกซอย สมัยนั้นยังไม่มีฝรั่งเต็มแบบปัจจุบัน อาจารย์ป๋วยไปกินตรงนั้น ผมก็เห็นคนมาเยอะนะ ในธรรมศาสตร์ ผมอยู่ธรรมศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2503 อธิการบดีที่เดินดิน ไปกินข้าวท่าพระจันทร์ กับศิริราช หรือบางลำพู ผมว่ามีไม่กี่คน

ปกป้อง : ในช่วงที่อาจารย์ป๋วยเป็นเสรีไทย โดดร่มมาติดต่อกับอาจารย์ปรีดี ทั้งสองท่านสัมพันธ์กันยังไง ได้เจอตัวไหม

ชาญวิทย์ : เมื่ออาจารย์ป๋วยโดดร่มลงมาได้ เขาไปเอาตัวอาจารย์มาได้ แล้วก็ไปพบกันที่บ้านอาจารย์วิจิตร ผมคิดว่าความสัมพันธ์อันนี้จะอยู่ต่อ เพราะหลังจากนั้น เมื่อหมดสงคราม เมื่ออาจารย์ปรีดีเป็นนายกฯ เมื่อในหลวงอานันท์ฯ กลับมา เมื่อเกิดกรณีสวรรคต (9 มิถุนายน 2489) อาจารย์ปรีดีก็ต้องลี้ภัยการเมือง ไปอยู่ปักกิ่ง 21 ปี แล้วก็ไปอยู่ปารีส ตอนนั้นแหละที่อาจารย์ป๋วยจะไปพบท่านในยุโรป

ปกป้อง : รูปที่ทั้งสองท่านนั่ง…

ชาญวิทย์ : รูปที่ทั้งสองท่านนั่งกัน อาจารย์บอกว่าไปพบในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์ อาจารย์ป๋วยอ่อนกว่าอาจารย์ปรีดี 16 ปี อาจารย์ป๋วยไปพบอาจารย์ปรีดีที่ต่างประเทศ รูปนั้นน่ะ น่าจะเอามาสร้างเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชน

ปกป้อง : มรดกทางความคิดที่อาจารย์ป๋วยทิ้งไว้ เรื่องการเมือง เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสันติวิธี อะไรไว้ในสังคมไทย แล้วปัจจุบัน มรดกทางความคิดเหล่านี้อยู่อย่างไรในสังคมไทยปัจจุบัน ที่เรามีวิกฤตการเมือง วิกฤตประชาธิปไตย มันเป็นคำตอบให้กับสังคมไทยได้ไหม

ชาญวิทย์ : การที่คนจำนวนมากลุกขึ้นมา แล้วบอกว่าจะทำงานร้อยปีอาจารย์ป๋วย มันเป็นสิ่งที่ประเสริฐมากๆ มันแปลว่า มรดกความคิดของอาจารย์ป๋วยยังอยู่ ไม่ว่าจะเรื่อง “สันติประชาธรรม” เรื่องการกระจายเสรีภาพทางการศึกษา เรื่องวิธีคิดเรื่องการกระจายรายได้ ผมว่ามันอยู่เยอะมาก แล้วก็ที่เราพูดกันเรื่องคอร์รัปชั่น ผมคิดว่ามรดกของอาจารย์ป๋วย บางทีเราก็ได้ยินคนบอกว่า อาจารย์ป๋วยก็รับใช้เผด็จการ แต่ผมว่าอาจารย์ป๋วยเป็นข้าราชการ ที่ทำงานให้ข้าราชการ ไม่ได้ทำงานให้ใครคนใดคนหนึ่ง

แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องแสดงจุดยืนของอุดมการณ์ อาจารย์ก็มีความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะทำ ตัวอย่างอันดีก็คือ “จดหมายของนายเข้ม เย็นยิ่ง” ที่มีความกล้าหาญที่จะเขียนจดหมายนั้น

ปกป้อง : จดหมายฉบับนั้นสำคัญอย่างไรในตอนนั้น

ชาญวิทย์ : มันเป็นการตอกย้ำจิตสำนึกว่า คำตอบของประเทศไทยอยู่ที่ประชาธิปไตย อยู่ที่มีรัฐธรรมนูญ อยู่ที่มีการเลือกตั้ง อยู่ที่การให้โอกาสคนจำนวนมาก มีสิทธิ มีส่วน มีเสียง ไม่ใช่เอาคนมีปริญญาเอก 3 ใบ แล้วบอกว่าตัวเองต้องมีคะแนนมากกว่าคนอื่น ผมว่ามันตอกย้ำอันนั้น

สิ่งที่ผมคิดว่ามันดีมากๆ คือการที่คนจำนวนมากลุกขึ้นมาบอกว่าอยากทำงานร้อยปีอาจารย์ป๋วย อยากจะสืบมรดกอะไรบางอย่างของอาจารย์ป๋วย ผมอยากเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยพยายามจะลบภาพอาจารย์ป๋วยออกจาก 6 ตุลาคม 2519 เราต้องไม่ลืมว่า มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากในรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 อาจารย์ป๋วยเป็นคนแรกๆ ที่บาดเจ็บในเหตุการณ์นี้

ปกป้อง : อาจารย์ป๋วยทิ้งมรดกทางความคิดอะไรด้านการศึกษาให้กับสังคมไทย

ชาญวิทย์ : อาจารย์ป๋วยเข้ามาอยู่ในธรรมศาสตร์ เป็นคณบดี กับเป็นอธิการบดี เข้ามาในช่วงซึ่งมหาวิทยาลัยของไทยขาดแคลนห้องสมุดดีๆ ขาดแคลนหนังสือวิชาการดีๆ อาจารย์ก็ผลักดันเรื่องนี้ ผมคิดว่าศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง มันก็โอเค ไม่ดีเท่าของจุฬาฯ แต่ก็เป็นการผลักดันของอาจารย์ป๋วย

อีกอย่างหนึ่งที่ผมออกตัวเป็นพิเศษ คือ มูลนิธิโครงการตำราสังคมมนุษยศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ป๋วยตั้งเอาไว้เมื่อปี 2509 มูลนิธิจะครบรอบ 50 ปีเมื่ออาจารย์ป๋วยครบรอบ 100 ปี ครึ่งต่อครึ่ง อันนี้ก็เป็นความคิดความอ่านของคนแบบอาจารย์ป๋วย ที่บอกว่ามันต้องมีหน่วยงานที่ทำงานแบบนี้ ในเมื่อมหาวิทยาลัยยังไม่เข้มแข็งพอในปี 2509 อาจารย์ก็ตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมา แล้วคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอย่างดี ต่องานให้อาจารย์ป๋วย ก็คืออาจารย์เสน่ห์ จามริก ซึ่งเป็นประธานต่อจากอาจารย์ป๋วย ตอนนี้เราก็มาถึงประธานคนที่ 3 คือ อาจารย์เพ็ชรี สุมิตร

แล้วผมก็เล่นเกมนี้ต่อ นับตั้งแต่กลับมาจากเมืองนอกแล้ว เล่นเกมเป็นเลขานุการ เป็นกรรมการ เป็นตัววิ่ง ผมกลับมา ผมอายุยังน้อยอยู่ 30 ต้นๆ ก็เป็นตัววิ่ง ผมมาดูแล้ว แรกเริ่มเดิมทีอาจารย์ป๋วยกับอาจารย์เสน่ห์ก็ไปขอความสนับสนุนมาจากร็อกกี้ เฟลเลอร์ ได้มา 1 ล้านบาท อาจารย์เกริกเกียรติ (พิพัฒน์เสรีธรรม) กับผม กับอาจารย์ชลธิรา (สัตยาวัฒนา) เราก็ไปดูตึกห้องแถวฝั่งธนฯ ไปซื้อไว้สมัยที่อาจารย์ป๋วยอยู่ มีที่ทำงาน มีเจ้าหน้าที่สองสามคน แล้วก็ทำงานผลิตตำรากันมาจนถึงทุกวันนี้

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ , ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ , ปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

พอมารุ่นอาจารย์ชาญวิทย์ อาจารย์ชาญวิทย์สนิทสนมกับญี่ปุ่น ก็ได้รับการสนับสนุนจากโตโยต้า เจแปน แล้วในตอนหลังก็เป็นโตโยต้า ไทยแลนด์

ทั้ง Toyota Thailand และ Toyota Japan สนใจเรื่อง Southeast Asia หรือ ASEAN จากการที่อาจารย์ป๋วยได้วางเมล็ดพืชเอาไว้ ในข้อคิดเรื่อง The Quality of Life of a South-East Asian (A Quality of Hope from Womb to Tomb ที่แปลเป็นไทย และรู้จักกันดี “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน”)

เป็นประเด็นที่ทำให้ผมจับว่า อันนี้แหละ ไปเจรจาทุนเกี่ยวกับ Southeast Asia ได้ทำหนังสือหนังหาเกี่ยวกับอุษาคเนย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาเซียน ได้ห้องหนังสือเกี่ยวกับทั้งอาจารย์ป๋วย ทั้งอุษาคเนย์ ที่ห้องสมุดใต้ดิน ที่ท่าพระจันทร์ เพิ่มจากที่มีที่คณะเศรษฐศาสตร์มาก่อน แล้วในที่สุดก็จะมีศูนย์ใหม่ๆ ที่รังสิต เราก็เลยได้หนังสือเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเยอะ รวมทั้งห้องเพิ่มขึ้นมาอีกห้องหนึ่ง มีที่ตึกเศรษฐศาสตร์แล้ว มีที่รังสิตแล้ว ก็ไม่เป็นไร มีอีกก็ได้ ห้องที่เอาหนังสือเกี่ยวกับเอเชีย อาเซียน ไปใส่ไว้อีกที่หนึ่ง

ปกป้อง : ธรรมศาสตร์ยุคนี้ต่างจากธรรมศาสตร์ยุคอาจารย์ป๋วยอย่างไรบ้าง

ชาญวิทย์ : สิ่งซึ่งคนจำนวนมากไม่มี สิ่งซึ่งคนที่เป็นผู้นำ เป็นนายกฯ เป็นรัฐมนตรี หรือเป็นอธิการบดีไม่มี คือสร้างแรงบันดาลใจไม่ได้ จืด แต่อาจารย์ป๋วยสร้างแรงบันดาลใจได้ อาจารย์อาจจะพูดไม่กี่คำ แต่คนบอกว่าใช่ ผมว่านักการศึกษาไม่ใช่คนที่ทำงานประจำ ผมไม่อยากพูดในเชิงดูถูกกันมากเกินไป แต่คนที่เป็นนักการศึกษา คนที่เป็นผู้นำ ต้องสร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้คนบอกว่า ใช่แล้ว อันนั้น เราต้องทำ

ปกป้อง : ถ้าประเมินช่วงชีวิตอาจารย์ป๋วย อะไรคือความสำเร็จ อะไรคือความล้มเหลว

ชาญวิทย์ : ถ้าเราดูอาจารย์ป๋วยมาจนกระทั่งอายุ 60 เราต้องพูดว่าอาจารย์ป๋วยประสบความสำเร็จมาก แล้วก็ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ในความเป็นคนคนหนึ่งที่ออกมาอยู่แถวหน้าของสังคมไทย เป็นคนธรรมดา เป็นลูกคนจีน แต่ก็มาได้ไกลและสูงมาก เราต้องถือเป็นความสำเร็จในชีวิตมาก แต่เป็นความสำเร็จที่อาจารย์ไม่ได้สำเร็จเพื่อตัวเองเฉยๆ แต่เป็นความสำเร็จเพื่อคนจำนวนมาก อันนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่าประเสริฐสุด

ปกป้อง : อาจารย์ป๋วยอยู่ใน “ความเงียบ” 22 ปี แล้วเราได้ยินเสียงอะไรจาก “ความเงียบ”

ชาญวิทย์ : ความเงียบ 22 ปี อาจารย์ป๋วยก็ส่งกระแสมาเป็นระยะๆ ด้วยลายมือที่บิดเบี้ยว ด้วยการแสดงจุดยืนบางอย่าง ใน “ความเงียบ” นั่นก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อย ยังมีภาพของคน ซึ่งต้องการ “สันติ” ต้องการ “ธรรมะ” ต้องการ “ประชาธิปไตย” กับการที่บอกเราว่า ลาภยศ สรรเสริญ มันเล็กน้อยเกินไป

ธรรมศาสตร์เคยพยายามที่จะให้ปริญญาดุษฎีอาจารย์ป๋วย ธรรมศาสตร์เคยพยายามที่จะให้รางวัลธรรมศาสตราจารย์แก่อาจารย์ป๋วย อาจารย์ป๋วยตอบว่า “รับไม่ได้”

กว่าท่านจะยอมรับก็ใช้เวลาอีกนาน ถึงแม้ใน “ความเงียบ” นั้น อาจารย์ก็ยังบอกเราว่า นี่คือสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งเราจำนวนมากเลยก็ยังไม่ตระหนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image