รพ.จุฬาภรณ์ เปิด”คลินิกรักษ์สมอง” แก้ปัญหาผู้สูงวัย

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นางสุพรรณี เลิศผดุงกุลชัย รักษาการรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ฝ่ายการพยาบาลและกิจการพิเศษ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดคลินิกรักษ์สมอง เพื่อให้บริการตรวจคัดกรองและดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ว่า ประเทศไทยพบความชุกผู้ป่วยสมองเสื่อมในวัยสูงอายุร้อยละ 12.4 ของประชากรผู้สูงอายุ หรือกว่า 400,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและสัดส่วน และคาดว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ปัญหาภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งคัดกรองและป้องกัน เพื่อช่วยยืดอายุสมองให้ใช้งานได้นานมากขึ้น และเพื่อเป็นการสานต่อพระปณิธานใน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานโรงพยาบาลฯ ที่ปรารถนาให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ เป็นแหล่งศึกษาวิจัย ถ่ายทอดความรู้ การให้บริการแก่ผู้ป่วยร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทางโรงพยาบาลจึงได้ ก่อตั้ง “คลินิกรักษ์สมอง” พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2559 โดยจะให้บริการทุกเสาร์ตั้งแต่เวลา 08.00-12.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2576-6000 มีทีมแพทย์เฉพาะทางและเทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมประเมินและให้การรักษา

นางสุพรรณี กล่าวว่า ผู้เข้ารับโปรแกรมทุกคนจะได้รับการประเมินภาพรวมของร่างกายเบื้องต้น อาทิ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ การประเมินศักยภาพทางสมองและจิตวิทยาการ นอกจากนี้ ผู้เข้ารับโปรแกรมทุกคนจะต้องเข้าโปรแกรมการพัฒนาศักยภาพสมอง เพื่อส่งเสริมทักษะในการแก้ปัญหาและกระบวนการทางความคิด

ด้าน พญ.บุราเพ็ญ บุญชู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะสมองเสื่อม มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ อาทิ จากโรคอัลไซเมอร์ ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิส เอชไอวี หรืออาจเกิดจากการทำงานต่อมไร้ท่อผิดปกติ ส่วนหนึ่งเกิดจากโรคประจำตัว อย่างโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น เนื่องจากส่งผลต่อการทำงานของหลอดเลือดสมอง ซึ่งสัญญาณของโรค คือผู้ป่วยจะเริ่มมีความจำเสื่อมถอย หลงๆลืมๆ จนเปลี่ยนไปจากคนเดิม คือไม่สามารถทำบางสิ่งบางอย่างเหมือนเดิมได้ ซึ่งการรักษาโรคนี้นั้นไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงให้ยาเพิ่มประสิทธิภาพของสมองและชะลอความเสื่อมถอย ควบคู่ไปกับการรักษาโรคประจำตัว และการสร้างกิจกรรมฝึกทักษะทางความคิด
“การป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดคือ ผู้สูงอายุควรมีกิจกรรมยามว่างหรือออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรอยู่เฉยๆ เพื่อให้สมองได้ทำงาน อาทิ การทำบุญตักบาตร การรำไทเก็ก เต้นลีลาศ โยคะ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและครอบครัว อย่างการเลี้ยงหลาน เป็นต้น ที่สำคัญควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากมีโรคประจำตัวก็ควรดูแลอย่างใกล้ชิด จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้” พญ.บุราเพ็ญ กล่าว

12718009_10154052869443377_1600603563957316184_n

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image