ทหารกับการเมืองไทย : โดย สร อักษรสกุล

ทหารกับการเมืองไทยน่าจะมีมาตั้งแต่ประเทศไทยก่อตั้งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเป็นประเทศตั้งแต่มีการ
ตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้น ซึ่งตามประวัติศาสตร์ คือเมื่อปีพุทธศักราช 1800

ส่วนก่อนหน้านั้นคนไทยหรือคนที่เรียกตนเองว่า ไทหรือไทย คงอาศัยอยู่ในแถบแหลมทอง หรือบริเวณใกล้เคียงโดยอยู่กันกระจัดกระจาย ไม่ได้รวมตัวตั้งเป็นอาณาจักรแต่อย่างใด

เราจึงนับปีพุทธศักราช 1800 เป็นปีแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งหากนับถึงปัจุบันนี้ เป็นเวลาถึง 761 ปีแล้ว ถือว่าไทยเรามีประวัติศาสตร์อันยาวนานทีเดียว

เมื่อพระมหากษัตริย์ของประวัติศาสตร์ชาติไทยคือผู้นำสูงสุดของราชอาณาจักร พระมหากษัตริย์จึงเท่ากับเป็นผู้บัญชาการทัพสูงสุดด้วยเช่นกัน และแทบจะทุกครั้งในการต่อสู้เพื่อการป้องกันราชอาณาจักรและเพื่อการขยายอาณาจักร

Advertisement

พระมหากษัตริย์กับผู้นำทางทหารในอดีตจึงเท่ากับเป็นคนเดียวกันตั้งแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ และจวบจนถึงสมัยของพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยองค์ที่ 7 ในราชวงศ์จักรี

เป็นที่ทราบกันดีว่าในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์พินิจทรงเป็นผู้ควบคุมหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ทั้งทหารและตำรวจ เมื่อคณะราษฎรทำการยึดอำนาจจากพระมหากษัตริย์ จึงต้องควบคุมตัวกรมพระนครสวรรค์พินิจไว้ให้ได้ด้วย ในขณะที่ช่วงดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรมอยู่ที่พระราชวังไกลกังวลหัวหิน

หลังจากคณะราษฎร ที่ประกอบด้วยคณะนายทหารและพลเรือน ทำการยึดอำนาจจากพระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 (ทั้งที่พระองค์ได้เตรียม การที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้กับประชาชนอยู่แล้ว) คณะทหารไทยซึ่งส่วนมากเป็นนายทหารบกได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจกันเอง โดยครั้งแรกพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 20 มิถุนายน 2476 (ยังไม่ทันครบปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง)

Advertisement

หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เกิดการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลโดยนายทหารเรื่อยมาเป็นระยะๆ จนถึงครั้ง
ล่าสุดเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยอดีตผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายทหารที่ทำการยึดอำนาจแล้วสถาปนาตนเองเป็นผู้นำประเทศนานถึง 5 ปี คือ จอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ ตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2501 เป็นนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งเสียชีวิตในตำแหน่งเมื่อ 8 ธันวาคม 2506
หลังจากนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีปกครองประเทศต่อโดยปราศจากรัฐธรรมนูญและรัฐสภา จนกระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และมีการเลือกตั้งเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2512 เท่ากับว่าจอมพลถนอม กิต ติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร (โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) นานที่สุดถึง 6 ปี

หลังการเลือกจอมพลถนอม ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งภายใต้การสนับสนุนของพรรคสหประชาไทย ที่จอมพลถนอมจัดตั้งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นพรรคทหาร จนในที่สุดจอมพลถนอม ทนกับระบบรัฐสภาไม่ได้จึงทำการรัฐประหารรัฐบาลของตนเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514

ส่วนนายทหารที่ทำการยึดอำนาจรัฐประหารแล้วสถาปนาตนเองเป็นผู้นำประเทศที่นานรองจากจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นจะได้แก่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 นั้น เป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันก็ร่วม 4 ปีแล้ว และแน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีไปจนครบ 4 ปี ส่วนจะถึง 5 ปีหรือไม่ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้

หากเป็นไปตามโรดแมป (Road map) ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศให้ทั้งประชาชน
ชาวไทยและในเวทีโลกว่าไทยจะมีการเลือกตั้ง
ภายในปีนี้ (2561)

ส่วนจะขยับเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกหนึ่งเดือน สองเดือน หรือสามเดือนก็แล้วแต่การพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับของ สนช. ซึ่งเชื่อว่า สนช.จะสามารถพิจารณาให้เสร็จได้โดยเร็วภายในกำหนดเวลาได้

ตลอดระยะเวลากว่า 8 ทศวรรษ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 ถึงปัจจุบันประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้วทั้งสิ้น 29 คน เป็นนายกฯพลเรือนจำนวน 11 คน ส่วนอีก 18 คน เป็นนายกรัฐมนตรีทหารที่มาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (ยกเว้นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกชาติชาย
ชุณหะวัณถือว่าเป็นนายทหารที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีโดยระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ)

การเข้ามายึดอำนาจทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของนายทหารที่ผ่านๆ มา ฝ่ายทหารมักมีข้ออ้างและเหตุผล
ในการยึดอำนาจกับประชาชนเสมอ แต่ส่วนมากเป็นที่รู้กันว่าทำเพื่อพวกพ้องและเพื่อตนเองแทบทั้งสิ้น

เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์วุ่นวายและรุนแรงกลางเมืองกรุงช่วงเดือนเมษา พฤษภา 2553 ประชาชนหลายกลุ่มเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ ควบคุมความวุ่นวายที่เกิดขึ้น แต่พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ก็ไม่ได้ออกมายึดอำนาจแต่อย่างใด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายของบ้านเมือง เมื่อก่อนเดือนเมษาเรื่อยมาถึงพฤษภา 2557 ขึ้นอีก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกมายื่นข้อเสนอให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ลาออก เพื่อความสงบของบ้านเมือง เมื่อรัฐบาลไม่ยอมลาออก พลเอกประยุทธ์ จึงประกาศยึดอำนาจทันที

และดูเหมือนว่าคนไทยส่วนมากโดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯในขณะนั้น รวมทั้งผู้เขียนด้วยที่โล่งอกไปได้ เพราะทราบกันดีว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจจะมากกว่าเหตุการณ์เดือนเมษา พฤษภา 2553 หรือที่หลายคนคิดว่าน่าเกิดสงครามกลางเมืองหลวงขึ้น ซึ่งจะทำคนไทยจะต้องมาฆ่าฟันกันเอง

และเมื่อผู้นำในการทำรัฐประหารในครั้งนี้ มีเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้านให้สำเร็จก่อน แล้วจึงจะให้มีการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้ประชาชนชื่นชอบมากขึ้น เพราะแต่ละคนมองเห็นว่า หากปล่อยให้มีการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 ไปอย่างนี้ ประเทศไทยจะวนเวียนกลับมาสู่วงจรอุบาทว์อีก ไม่มีวันจบสิ้น

กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ถึงกับประกาศสนับสนุนแนวทางของคณะรักษาความสงบ
แห่งชาติหรือ คสช.ทันที เพราะมีเจตนารมณ์ตรงกันว่าจะต้องปฏิรูปประเทศก่อนให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เพื่อความสงบสุขระยะยาวของประเทศชาติ

การเข้ามาเป็นผู้นำประเทศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการยึดอำนาจในครั้งนี้ จึงเป็นที่ยอมรับของคนในประเทศจำนวนไม่น้อย กอรปกับพลเอกประยุทธ์ ได้ดำเนินการบริหารประเทศได้ค่อนข้างดี และทำให้ประเทศอยู่ในความสงบได้ ทำให้ประชาชนจำนวนมากต่างเชียร์ให้นายกฯประยุทธ์ อยู่เป็นนายกรัฐมนตรีไปนานๆ

แต่อย่าลืมว่า อำนาจ มักทำให้คนเหลิงและติดกับอำนาจได้เสมอ จนทำให้ลืมไปได้ว่าตนเองได้สัญญาอะไรไว้กับประชาชน

ครับ หลายคนยังไม่ลืมเพลงฮิตที่แต่งโดยพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา….(ที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะได้ยินแล้ว)

เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน……………

สร อักษรสกุล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image