กองทัพอาณานิคม โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ด้วยความตระหนักถึงภยันตรายต่อบ้านเมืองภายใต้อำนาจของ คสช.ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จึงมีผู้เสนอความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทหารหนุ่มซึ่งห่วงใยอนาคตของชาติ จะลุกขึ้นมายึดอำนาจจากนายทหาร คสช.เสียที พูดอีกอย่างหนึ่งคือให้ทหารหนุ่มทำรัฐประหารซ้อน

อำนาจกดขี่อย่างหนักที่คณะรัฐประหารกระทำแก่ประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจที่ความคิดของคนเก่งคนฉลาด อาจตื้นเขินลงได้ถึงขั้นนี้

จากประสบการณ์ในอดีตของหลายประเทศ รัฐประหารซ้อนของทหารหนุ่ม (ชั้นรองลงมาจนถึงระดับนายร้อย เช่นกาดาฟี) นำมาซึ่งระบอบเผด็จการรวมศูนย์ที่ยิ่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้น หลายครั้งด้วยกัน ผู้นำรัฐประหารซ้อนได้อำนาจท่ามกลางปรปักษ์หลากหลาย นับตั้งแต่นายทหารระดับสูงที่ไม่แสดงท่าทีชัดเจน, นายทุนใหญ่ซึ่งสัมพันธ์กับทุนนิยมโลกอย่างแนบแน่น, คนชั้นกลางที่เสวยผลประโยชน์อยู่กับระบอบเก่า, ไปจนถึงปัญญาชนบางกลุ่ม ฯลฯ ในขณะที่ผู้นำรัฐประหารซ้อนก็ยังผนึกอำนาจของตนได้ไม่เต็มที่

เหลือวิถีทางเดียวที่จะรักษาอำนาจของตนไว้ได้คือโหดให้สุดสุด ว่ากันว่าระบอบของซัดดัม ฮุสเซน (ซึ่งไม่ได้มีฐานอำนาจที่กองทัพ แต่อาศัยกองกำลังของ กอ.รมน.ที่ตนสร้างขึ้นไว้อย่างมหึมา) สังเวยชีวิตคนไป 250,000 คน ตลอดเวลาที่เขาถืออำนาจอยู่ ตัวเลขนี้อาจถูกปั้นขึ้นจากโลกตะวันตกซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อเขา แต่ที่แน่นอนคือมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เพียงแค่ 50,000 ก็น่าตกใจแล้ว หากประเทศไทยต้องเสียกำลังคนไป 50,000 ในเวลาไม่กี่ปีหลังรัฐประหารซ้อน โดยปราศจากบ่อน้ำมันที่มากพออย่างอิรัก เศรษฐกิจและสังคมไทยจะโงหัวไม่ขึ้นไปอีกหลายชั่วอายุคน … ลืมทศวรรษที่สูญหาย ซึ่งเราเผชิญอยู่เวลานี้ไปได้เลย

Advertisement

ที่น่าวิตกกังวลมากกว่าความเสียหายจากรัฐประหารซ้อนโดยบางส่วนของกองทัพก็คือ เมืองไทยจะหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ของการผลัดกันยึดอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมใดๆ ได้อย่างไร เพียงแต่ขจัดเหลือบฝูงนี้ ด้วยเหลือบฝูงใหม่วนเวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุดกระนั้นหรือ อย่าลืมว่าฝูง “เหลือบ” ในเมืองไทยนั้นหากินอยู่บน “ระบบเหลือบ” ถึงจะเปลี่ยนฝูงอย่างไรก็ไม่บังเกิดผล แม้แต่ “นักบุญ” ที่ดิ้นรนเข้ามามีบทบาทใน “ระบบเหลือบ” ในที่สุดก็แปลงตนเองเป็นฝูงเหลือบไปไม่ใช่หรือ … ก็เห็นๆ กันอยู่

แต่ผมไม่ค่อยวิตกกังวลกับการรัฐประหารซ้อนของทหารหนุ่มในเมืองไทยเท่าไร เพราะผมออกจะมั่นใจว่า ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า กองทัพไทยเป็นหนึ่งในสองกองทัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัจจุบัน ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “กองทัพอาณานิคม” อีกประเทศหนึ่งคือฟิลิปปินส์ และในกองทัพอาณานิคม “ทหารหนุ่ม” หรือหน่วยทหารเพียงบางหน่วยจะไม่สามารถทำรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จ ไม่ใช่ไม่เคยพยายามนะครับ เคยทำมาแล้วทั้งในไทยและฟิลิปปินส์ แต่ไม่เคยสำเร็จสักครั้ง

(บางคนอาจนึกท้วงว่า ก็การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิ.ย.2475 ไงเล่า คือการยึดอำนาจได้สำเร็จของ “ทหารหนุ่ม” โดยแท้ แต่คณะราษฎรไม่ใช่กลุ่มของทหารในกองทัพเพียงอย่างเดียว แตกต่างจากกลุ่ม Free Officers ของกามัล อับเดล นัสเซอร์ หรือโมอามาร์ กาดาฟี ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้ทำงานในกองทัพเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่าได้เคลื่อนไหวกับกลุ่มอื่นๆ นอกกองทัพมานานแล้ว โดยเฉพาะกรณีนัสเซอร์ คณะราษฎรไม่ได้เคลื่อนไหวกับกลุ่มอื่นมาก่อนก็จริง แต่ข้อเรียกร้องของคณะราษฎรตรงใจของคนชั้นกลางส่วนใหญ่ในเมืองขณะนั้น ซึ่งต้องไม่ลืมด้วยว่ามีขนาดเล็กนิดเดียว)

Advertisement

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ต้องเข้าใจธรรมชาติของกองทัพอาณานิคมเสียก่อน

ตกมาถึงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ดูเหมือนเขตอิทธิพล, เขตผลประโยชน์ และอาณานิคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เป็นที่ยอมรับกันระหว่างมหาอำนาจตะวันตกไปเรียบร้อยแล้ว บางส่วนมีสนธิสัญญายอมรับระหว่างกันด้วย เช่นหมู่เกาะอินเดียตะวันออก (อินโดนีเซีย) เป็นของเนเธอร์แลนด์โดยคำรับรองของอังกฤษ ในทางตรงกันข้าม “นิคมช่องแคบ” (สิงคโปร์, มะละกา, ปีนัง) ก็เป็นของอังกฤษด้วยคำรับรองของเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งรัฐมลายูทั้งหลายก็อยู่ในเขตอิทธิพลและผลประโยชน์ของอังกฤษอย่างไม่มีมหาอำนาจอื่นใดโต้แย้ง ซึ่งอังกฤษจะรวมเป็นอาณานิคมในเวลาต่อมา

เช่นเดียวกับโคชินไชนาเป็นของฝรั่งเศสอย่างปราศจากการโต้แย้งจากมหาอำนาจตะวันตกอื่น ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าฝรั่งเศสย่อมสามารถใช้เป็นฐานขยายอาณานิคมของตนเข้าไปยังอันนัม, ตังเกี๋ย, กัมพูชา, และรัฐแว่นแคว้นสามแห่งในลาวได้

เหลือเฉพาะดินแดนบางส่วนที่มหาอำนาจอาจยังแย่งกันไม่ลงตัว เช่น ลุ่มน้ำโขงตอนบน รัฐมลายูตอนเหนือ, ดินแดนด้านตะวันตกของกัมพูชา, และประเทศสยาม แต่การเมืองระหว่างประเทศในยุโรปปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 บังคับให้มหาอำนาจตกลงกันได้โดยไม่ต้องรบกัน สยามกลายเป็นรัฐกันชนที่มหาอำนาจยอมรับรองเอกราช แม้เป็นดินแดนภายใต้เขตผลประโยชน์ของอังกฤษอย่างเต็มที่ก็ตาม

ด้วยเหตุดังนั้น ทุกประเทศ (รวมทั้งสยามด้วย) ก็รู้อยู่แก่ใจดีว่า ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องทำสงครามกับเพื่อนบ้าน หรือข้าต่างด้าวท้าวต่างแดนอื่นใด กองทัพอาณานิคมต่างๆ ที่สร้างขึ้นจึงไม่ได้มีไว้เพื่อสู้รบกับกองทัพของอริราชศัตรูหรือปัจจามิตรต่างแดนอื่นใดทั้งสิ้น แต่ต้องสร้างกองทัพขึ้นเพื่อรักษาความสงบภายใน พูดง่ายๆ ก็คือเป็นกำลังกำราบ (coercive power) สำหรับควบคุมคนภายใน

มหาอำนาจจักรวรรดินิยมล้วนสร้างกองทัพชาวพื้นเมืองขึ้นเพื่อเหตุดังกล่าวทั้งสิ้น ที่ต้องเป็นกองทัพชาวพื้นเมืองก็เพราะต้นทุนไม่สูงเกินไป หากต้องเกณฑ์หรือจ้างทหารผิวขาวจากบ้านตัวเองทั้งหมด ก็จะเป็นต้นทุนสูงเกินกว่าที่อาณานิคมจะให้ผลคุ้มค่า เพียงแต่มีผู้บังคับบัญชาระดับกองร้อยหรือกองพันขึ้นไปเป็นคนผิวขาวก็พอเพียงแล้ว

ชาติพันธุ์มีความสำคัญในกองทัพอาณานิคม นอกจากการบังคับบัญชาจะอยู่ในมือของคนผิวขาวแล้ว กำลังพลส่วนใหญ่มักเกณฑ์หรือจ้างจากชนส่วนน้อยในอาณานิคม หลีกเลี่ยงที่จะใช้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นกลุ่มหลัก ในพม่าไม่ใช้พม่า แต่ใช้กะฉิ่นและกะเหรี่ยง ซึ่งหมอสอนศาสนาได้ทำงานจนคริสต์ศาสนาตั้งมั่นขึ้นในสังคมของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้แล้ว เช่นเดียวกับในสหพันธรัฐมลายู ก็ไม่ใช้คนมลายู แต่อังกฤษขนเอาทหารอินเดียจากอินเดียเข้ามาประจำการแทน กองทัพอาณานิคมอินเดียตะวันออกใช้ชาวแอมบอยนาและชาวเกาะอีกบางแห่งในหมู่เกาะโมลัคคัส (ซึ่งเป็นคริสเตียน) เป็นกำลังพล หลีกเลี่ยงที่จะใช้ชาวชวา ในอินโดจีนของฝรั่งเศส ไม่มีทางเลือกจากชนกลุ่มน้อยได้ จึงใช้ชาวเวียดที่ยากจน ซึ่งรายได้จากกองทัพเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพที่มั่นคง (กว่าเป็นลูกนา ซึ่งภายใต้ฝรั่งเศสมีต้นทุนที่สูงมาก เพราะเจ้าที่ดินมักเรียกเก็บค่าเช่าก่อน)

สยามสร้างกองทัพสมัยใหม่ขึ้นตามต้นแบบกองทัพอาณานิคมทุกอย่าง เพียงแต่ทดแทน “ชาติพันธุ์” ด้วย “ชนชั้น” เท่านั้น เฉพาะเจ้านายหรือขุนนางสืบตระกูลที่น่าไว้วางใจเท่านั้นที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง โดยเฉพาะในหน่วยทหารที่คุมกำลังรบ และเฉพาะสมาชิกของครอบครัวที่สามารถส่งบุตรหลานให้เล่าเรียนจนจบมัธยมเท่านั้น จึงสามารถเข้าโรงเรียนนายทหารได้

การบริหารภายในและการจัดกำลังของกองทัพอาณานิคม มีจุดมุ่งหมายที่จะให้กลุ่มบังคับบัญชาซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า สามารถควบคุมกองกำลังของกองทัพซึ่งเป็นส่วนใหญ่ได้เด็ดขาด กองทัพเหล่านี้แทบขยับเขยื้อนเคลื่อนอะไรไม่ได้เลย จนกว่าจะได้รับคำสั่งอย่างเป็นทางการจากฝ่ายบังคับบัญชาเป็นลำดับขั้นขึ้นไป วิธีการมีหลายอย่าง เช่นหน่วยทหารแต่ละหน่วยไม่อาจเบิกอาวุธพร้อมสรรพออกปฏิบัติการใดๆ ได้ แม้ในยามฉุกเฉิน (ยุทธวิธีของฝ่ายทหารในคณะราษฎรคือทำให้สายบังคับบัญชาหมดสมรรถภาพสั่งการลงฉับพลัน ไม่อาจออกคำสั่งเคลื่อนกำลังเข้าบดขยี้ฝ่ายปฏิวัติซึ่งมีกำลังน้อยกว่าได้) กระจุกอาวุธและทหารที่เป็นกำลังหลักไว้ในความควบคุมใกล้ชิด (จนถึงทศวรรษ 2510 ทัพภาคหนึ่งและกองพลที่ 1 ซึ่งอยู่ส่วนกลางมีสมรรถนะเหนือกองทัพอื่นๆ อย่างเทียบกันไม่ได้ การปราบคอมมิวนิสต์ทำให้อาวุธทันสมัยที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐกระจายไปยังทัพภาคอื่น) และวิธีอื่นๆ

ด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ กองทัพอาณานิคมสามารถปราบกบฏชาวนา, กบฏชนกลุ่มน้อย, กบฏแข็งข้อต่อเจ้าอาณานิคม, กบฏเจ๊ก, กบฏผีบุญ, กบฏเงี้ยว และกบฏอื่นนานาชนิดได้อย่างราบคาบเสมอมา

สงครามกู้เอกราชของประเทศในเอเชียอาคเนย์ส่วนใหญ่ ทำให้กองทัพอาณานิคมแตกสลายลงหมด เกิดกองทัพ “ปฏิวัติ” ขึ้นในประเทศ เช่น พม่า, เวียดนาม และอินโดนีเซีย หากไม่เกิดกองทัพปฏิวัติ ก็เกิดกองทัพแห่งชาติในเวลาต่อมาดังเช่นในสิงคโปร์, มาเลเซีย, กัมพูชา และลาว ซึ่งไม่เคยมีกองทัพของตนเองมาก่อน

เหลือแต่กองทัพอาณานิคมซึ่งยังตกทอดมาถึงปัจจุบันในสองประเทศเท่านั้น คือ ไทยและฟิลิปปินส์ (และน่าสังเกตด้วยว่าเป็นเพียงสองกองทัพในภูมิภาคนี้ที่เข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม)

อันที่จริงฟิลิปปินส์มีกองทัพปฏิวัติมาก่อน และก่อนใครเพื่อนในภูมิภาคนี้ นั่นคือ กองทัพกาติปูนันของโบนีฟาซิโอ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อก่อการแข็งข้อกับสเปนใน ค.ศ.1896 ในปีต่อมาประธานาธิบดีคนแรกคืออากินัลโดประกาศเอกราช และตั้งกองทัพปฏิวัติขึ้น กองทัพฟิลิปปินส์ถือเอาวันที่ 22 มี.ค.1897 เป็นวันสถาปนากองทัพมาจนถึงทุกวันนี้

แต่ที่จริงแล้ว กองทัพปฏิวัติซึ่งลุกขึ้นต่อต้านอเมริกันนับตั้งแต่ 1898 เป็นต้นมา ถูกฝ่ายอเมริกันซึ่งเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมแทนสเปนบดขยี้จนย่อยยับไปหมดในเวลาต่อมา สหรัฐตั้งกองทัพฟิลิปปินส์ขึ้นใหม่จากกองกำลังเพื่อรักษาความสงบภายในที่อเมริกันสร้างขึ้น แล้วประกาศรับกองกำลังฟิลิปปินส์เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอเมริกันสืบมาจนให้เอกราชแก่ฟิลิปปินส์หลังสงคราม ดังนั้น ต้นกำเนิดที่แท้จริงของกองทัพฟิลิปปินส์คือกองทัพอาณานิคมที่อเมริกันสร้างขึ้นนั่นเอง ซึ่งทำให้กองทัพไม่เชื่อมโยงอะไรกับความเคลื่อนไหวชาตินิยมที่มีมาก่อนเลย

กองทัพอาณานิคมทั้งในไทยและฟิลิปปินส์ทำงานไม่ต่างจากสมัยอาณานิคมนัก นั่นคือคอยรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำซึ่งตอนนี้เป็นคนผิวสีเดียวกันแล้ว เช่นกลุ่ม “ผู้ดี” ซึ่งมีผลประโยชน์ปลูกฝังอยู่ในระบบแบบเดิม (เช่นเจ้าที่ดินรายใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าพ่อหรือ cacique ในชนบททั่วทุกหัวระแหง), นายทุนซึ่งคอยเอารัดเอาเปรียบแรงงาน และผลักดันนโยบายรัฐให้ลำเอียงเข้าหาผลประโยชน์ของฝ่ายตนเสมอ, คนชั้นกลางในระบบซึ่งขยายตัวมากขึ้น แต่เกาะแน่นอยู่กับระบบเดิมเพราะตัวได้เปรียบมาตลอด ฯลฯ

ดังนั้น แทนที่จะมานั่งฝันให้เกิดรัฐประหารซ้อนของทหารหนุ่ม เรามาร่วมกันฝันถึงวันที่ประชาชนจะได้ชัยชนะเด็ดขาดเสียทีไม่ดีกว่าหรือ เพื่อที่ว่าเราจะมีหนทางปรับเปลี่ยนกองทัพอาณานิคมให้เป็นกองทัพแห่งชาติ ซึ่งจะต้องอยู่ในกำกับควบคุมของรัฐบาลพลเรือน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง พอกันทีกับภารกิจของกองทัพที่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ นับตั้งแต่พิทักษ์ป่าไม้, บังคับใช้กฎหมายกับพลเมือง, กิจการต่างประเทศ, ไปจนถึงความมั่นคงที่ตัดสินใจเองเหมือนเป็นรัฐอิสระ ทั้งๆ ที่นโยบายความมั่นคงเป็นอาณาบริเวณที่ประชาชนต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอง

 

ผมไม่อยากให้มีกองทัพปฏิวัติ เพราะกองทัพปฏิวัติหากไม่รับใช้องค์กรปฏิวัติอย่างมืดบอด ก็รับใช้ตนเองอย่างมืดบอดเพียงฝ่ายเดียว ผมฝันเห็นกองทัพแห่งชาติ ซึ่งต้องอยู่ในอาณัติของประชาชน เพราะชาติจะมีความหมายอื่นไม่ได้นอกจากประชาชน

ผมไม่ปฏิเสธภาษิตจีนที่ว่า “เตียงเดียว แต่หลากฝัน” (One bed, different dreams.) ใครจะฝันอะไรก็ได้ ผมเพียงแต่ต้องการเล่าความฝันของตนเองดังๆ เท่านั้น ด้วยความหวังว่าจะมีประชาชนคนอื่นฝันตามบ้าง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image