วิพากษ์และข้อแนะนำเรื่องมลพิษอากาศของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ระหว่างงานอีไอเอโดย กฟผ. และผลที่นำเสนอโดยกรีนพีซ (ประเทศไทย)

ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ (ศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561) ผมได้ทราบและติดตามความเป็นไปเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา จึงพยายามศึกษาข้อมูลจากรายงานและเอกสาร [1-4] รวมทั้งข่าวในหนังสือพิมพ์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งหนึ่งในคำถามที่สำคัญคือ “คุณภาพอากาศจะดีแย่อย่างไรหลังจากสร้างและดำเนินการโครงการดังกล่าว” โดยดูเหมือนจะเป็นแก่นหรือหัวใจของข้อสงสัยกังวลจากภาคสังคม (ความจริงแล้ว คิดว่าผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากก็ยังคลุมเครืออยู่เหมือนกัน) ด้วยที่เป็นอาจารย์ที่ทำงาน/สอน/วิจัยในด้านนี้ จึงได้พยายามใช้เวลาศึกษาพิจารณาข้อมูลที่มีอยู่

จึงพบว่า ยังไม่ได้ผ่านการมองเปรียบเทียบทางวิชาการอย่างจริงจัง ข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะ “จึงไม่ชัดเจน มีลักษณะแบบลางเนื้อชอบลางยา” จึงได้ทำการวิพากษ์ประเด็นนี้และสรุปเป็นข้อแนะนำซึ่งสามารถทำได้จริงในกรอบวิชาการเพื่อลดหรือยุติความคลุมเครือดังกล่าว

โดยหลักการ การศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้านมลพิษอากาศ จะอาศัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษา ผลลัพธ์ที่ได้จากแบบจำลองจะเป็นค่าหรือแผนที่ความเข้มข้นของสารมลพิษในพื้นที่และตามเวลาต่างๆผลจำลองสามารถบอกค่าความเข้มข้นหลังสร้างและดำเนินการของโรงไฟฟ้าว่าสูงต่ำอย่างไร ซึ่งสามารถเทียบกับค่ามาตรฐานทางกฎหมายด้วยเพื่อตอบเรื่องความปลอดภัยในสุขภาพของสาธารณะ

ในกรณีนี้ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ (2,000 เมกะวัตต์) สารมลพิษพื้นฐานที่ควรพิจารณา คือ ก๊าชไนโตรเจนไดออกไซต์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซต์ ก๊าชโอโซน (ทุติยภูมิ) และฝุ่นขนาดเล็ก (PM10 และ PM2.5 ทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ) สำหรับสารมลพิษอื่นก็เพิ่ม
เติมได้ เช่น สารปรอท สารอินทรีย์ระเหยง่าย การตกสะสมกรด ฯลฯ

Advertisement

สารมลพิษปฐมภูมิจะถูกปล่อยจากแหล่งกำเนิดโดยตรงแต่สารมลพิษทุติยภูมิเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีหรือแปรรูปเชิงเคมีในบรรยากาศ

ก. วิพากษ์วิธีการศึกษาอีไอเอของ กฟผ. ผ่านบริษัทที่ปรึกษา [1]

ข้อดี

Advertisement

1.ใช้แบบจำลองการกระจายตัว AERMOD โดยครอบคลุมพื้นที่โรงไฟฟ้าและใกล้เคียง (30 กม.x30 กม.) และจำลองด้วยความละเอียดเชิงพื้นที่ที่สูง

2.พิจารณาสารมลพิษปฐมภูมิจำนวนมาก (รวมฝุ่น PM2.5 ปฐมภูมิ)

3.มองปัญหาทั้งระยะก่อนดำเนินการและเมื่อโรงไฟฟ้าดำเนินการ ให้ที่มาที่ไปของปริมาณการปล่อยสารมลพิษจากแหล่งกำเนิด ในภาพรวม แนวทางจำลองสอดคล้องกับคู่มือแนวทางการใช้แบบจำลอง [4] โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แม้ว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่หลายส่วน

ข้อด้อย

1.ตัวแบบจำลองมีข้อจำกัดสำหรับการประยุกต์ใช้ในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งมวลอากาศจะหมุนเวียนง่าย ควรใช้แบบจำลองมาตรฐานทางเลือกอื่นตามที่คู่มือได้แนะนำไว้

2.ไม่ได้พิจารณาสารมลพิษทุติยภูมิ

3.มิได้ประเมินหรือแสดงเทียบผลจำลองกับค่าตรวจวัด ทำให้ไม่ทราบความน่าเชื่อถือผลจำลอง (หมายเหตุ : ไม่ใช่การตรวจสอบ/สอบเทียบตัวแบบจำลอง เพราะเป็นแบบจำลองมาตรฐาน แต่ประเมินผลทำนายจากการจำลองว่าสอดคล้องกับค่าตรวจวัดมากน้อยอย่างไร)

4.การกำหนดค่าตัวแปรพื้นผิวบางตัวยังไม่เหมาะสม ซึ่งตัวแปรเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความถูกต้องของผลจำลองได้มาก

ข. วิพากษ์ผลที่นำเสนอโดยกรีนพีซ (ประเทศไทย) [2]

ข้อดี

1.การจำลองมีความเหมาะสมกับสภาพอากาศที่ซับซ้อนของพื้นที่ชายฝั่งและยังช่วยสร้างมิติของสารมลพิษทุติยภูมิได้ แต่มีข้อสังเกตว่า ผลจำลองที่นำเสนอผ่านสื่อนั้นมาจากแบบจำลองการกระจายตัว CALPUFF โดยใช้ข้อมูลนำเข้าจากผลลัพธ์จากแบบจำลองเคมีบรรยากาศ GEOS-CHEM (หมายเหตุ : GEOS-CHEM เป็นแบบจำลองความละเอียดต่ำไม่สามารถนำมาใช้กับการศึกษาพื้นที่เฉพาะแหล่งได้จึงต้องใช้แบบจำลอง CALPUFF เป็นตัวต่อ)

2.ให้ความสำคัญกับฝุ่น PM2.5 โดยจำลองที่ความละเอียดในระดับที่ไม่สูงแต่ก็ไม่ต่ำ เพียงพอกับการบอกภาพรวมของฝุ่นจากโรงไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งถูกต้องในแง่ที่ว่าฝุ่น PM2.5 โดยเฉลี่ยสามารถอยู่ในบรรยากาศได้หลายวันและสามารถถูกพัดพาหรือกระจายไปยังพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลได้

ข้อด้อย

1.มิได้พิจารณาหรือแสดงรายละเอียดทางเทคนิคของสภาพพื้นที่ของระยะก่อนดำเนินการและเมื่อโรงไฟฟ้าดำเนินการ รวมทั้งรายละเอียดที่น้อยมากสำหรับวิธีการจำลองและข้อมูลในพื้นที่นำเข้า เมื่อเทียบกับงานอีไอเอของ กฟผ. นอกจากนั้น ปีฐานข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการจำลองอาจเก่าไม่เป็นตัวแทนที่เหมาะสม ในภาพรวม จึงเป็นการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น

2.มิได้ประเมินหรือแสดงเทียบผลจำลองกับค่าตรวจวัด ทำให้ไม่ทราบความน่าเชื่อถือผลจำลอง

3.จากแผนที่ความเข้มข้นฝุ่น PM2.5 (ผมพยายามอ่านจากแผนที่อย่างรอบคอบ) พบว่า ความเข้มข้นของฝุ่นจากการจำลองไม่ได้เกินค่ามาตรฐานรายวันและรายปี ทั้งมาตรฐานของไทยและองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงอาจจะยังไม่เป็นที่ประจักษ์ว่าโรงไฟฟ้าจะก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 อย่างรุนแรงหรือมีนัยสำคัญ

4.จำนวนสารมลพิษที่พิจารณาไม่มากเหมือนงานอีไอเอของ กฟผ.

ข้อแนะนำ

สรุปทั้งสองงานมีทั้งข้อดีและข้อด้อย งานอีเอไอของ กฟผ. ให้รายละเอียดชัดเจนแต่อ่อนในเรื่องเทคนิคบางอย่างและหลักการวิชาการยังไม่ดีสำหรับนำมาใช้โครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ ขณะที่กรีนพีซ (ประเทศไทย) ได้เน้นประเด็นเรื่องฝุ่นขนาดเล็กจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นประเด็นร่วมสมัย แต่ผลที่นำเสนอนั้นยังอยู่ระดับเบื้องต้นเท่านั้นและยังขาดรายละเอียดทางเทคนิคหลายอย่างในการพิจารณา

แม้ว่าผลจำลองของทั้งสองงานยังไม่ได้บ่งชี้ถึงสภาพการณ์คุณภาพอากาศที่จะ
เลวร้ายหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญหรือรุนแรง ถึงกระนั้นก็ตาม ผลจำลองยังขาดความน่าเชื่อถือเมื่อมองในแง่หลักการ จากที่ได้กล่าวมานี้ ผมจึงมีข้อแนะนำมี 2 ข้อดังนี้

1.จัดให้การศึกษาอิสระการจำลองคุณภาพอากาศเพิ่มเติม โดยมุ่งประเด็นเรื่องฝุ่น PM2.5 (ปฐมภูมิและทุติยภูมิ) ซึ่งทางภาคสังคมให้ความสำคัญ ควรขยายขอบเขตพื้นที่การศึกษาให้ใหญ่ขึ้นครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลาหรือภาคใต้ตอนล่าง ให้มีการตรวจสอบผลจำลองว่ามีความน่าเชื่อถือด้วยวิธีการสถิติให้ชัดเจน และให้รายละเอียดทางเทคนิคอย่างเพียงพอเพื่อการพิจารณาต่อไป

2.ในส่วนของงานอีไอเอของ กฟผ. ให้ตรวจสอบเรื่องความน่าเชื่อถือของผลจำลองด้วยวิธีการสถิติใช้ชัดเจน กำหนดค่าตัวแปรต่างๆ ให้เหมาะสมอย่างรัดกุม นำเสนอผลในรูปแผนที่ให้เข้าใจง่าย

และถ้าจำเป็น พิจารณาปรับปรุงวิธีจำลอง และให้รายละเอียดทางเทคนิคอย่างเพียงพอเพื่อการพิจารณาต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image