คุยกับ ‘ดุลยภาค ปรีชารัชช’ เทียบสูตร รธน.ช่วงเปลี่ยนผ่าน ระหว่าง ‘พม่า’ กับ ‘ไทย’

หมายเหตุ : ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” เพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านด้วยกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญระหว่างพม่ากับไทย

คิดว่า เนื้อหาจากการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามความแนวทางที่ คสช.เสนอนั้น มีความเหมือนหรือต่างกับรัฐธรรมนูญของพม่าอย่างไร

สถานการณ์การร่างรัฐธรรมนูญของไทยกับรัฐธรรมนูญพม่ามีความเหมือนกันมากทีเดียว ทั้งในแง่ของบริบทและบทบาทของกองทัพผู้ที่ก้าวเข้ามา เสมือนเป็นองครักษ์พิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติ เพราะหากย้อนไปในประวัติศาสตร์พม่านับตั้งแต่หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ พม่าเต็มไปด้วยสงครามการเมือง นักการเมืองที่มาจากพลเรือนมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น และยังมีการลุกฮือของกองกำลังติดอาวุธของชาติพันธุ์เพื่อขอแบ่งแยกดินแดนอีก ทั้งหมดนี้จึงเป็นข้ออ้างให้กองทัพเข้ามากู้สถานการณ์จัดระเบียบรัฐและสังคม แต่พอเมื่อโลกเปลี่ยน พม่าก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งพม่าในระยะเปลี่ยนผ่าน จะตั้งต้นตั้งแต่ พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย เนรมิตให้มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ขึ้น ภายใต้มุมมองการเปลี่ยนผ่านตามโมเดลของชนชั้นนำทหารพม่า เป็นการเปลี่ยนผ่านจากบนลงล่าง ซึ่งเป็นหมุดหมายที่เปิดให้พม่าเป็นประชาธิปไตยแบบพหุพรรค แบบมีระเบียบวินัย ในความหมายที่จะต้องให้มีการเลือกตั้ง มีหลายพรรคการเมือง แต่ที่เด่นๆจะมีไม่กี่พรรค และที่สำคัญต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่กองทัพสามารถควบคุมได้ ทั้งโครงสร้างรัฐสภาแห่งชาติ รวมไปถึงคุมกระทรวงสำคัญบางกระทรวง

แต่ในกรณีของไทยจะสวนทางกับพม่านิดหน่อย เพราะไทยเป็นรัฐที่พัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน มีการสลับหมุดกลับไปเป็นอำนาจนิยมอยู่บ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่การที่ คสช.เข้ามาทำให้ไทยถอยกลับสู่อำนาจนิยมชัดเจน และกำลังจะแปลงสภาพของความเป็นอำนาจนิยมเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่มีวงเล็บตามรูปแบบที่ผู้นำทหารไทยเข้าใจ ไม่ใช้เสรีเหมือนกับตะวันตก โดยจะมีการเลือกตั้งเพื่อให้มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่จะมีสัดส่วนคนดีมีคุณธรรมตามมุมมองของกองทัพเข้ามาเป็นกระดูกสันหลังในการดูแลผลประโยชน์ชาติ คล้ายๆกับประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยของพม่าในสมัย พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย เมื่่อ 5-6 ปีที่แล้ว

ทำไมชนชั้นนำทหารพม่าถึงเลือกใช้วิธีนี้เป็นหนทางในการเปลี่ยนผ่าน

Advertisement

เพราะ ชนชั้นนำทหารพม่า เชื่อว่า หากปล่อยให้กระบวนการประชาธิปไตยแบบล่างขึ้นบน โดยพลังปฏิวัติประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง จะทำให้รัฐเกิดความระส่ำระส่าย เพราะพม่ามีความแตกแยกทางชาติพันธุ์ ชนชั้น ศาสนาหรือกลุ่มอำนาจสูงมาก ยิ่งกว่านั้น ยังมีการเคลื่อนไหวของกระบวนการชนกลุ่มน้อยสหพันธรัฐนิยม หากจะผลัดใบเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ควรเป็นประชาธิปไตยที่ข้ามขั้นไปสูงแบบเสรีนิยม จึงควรเป็นขั้นแรก แบบมีระเบียบวินัยก่อน รูปแบบที่ออกมาจึงเป็นรูปแบบของการเมืองลูกผสม มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กองทัพก็ยังเป็นศูนย์ในการกุมกลไกหรือโครงการอำนาจรัฐ ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านของพม่าจึงเกิดขึ้นจากบนลงล่างด้วยการนำทหารเป็นตัวนำ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5-6 ปี โดยเฉพาะปลายปีที่ผ่านมาที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ชนะการเลือกตั้งได้เปิดช่องให้ประชาธิปไตยแบบล่างขึ้นบนขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ด้วยเหตุนี้การเปลี่ยนผ่านของพม่าจึงเป็นแบบ “พันธมิตรคู่สัญญา” ระหว่าง “ชนชั้นนำทหาร” กับ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” แม้ว่า จะมีการเผชิญหน้าหรือชักเยอร์กันทางอำนาจอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มีการจับมือ อดทนอดกลั่นเพื่อให้เกิดการรอมชอมระหว่างกันด้วย ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นผลมาจากการเรียนรู้ตัวอย่างจากรัฐเอเชียอาคเนย์ของชนชั้นนำทหารพม่าเอง เพราะเขาคงไม่ต้องการให้เกิดพลังประชาชนปะทุขึ้น เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเพื่อรุกฮือโค่นล้มเผด็จการมาร์กอส ในฟิลิปปินส์

จะมีวันได้เห็นการเปลี่ยนผ่านแบบ “พันธมิตรคู่สัญญา” ในไทยหรือไม่

ในทางรัฐศาสตร์การเมืองเปรียบเทียบ วิวัฒนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบ ซึ่งนักคิดคนสำคัญ ที่ชื่อว่า “รอสทาวน์” บอกว่า มีอยู่ 4 ขั้นหลักๆ ขั้นแรก เป็นขั้นที่ผู้คนในสังคมหรือคนในชาติยังรู้สึกกลมกลืน หรือไม่ได้ตั้งคำถามกับรัฐ รวมไปถึงระบอบการเมืองของรัฐที่ตัวเองสังกัดอยู่มากนัก แต่พอเข้าสู่ขั้นที่สอง จะเป็นขั้นที่ผู้คนเริ่มสงสัยในระบอบการเมืองเดิมที่ครองอำนาจอยู่ จนทำให้เกิดการแบ่งขั้วกันทางอำนาจเป็น 2 ฝ่าย หรือมากกว่านั้น ทำสงครามการเมืองกันบ้าง หรือหมุนเวียนสลับกันเป็นผู้แพ้ชนะในระยะเวลายาวนาน ซึ่งหากรัฐหรือสังคมใดไปต่อไม่ได้ก็จะวนเวียนอยู่ขั้นสอง แต่หากมีความสุกงอม มีจุดหักเหก็จะก้าวไปสู่ขั้นที่สาม เป็นขั้นที่แต่ละฝ่ายเริ่มยอมรับความแตกต่างหลากหลายของขั้วอำนาจ เมื่อมีการยอมรับกันก็จะมีการเจรจารอมชอมประนีประนอมในรูปแบบ 50-50 หรือ 60-40 โดยที่ไม่มีฝ่ายใดได้ร้อย หรือฝ่ายใดได้ศูนย์ เมื่อถึงจุดนี้ประชาธิปไตยจะเริ่มเบ่งบาน จนนำไปสู่ขั้นสุดท้ายที่ประชาธิปไตยมีความมั่นคงยั่งยืนและถูกทำให้เป็นวัฒนธรรมการเมืองของประเทศนั้นๆ

Advertisement

ซึ่งการเปลี่ยนผ่านของรัฐไทยข้ามขั้นแรกไปแล้ว แต่เรามาอยู่ในขั้นที่สองยาวนานมาก ปัจจุบันก็ยังอยู่ขั้นที่สอง ซึ่งหลังจากระบอบคสช.เข้ามา ก็ยังไม่ได้ทำให้เราก้าวไปสู่ขั้นที่สามได้ เพราะการเจรจาประนีประนอมในรูปแบบ 50-50 หรือ 60-40 ยังไม่เกิดขึ้น ทำให้ยังวนอยู่ขั้นที่สอง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัญหาของวิกฤตการเมืองไทย ผิดกลับพม่าที่กำลังค่อยๆกระโดดเพื่อข้ามไปสู่ขั้นที่สามมากขึ้น แม้ว่าจะมีปัญหามากมายก็ตาม

เป็นเพราะชนชั้นนำพม่าได้รับบทเรียนจากเสียงของประชาชนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง จนต้องปรับตัวเพื่อคงอำนาจของตัวเองเอาไว้ ?

ใช่ เพราะตัวผู้ปกครองพม่ารู้ดีว่า การทำให้พม่าสง่างามบนเวทีโลก หรือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในอาเซียน มันต้องเปลี่ยนระบอบการปกครอง เพราะเผด็จการอยู่มาหลาย 10 ปีจนไปต่อไม่ไหวแล้ว แต่การเปลี่ยนของพม่าจึงต้องมีสูตรไม่ให้เกิดภัยคุกคามจนระบอบเก่ามีอันต้องสลายตัวรวดเร็วเกินไป นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญพม่า ถึงบล็อคไม่ให้ ออน ซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดี เช่นเดียวกับการที่ผบ.สส.พม่ายังมีอำนาจในการแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กลาโหม รวมไปถึงกิจการชายแดน โดยรัฐบาลใหม่เอ็นแอลดีไม่มีสิทธิส่งคนของตัวเองไปเป็นรัฐมนตรีใน 3 กระทรวงนี้ได้ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมาออกมาในชนิดที่เรียกได้ว่า คนพม่าเทคะแนนให้พรรคเอ็นแอลดีอย่างเต็มที่ จึงทำให้กองทัพพม่าไม่มีทางเลือกมากนัก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเป็นพันธมิตรคู่สัญญากับพรรคเอ็นแอลดีโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งของไทยเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดในกรณีเดียวกันนี้

ของไทยเกิดยาก เพราะอะไร

หากวิเคราะห์กำลังอำนาจเปรียบเทียบระหว่างฝ่ายที่เป็นระบอบเก่า กับ ระบอบใหม่ของไทยนั้น ผมมองว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีขุมกำลังใกล้เคียงกัน มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ส่วนใหญ่แตกต่างกัน จึงซัดกันไปมาอยู่ตลอด โดยที่สูตรการเจรจารอมชอมแบบ 50-50 หรือ 60-40 ไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง ที่ผ่านมาการเมืองไทยมีวัฒนธรรมการกวาดล้างคู่ปกปักษ์ที่ค่อนข้างจะเกรียวกราด ผสมล้างบางอยู่พอสมควร แต่ก็ยังไม่รุนแรงถึงขนาดที่เคยเกิดเหตุการณ์ล้างบางขึ้นในพม่าเมื่อหลาย 10 ปีก่อน เพราะยังมีหน่อเหลือไว้ให้เห็นอยู่ อย่าง กลุ่มของนายทักษิณ ชินวัตรทุกวันนี้ก็ยังมีแนวร่วมอยู่ แต่หากวิเคราะห์ผ่านบริบทการเมืองไทยหลังจากนี้ การออกแบบโครงสร้างทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนผ่าน โดยใช้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นตัวชี้วัด จะเห็นได้เลยว่า นี่เป็นความพยายามของชนชั้นนำทหารที่จะเปลี่ยนแปลงจากเผด็จการอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง โดยที่ตัวเองยังกุมผลประโยชน์ต่างๆตามโครงสร้างทางการเมืองอยู่ ลักษณะดังกล่าว ศัพท์ในทางรัฐศาสตร์เรียกว่า เป็นเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตย ดังนั้น โจทย์ใหญ่ที่สำคัญต่อไปหลังจากนี้ นั่นคือ ชนชั้นนำทหารไทยที่กุมอำนาจอยู่จะลงมาแข่งขันกับขั้วตรงข้ามในสมรภูมิการเลือกตั้งหรือไม่

คิดว่า มีโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ แม้แต่สมาชิก คสช.คนอื่นๆ จะลงมาร่วมวงในสมรภูมิการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่

โมเดลดังกล่าว เคยเกิดขึ้นในอินโดนีเซีย โดยระบอบซูฮาร์โต้ เพราะนายพลซูฮาร์โต้มาจากการกองทัพ แต่เมื่อเถลิงอำนาจก็สร้างรูปแบบเผด็จการโดยคนๆเดียว สั่งสมพลังอำนาจจนมีบารมี ได้รับความนิยมกระทั่งสร้างพรรคโกลคาร์ และยังสร้างแนวร่วมมวลชนเพื่อพรรคโกลคาร์ขึ้นมาได้สำเร็จ นี่คือสามเหลี่ยมไตรภาคแห่งอำนาจของซูฮาร์โต้ หากเทียบกับ สถานการณ์ของไทย ผมคิดว่าหน่อเนื้อพื้นฐานหลังจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เรามีทหารเป็นตัวตั้ง แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีตำแหน่งในกองทัพ แต่ก็ได้สร้างขุมพลังทางอำนาจจนบารมี แม้ว่าจะมีทั้งคนสนับสนุนและไม่สนับสนุนก็ตาม แต่ต้องยอมรับว่า หากนำองค์ประกอบของสามเหลี่ยมไตรภาคมาจับ โมเดลนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในไทย แต่เป็นเพียงทวิภาคเท่านั้น ความเป็นสามเหลี่ยมไตรภาคยังไม่เกิดขึ้น เพราะขณะนี้ยังไม่การสร้างพรรคการเมืองขึ้นมา

ตอนนี้ยังไม่มี แต่ในอนาคตก็อาจจะมีหรือเปล่า

หากมองจาก ฐานอำนาจของคสช.ที่มาจากการรัฐประหาร ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อสร้างขั้วอำนาจที่แข็งแกร่ง และโตอย่างรวดเร็ว โดยที่ประสบการณ์หรือโลกทัศน์ทางการเมืองของ คสช.ไม่ได้สัมพันธ์หรือแนบแน่นอยู่กับเรื่องการเลือกตั้ง ดังนั้น เขาจึงรู้อยู่แล้วว่า ในสมรภูมิการเลือกตั้งเขามีสิทธิชนะยาก ในเมื่อการสร้างพรรคการเมืองเป็นจุดบอด คสช.ก็คงคิดสูตรการเมืองของตัวเองไว้แล้ว เพราะธรรมชาติของความเป็นนักยุทธศาสตร์ทหารคงต้องคิดอะไรเป็นสเต็ป เป็นเฟดอยู่แล้ว และผมก็เชื่อว่า ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารมีการถกเถียงเรื่องนี้ในหมู่คสช.มากพอสมควร ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญออกมาโดยเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอกได้ จึงเป็นสิ่งที่เตรียมการไว้ เพราะเมื่อที่ผู้นำทหารไม่ได้อยู่ในนามกองทัพ ก็จำเป็นต้องสร้างขุมพลังอำนาจอย่างอื่น ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตา หากมีการเลือกตั้งแล้ว คสช.ไม่ตั้งพรรค แล้วจะอยู่ต่อไปอย่างไร

ล่าสุดกรธ.ที่ได้ให้อำนาจ คสช.ในการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก ซึ่งจะมีอำนาจในการโหวตให้มีการปลดล็อกการเปิด3 รายชื่อนายกฯของพรรคการเมืองด้วย

เป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ ในมุมหนึ่งก็เพื่อรับรองผู้เล่นในขั้วของตนเองที่เพิ่มขึ้น แต่อีกมุมหนึ่ง มันก็สะท้อนมุมมองของผู้จัดให้มีรัฐธรรมนูญเหมือนกันว่า เมื่อปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้ว สถานการณ์ทางการเมือง ยังเป็นสิ่งที่เขายังแทงหัวแทงก้อยไม่ได้ จึงต้องร่างกติกาให้ตัวเองมั่นใจว่ายังสามารถต่อยอดทางอำนาจต่อไปได้ แต่จุดท้าทายก็มีอยู่ เพราะสังคมโลกาภิวัตน์ ความเป็นภูมิภาคนิยม หรือกลุ่มสังคมของไทยเองในหลายๆส่วนไม่ได้อยู่นิ่งหรือถูกแช่แข็งเหมือนในสมัยยุคสงครามเย็นต่อไปอีกแล้ว ที่ผ่านมาเมื่อครั้ง คสช.เข้ามามีอำนาจมีเรตติ้งที่ดี แต่วันเวลาผ่านไปไม่นาน เรตติ้งก็ลดลงฮวบฮาบ ซึ่งเจอกันเป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ พลังประชาชนก็จะเป็นตัวแปรที่สำคัญเหมือนกันในการส่งสัญญาณหรือกดดันให้ผู้มีอำนาจต้องเลือก เหมือนกันว่า จะเดินไปทางไหนต่อ

มีตัวอย่างจากการเปลี่ยนผ่านของประเทศใดที่อยากแนะนำให้ชนชั้นนำไทยศึกษาเพื่อใช้เป็นแบบอย่างหรือเปล่า

ผมคิดว่า ชนชั้นปกครองไทยที่ผ่านมา ที่มีปูมหลังเป็นทหารดูตัวแบบของประเทศเพื่อนบ้าน โดยนำกุศโลบายทางการเมืองมาใช้เพื่อรักษาการหรือครองอำนาจให้ได้ค่อนข้างยั่งยืน และลงจากหลังเสือได้สะดวกหรือสง่างามมากกว่าการดูเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งเท่าที่ดูคิดว่า คสช.พยายามทำให้ได้เหมือสมัยนายพลปัก จุก ฮี ของเกาหลีใต้ ที่ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการอย่างไร หากพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีก็จะไปต่อได้ แต่เมื่อเราร่างความสัมพันธ์เชิงเหตุผลแล้ว จะเห็นว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการล้มสลายของระบอบเผด็จการทั่วโลกมันหนีไม่พ้น ปัจจัยทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงภายในภูมิภาค แต่โอกาสที่ไทยจะเหมือนเกาหลีใต้ในช่วงนั้นยากพอสมควร เพราะคนละ พ.ศ.กันแล้ว ขณะเดียวกัน ทักษะหลายอย่างหรือบุคลากรของไทยยังรับมือกับภัยทางเศรษฐกิจไม่ดีพอ ซึ่งที่ผ่านมาจุดจบของผู้นำทหารทั่วโลกส่วนใหญ่มาจากพลังของประชาชน ซึ่งการครองอำนาจหากจะลงให้สวย จะต้องไม่เกิดปัญหาเช่นนี้

ดังนั้น ผมคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ รู้ดีอยู่แล้วว่า ตัวเองจะลงอย่างไร การทอดเวลาในช่วงนี้ก็เพื่อคิดสูตรทางการเมืองในอนาคตให้ลึกซึ่งเสียก่อน ขณะเดียวกันก็รอดูตัวแปรจากวงอำนาจอื่นที่อยู่นอกเหนือจากเรื่องทหารด้วยเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image