อยากลืมกลับจำ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

ไม่แปลกใจที่ คุณสุจิตต์ วงศ์เทศ นักประวัติศาสตร์ และนักเขียนประจำของมติชน ท่านจริงจังอย่างมากในเรื่องของพิพิธภัณฑ์ เรื่องการนำเอาสิ่งของเก่าๆ มาเข้าระบบ เพื่อให้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีต

เพื่อให้อดีตเชื่อมต่อปัจจุบันในจุดที่เกิดสติ เกิดภูมิปัญญามากที่สุด ไม่ใช่เชื่อมเข้าแล้วเกิดอาการตาขวางผิดสำแดง

รับรู้มาว่า พิพิธภัณฑ์ดีๆ ที่ตั้งอกตั้งใจทำนั้น สามารถเปิดที่มาที่ไปของประเทศ ผู้คน วัฒนธรรม ได้อย่างถูกต้องตรงไปตรงมา ให้รับรู้ได้อย่างสนุกสนาน

มีเวลาสักชั่วโมง เดินวนสักรอบ ก็เหมือนได้อ่านหนังสือดีๆ เล่มหนึ่ง ถ้ายังไม่สะใจจะเดินใหม่หรือไปอ่านหนังสือเพิ่มเติมยังได้

Advertisement

โบสถ์ วิหาร สิ่งก่อสร้างเก่าแก่บางแห่งในโลก ไม่ได้ล้อมรั้ว ติดป้ายห้ามจับ ตรงกันข้าม ยังใช้งานตามปกติ ผู้คนเข้าไปจับต้อง เข้าไปนั่งประกอบพิธีกรรม หรือเข้าไปนั่งเพื่อสัมผัสชิลๆ ยังได้

เห็นชาวโลกเขาทำกันแบบนี้ ใครจะนึกถึงป้อมมหากาฬก็ไม่ว่ากัน

บทบาทหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ ควรเป็นแบบนี้ ถ้าผิดๆ เพี้ยนๆ ก็เสียของ สิ้นเปลือง ส่งผลต่อ “ความรู้”

Advertisement

การศึกษาประวัติศาสตร์ ทำได้หลายทาง นอกจากสถานที่ อาคาร พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ แล้ว หนังสือเป็นแหล่งสำคัญ เดี๋ยวนี้มีอินเตอร์เน็ต มีออนไลน์ เข้าถึงได้ง่าย ใครก็เปิดประเด็นเพื่อระดมการถกเถียง หาแง่มุมข้อสรุปใหม่ๆ ได้ แม้บางเรื่องออกจะเฟื่องๆ ไปบ้างก็ตาม

การไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ หรือศึกษาในทิศทางที่ถูกบิดเบือนไป ย่อมนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ผิด 

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม-8 เมษายน 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักพิมพ์มติชน เตรียมออกหนังสือใหม่ๆ หลายปก

เพิ่งออกจากแท่นพิมพ์สดๆ เล่มหนึ่งได้แก่ “อยากลืมกลับจำ” สารคดีชีวประวัติของ จีรวัสส์ ปันยารชุน พิบูลสงคราม ลูกสาว จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และเป็นนายกฯหลายสมัย

ทีมผู้เขียน ประกอบด้วย ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ณัฐพล ใจจริง โดยมี นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เป็นบรรณาธิการ

การเปลี่ยนแปลง 2475 ที่นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่สำหรับสังคมประเทศไทย โดยเฉพาะใน 25 ปีแรกของการเปลี่ยนแปลง จากปี 2475 ไปจนถึง 2500 “จอมพล ป.” เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนที่มีบทบาทสูง

มรดกของผู้ก่อการก็คือ การวางทิศทางให้ประเทศเดินสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แม้มีการรัฐประหารหลายครั้ง เกิดการหยุดชะงัก ปัดเป๋เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้องกลับเข้าทิศทางนี้

แต่บรรดาผู้ก่อการเอง ต้องเจอมรสุม ข้อกล่าวหาต่างๆ พร้อมๆ กับที่ 2475 กลายเป็นการชิงสุกก่อนห่ามไป

ที่ผ่านมาเกิดการค้นคว้า รวบรวมหลักฐาน จัดพิมพ์หนังสือกันออกมาหลายเล่ม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ หักล้างและสวนกระแสที่เสนอข้อมูลและอีกทฤษฎีหนึ่ง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ตรงกับ “ความจริง”

“อยากลืมกลับจำ” เป็นหนังสือที่เสมือนหลักฐานอันมีชีวิตชีวาและเด่นอีกชิ้นหนึ่ง

ในพิพิธภัณฑ์การเปลี่ยนแปลงการเมือง ที่ยังขาดวิ่น ระเกะระกะ รอการจัดระบบอยู่

…………………

วรศักดิ์ ประยูรศุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image