นักวิชาการลุ่มน้ำโขงไม่เชื่อ แค่ ‘สำนึกปวศ.’ ทำเรตติ้ง ‘ออเจ้า’ อีสานต่ำกว่าภาคอื่น

สืบเนื่องกรณีมีนักวิชาการวิเคราะห์เรตติ้งละครบุพเพสันนิวาส ว่าเหตุใดในภาคอีสานจึงน้อยกว่าทุกภาค โดยระบุว่าเกี่ยวข้องกับ ‘สำนึกทางประวัติศาสตร์’ นั้น (อ่านข่าว นักวิชาการวิเคราะห์ 4 เหตุผล ทำไมเรตติ้ง ‘ออเจ้า’ ใน ‘อีสาน’ ถึงต่ำกว่าภูมิภาคอื่น)

ล่าสุด วันที่ 5 เมษายน 2561 นางสาวขนิษฐา คันธะวิชัย นักวิจัยอิสระด้านการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ได้แสดงความเห็นว่า ควรมีการธิบายเหตุผลในแง่มุมอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องของชนชั้นที่บ่งบอกรสนิยมและการเสพ เพราะถ้าจะอธิบายเรื่อง “สำนึก” ที่มาจากประวัติศาสตร์อย่างเดียว จะ “ตัน” เมื่อต้องอธิบายปรากฏการณ์อื่น อาทิ การที่คนลาวในเวียงจันทน์ห่มสไบแพรนุ่งโจงหรือนุ่งซิ่นกรอมเท้าไปเที่ยวตลาดน้ำ เป็นต้น

เนื้อหามีดังนี้

การที่เรตติ้งของละคร “บุพเพสันนิวาส” ในอีสานไม่ปังเท่าภาคอื่นนั้น มันก็อาจจะเกี่ยวกับสำนึกทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์บ้าง แต่ยังไม่ครอบคลุม จึงขอเสริมว่า เราควรจะดูเรื่องของ “ชนชั้น” ที่กำหนด “รสนิยม” ในการเสพงานด้วย ทุกคนคงรู้ดีว่าแต่ละชนชั้นจะเสพงานศิลปะไม่เหมือนกัน เรามองว่าชาวอีสานที่ไม่ดูละครเรื่องนี้เป็นเพราะไม่อินในแง่ “ชนชั้น” ที่ไปกำหนดรสนิยมมากกว่าที่จะไม่อินเพราะมี “สำนึกที่ห่างจากรัฐไทยส่วนกลาง” เพราะค่อนข้างจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ละครช่อง 7 ที่มักมีเนื้อหาบ้านๆ ตัวละครบ้านๆ เนื้อหาถึงรส ถึงอารมณ์ จะมีเรตติ้งในต่างหวัดดีกว่าละครช่อง 3 ในขณะที่ชนชั้นกลางในเขตเมืองมักจะเลือกดูละครช่อง 3 มากกว่า

Advertisement

ดังนั้น ที่ชาวอีสานไม่ดูบุพเพฯ กันมากนัก ก็คงไม่ต่างกับเรื่องอื่นๆ ของช่อง 3 ที่เนื้อหาไม่โดนใจ ยกเว้นกรณี “นาคี” ที่เนื้อหามันถูกจริต เพราะเกี่ยวกับความเชื่อท้องถิ่นคือ “พญานาค” นอกจากนี้ คนภาคกลางหลายๆ คนที่ดู ก็ไม่ได้ดูเพราะรู้สึกเชื่อมโยงตนเองเข้ากับความเป็นกรุงศรีอยุธยาหรือประวัติศาสตร์ส่วนกลางนะ แต่ดูเพราะบทประพันธ์ โปรดักชั่น นักแสดง ฯลฯ ซึ่งโดยรวมมันก็เป็นเรื่องของรสนิยม ไม่ได้เกี่ยวกับสำนึกหรือความยึดโยงตนเองกับรัฐไทย และละครย้อนยุคก็ไม่ได้ปังแรงเปรี้ยงทุกเรื่อง อย่าง “นางทาส” เวอร์ชั่นพี่ป๋อ ฉายทางช่อง 3 ยังได้เรตติ้งทั้งประเทศเพียง 6.1 ส่วนเรื่อง “ศรีอโยธยา” ของหม่อมน้อยที่นำเสนอประวัติศาสตร์อยุธยาและโปรดักชั่นอลังๆ ก็ยังได้เรตติ้งไม่ถึง 1 ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า จริงๆ แล้วคนชั้นกลางในเมืองก็อาจจะไม่ได้ชอบอะไรที่มันยึดโยงสำนึกส่วนกลางก็ได้

 

การใช้มุมมองประวัติศาสตร์ของผู้ที่ถูกกดขี่หรือสำนึกทางประวัติศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันทั้งหมด มันยังไม่พอ ประวัติศาสตร์จะอธิบายปรากฏการณ์หนึ่งที่เวียงจันทน์ได้อย่างไร เมืองเวียงจันทน์ซึ่งไม่เคยมีสำนึกเดียวกับสยาม แถมมีบาดแผลกับสยามอีกต่างหาก และชาวเวียงจันทน์ก็ไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องรัฐชาติไทยในน้ำมีปลา ในนามีข้าวแบบคนลาวในอีสานด้วย แต่กลับมีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ดูคล้าย

Advertisement

ปรากฏการณ์ในไทยเรียกว่า “ตลาดน้ำกำแพงนคร” และก็มีมุมให้คนใส่ชุดย้อนยุคมาถ่ายรูป เช็กอิน ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า หลายๆ คนแต่งตัวแบบนุ่งซิ่นกรอมเท้าห่มสไบแพร บางคนนุ่งโจงกระเบน ซึ่งเรามาเห็นข่าวนี้ตอนที่ละครเรื่องบุพเพฯ กำลังดัง และคนไทยก็ใส่ชุดไทยสไบเฉียงกันเต็มโบราณสถานในไทย ดูแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่านี่คืออิทธิพล pop culture ไทยที่ข้ามฝั่งไปหรือเปล่า เราไม่รู้ใจคนลาวว่ามันใช่หรือไม่ แต่มันก็ดูใกล้เคียงกันมาก และในคอมเมนต์ภาษาลาวก็มีหลายคนเข้ามาให้ความเห็นในเชิงที่ว่า นี่ไม่ใช่ลาวดั้งเดิม เช่น “ลาวที่ไหนมีตลาดน้ำ” “ลาวที่ไหนแต่งตัวแบบนี้” แน่นอนว่าชาวเวียงจันทน์ไม่ได้มีสำนึกแบบรัฐไทย แต่ยังมีปรากฏการณ์ที่คล้ายๆ ว่าจะแพร่ไปจากไทย ซึ่งแนวคิดเรื่องสำนึกทางประวัติศาสตร์มันอธิบายเรื่องนี้ได้ยาก
.

สรุป ทั้งเรื่องที่ละครบุพเพฯ ปังในอีสานน้อยกว่าภาคอื่นนั้น เราน่าจะอธิบายเหตุผลในแง่มุมอื่นๆ ด้วย เช่นเรื่องของชนชั้นที่บ่งบอกรสนิยมและการเสพ เพราะถ้าจะอธิบายเรื่อง “สำนึก” ที่มาจากประวัติศาสตร์อย่างเดียว มันจะตันเวลาไปอธิบายปรากฏการณ์อื่น เช่น การที่คนลาวในเวียงจันทน์ห่มสไบแพร นุ่งโจง หรือนุ่งซิ่นกรอมเท้าไปเที่ยวตลาดน้ำ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image