บรรยากาศสุดชุลมุนก่อนกรุงแตก 7 เม.ย. 2310 “วัดพิชัย” สถานที่สุดท้าย “พระเจ้าตาก” ก่อนฝ่าพม่าไปเมืองจันทน์

เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิโตโยต้า และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ จำกัด จัดตามกิจกรรมตามรอยพระเจ้าตากสิน มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่พากันแต่งกายด้วยชุดไทยแบบต่างๆ

หนึ่งในสถานที่ซึ่งมีการเดินทางไปเยี่ยมเยือนคือ “วัดพิชัยสงคราม” อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ศ.ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วัดพิชัยสงคราม หรือ วัดพิชัย เป็นวัดที่พระเจ้าตากไหว้ก่อนออกจากอยุธยาในช่วงก่อนเสียกรุงเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2310 ราว 3 เดือน สถานที่แห่งนี้จึงสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทย

Advertisement

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า วัดแห่งนี้อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก เยื้องวังหน้า บริเวณทิศตะวันออกของเกาะเมืองซึ่งเป็นชุมชนที่หนาแน่นมาก พงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับจันพันทนุมาศ (เจิม) บันทึกถึงวัดแห่งนี้ไว้ โดยระบุว่าเมื่อพระเจ้าตากสินทรงทราบว่าอยุธยาจะเกิดอันตราย และจะถึงจุดจบ จึงตัดสินใจรวบรวมพลทหารไทย-จีนนับพันคน มีทหารผู้ใหญ่คุมเพียง 6-7 คน โดยยกออกไปตั้ง ณ “วัดพิชัย” พอย่ำฆ้อง คือ เริ่มมืดก็เคลื่อนพลไปทิศตะวันออก ฝ่าวงล้อมสู้พม่าออกไปได้

“คืนวันนั้นหลังออกไป สองยามเศษ ถึงสำนักบัณฑิต ห่างไป 7-8 กิโลเมตร พอทรงหันมามองอยุธยา เห็นเพลิงเกิดไหม้ท่าทรายไปตลอดถนนหลวง นี่คือ 3 เดือนก่อนกรุงแตก คืนนั้นอาจเป็นคืนสำคัญที่อังวะมุ่งโจมตีอยุธยา เชื่อว่าคนหนีไปเยอะมาก เป็นกลุ่มเล็กๆ เป็นคืนแห่งความชุลมุนวุ่นวาย พระเจ้าตากไปจันทบุรีที่มั่งคั่ง มีกองเรือทำการค้า ทรงต้องการหาคนและเงิน เพื่อฟื้นฟูบ้านเมือง เนื่องจากพื้นฐานทรงเป็นพ่อค้ามาก่อน แล้วจึงเป็นนักรบ” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

Advertisement

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ กล่าวอีกว่า พม่าพยายามบีบให้อยุธยาค้าขายไม่ได้ ปลูกข้าวไม่ได้ พระเจ้าเอกทัศน์หวังน้ำไล่ศัตรู แต่ไม่เป็นผลเหมือนคราวก่อนๆ หลังกรุงแตก มีก๊กต่างๆเกิดขึ้น เช่น ก๊กพิษณุโลก ก๊กพิมาย กั๊กนครศรีธรรมราช ก๊กพระฝาง ฯลฯ โดยสิ่งที่ทรงแตกต่างคือวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า คือ ฟื้นฟูอยุธยาใหม่ ในขณะที่ขุนนางอื่นรักษาผลประโยชน์ตัวเองในฐานที่มั่น ไม่เคลื่อนออกมา แต่พระเจ้าตากทรงแจกข้าวสารให้คนมีกิน แจกเงินและโปรยทาน อีกทั้งมีแนวคิดไม่ทำร้ายบ้านเมืองที่ยกทัพไป แต่พยายามทำให้กลายเป็นพวกของตนแทน

หลังจากนั้น ผู้ร่วมกิจกรรมสักการะพระประธานในอุโบสถ, พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน และชมจิตรกรรมในกรอบกระจกวาดเรื่องราวเกี่ยวกับวีรกรรมของพระเจ้าตากสินอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image