บทความ การเมืองกับนโยบาย โดย : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สีสันเรื่องการเมืองนั้นเริ่มละลานตาเพิ่มขึ้น หลังจากที่พรรคใหญ่เริ่มขยับตัวได้นิดหน่อย แม้ว่าจะไม่เต็มรูปก็ตาม

แต่คำถามที่สำคัญที่ตามมานอกเหนือจากว่า จะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ ซึ่งในช่วงนี้ดูเหมือนจะเลือนรางอีกครั้งหลังจากมีกรณีการยื่นตีความกฎหมายลูก คำถามที่เริ่มสนใจกันก็คือ อะไรคือเงื่อนไขของชัยชนะในการเลือกตั้งในรอบนี้

ที่ผ่านมา ผมเคยพยายามเข้าใจว่าตัวแบบการเลือกตั้งในรอบนี้จะเป็นอย่างไร จะเป็นการเลือกตั้งตามอุดมการณ์ หรือการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์

มาในครั้งนี้ ผมอยากจะลองตั้งคำถามว่าอะไรคือเงื่อนไขทางชัยชนะในรอบนี้ ตกลงเป็นเรื่องอุดมการณ์-จุดยืนทางการเมือง หรือว่าเป็นเรื่องของนโยบาย

Advertisement

แม้ว่าหลายท่านจะตั้งข้อกังวลว่าการเมืองในรอบนี้จะไม่มีประเด็นเรื่องของนโยบายชัดเจนมากนัก ทั้งจากกรอบการกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปีที่กำกับไว้แล้ว และจากการสร้างข้อกำหนดมากมายในการหาเสียง ผมก็ยังเชื่อว่าการเลือกตั้งในรอบนี้ยังจะเป็นเรื่องของนโยบายเป็นสำคัญ นอกจากจุดยืนทางการเมืองของแต่ละพรรคในเรื่องของการสนับสนุนผู้นำคณะรัฐประหารกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

อธิบายง่ายๆ ว่า ประเด็นสำคัญในการหาเสียงข้อแรกในรอบนี้คงหนีไม่พ้นว่า ตกลงจะเอาหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีในรอบสี่ปีนี้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งผมคิดว่านี่จะเป็นประเด็นที่สำคัญประเด็นแรกที่ทำให้คนนึกถึงการเลือกตั้งรอบนี้ ซึ่งหัวใจสำคัญในเรื่องนี้ก็คือตัวบุคลิกภาพของท่านผู้นำและผลงานของรัฐบาลนี้

แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายนักในการพิจารณา เพราะวิธีคิดของสังคมไม่ได้แบ่งออกง่ายๆ เป็นเรื่องของการเอาไม่เอาท่านผู้นำเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เรื่องของการเอาไม่นายกฯคนนี้ ซึ่งมีแววจะมาเป็นนายกฯคนนอกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ทั้งนี้เพราะว่าแม้จะมีคะแนนนิยมตกต่ำและมีข่าวลือทุจริตมากมายในรัฐบาลนี้ หรือสภาวะ “กองหนุนคณะรัฐประหารร่อยหรอลง”

Advertisement

แต่การเมืองไทยวันนี้ก็ยังมีเรื่องที่สำคัญคือ “ไม่ชอบผู้นำคนนี้ ไม่ชอบผลงานการบริหารของคณะรัฐประหารกลุ่มนี้ แต่ก็ยังเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร หรือเห็นว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะยังต้องมีการทำรัฐประหาร”

เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนนิดหน่อย แต่จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชัยชนะและการกลับมาของหัวหน้าคณะรัฐประหารคนนี้ยังเป็นไปได้สูง และที่ซับซ้อนขึ้นไปอีกนั้น ไม่ได้อยู่ที่ว่าสังคมไทยมีลักษณะเหมือนสังคมประชาธิปไตยตะวันตกบางประเทศ ที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งมีลักษณะที่พร้อมจะเปลี่ยนฝักฝ่ายในการเลือกตั้งในแต่ละครั้ง ซึ่งคนเหล่านั้นมักจะเป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้เกิดปรากฏการณ์ สลับขั้วสลับข้าง ทางการเมืองที่พรรคฝ่ายตรงข้ามกันสามารถหมุนเวียนเปลี่ยนกันขึ้นสู่อำนาจได้

สรุปง่ายๆ ก็คือ หากจะมีแนวโน้มที่หัวหน้าคณะรัฐประหารคนนี้จะกลับมาเป็นนายกฯคนนอกได้ เรื่องสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความนิยมในตัวของเขา หรือมาจากผลงานของคณะรัฐประหารที่ผ่านมาในรอบสี่ปี

แต่จะอยู่ที่การเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร หรือการยอมรับว่าการรัฐประหารนั้นเป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญสถาบันหนึ่งทางการเมืองของไทย ซึ่งในเรื่องนี้จะลากโยงไปที่เรื่องของวิธีคิดใหญ่เรื่องของบทบาทของกองทัพในภาพรวมของงบประมาณ การเกณฑ์ทหาร และการกำหนดเนื้อหาของความมั่นคงของประเทศ ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านี้ ฐานการสนับสนุนการรัฐประหารที่ใหญ่โตของเมืองไทยไม่ใช่เกิดจากมวลชนรากหญ้า ไม่ได้เกิดจากผู้เลือกตั้งที่พร้อมย้ายฝ่ายในการเลือกตั้งแต่ละครั้งด้วยนโยบาย หรือไม่ได้เกิดจากผลของโครงการและการประชาสัมพันธ์ของรัฐ

แต่เกิดจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ลำดับสองที่มีจุดยืนที่ซับซ้อนประเภท ไม่ชอบผู้นำคนนี้ ตำหนิผลงานของรัฐบาลคณะรัฐประหาร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ไม่ได้ไม่เอารัฐประหาร ซ้ำยังปฏิเสธการเลือกตั้งมาแล้วถึงสองครั้ง ไม่นับว่ามีสมาชิกหลายคนในพรรคนี้เข้าร่วมกับการชุมนุมโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งมาแล้ว

จุดนี้แหละครับที่จะสร้างความซับซ้อนให้กับการกำหนดชัยชนะให้การเลือกตั้งครั้งนี้

ทีนี้มาพูดอีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ คือคำว่า “การเมืองเรื่องนโยบาย” ที่หมายถึงว่า จริงไหมที่ว่า นโยบายของพรรคการเมืองในรอบนี้จะเป็นตัวชี้ขาดมากน้อยแค่ไหนในการเลือกตั้งในรอบนี้

คำตอบก็คือมีและไม่มี แต่ที่น่าหนักใจกว่านั้นก็คือความเข้าใจที่อาจไม่ค่อยตรงกันว่าตกลงแล้ว “นโยบาย” ที่เราพูดถึงกันนั้นมันหมายถึงอะไรกันแน่

ส่วนหนึ่งแล้ว คงปฏิเสธกันได้ยากว่าพรรคที่ครองอำนาจการเลือกตั้งมาเป็นทศวรรษนั้นเขามีนโยบายในการหาเสียงและบริหารประเทศจริง แต่คำถามก็คือว่าแล้วพรรคอื่นไม่มีเหรอ และจริงไหมที่พรรคที่อ้างว่าหาเสียงด้วยนโยบายนั้นเอาเข้าจริงหาเสียงด้วยนโยบายทั้งหมด

ผมอยากเรียนเสนอว่า การเมืองไทยนั้นมีการหาเสียงด้วยนโยบายกันมานานแล้ว แต่การหาเสียงด้วยนโยบายอย่างเดียวมันไม่ได้ทำให้เกิดชัยชนะจากการเลือกตั้งได้ทั้งหมดหรอกครับ ถ้าเราไม่เข้าใจถึงเส้นแบ่งที่บางเบาระหว่างนโยบายในการเมืองกับประเด็นหาเสียงที่อาจไม่ได้เป็นนโยบายจริงๆ

เรื่องแรก นโยบายคืออะไร? นโยบายคือ แนวทางกว้างๆ ที่มุ่งหมายจะบรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ และจะต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

แม้ว่าจะมีการทับซ้อนกันบ้าง คำว่านโยบายในบางครั้งอาจจะไปทับซ้อนกับคำว่า “โครงการ” ได้อยู่มาก แต่จะมีจุดต่างอยู่ที่ทำให้พอสังเกตได้บ้าง เช่น ถ้าบอกว่าจะขึ้นค่าแรง อันนี้ก็เป็นทั้งนโยบายและโครงการ แต่ถ้าระบุว่าจะขึ้นสักกี่บาท อันนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ชัดเจนระดับโครงการ เพราะในหนึ่งนโยบายนั้นอาจมีหลายโครงการย่อยเพื่อให้นำนโยบายนั้นไปสำเร็จ

แต่ที่สำคัญกว่าอีกด้านหนึ่ง ในการจะพูดเรื่องนโยบายนั้น เราค่อนข้างจริงจังว่า “ท่านคิดนโยบายนั้นมาได้อย่างไร และมีเป้าหมายอะไร และจะทำให้เกิดขึ้นจริงอย่างไร?”

ตรงนี้มันหมายรวมไปถึงเรื่องของการวางแผนให้ได้มาซึ่งนโยบายนั้น และยิ่งมาจากพรรคการเมืองที่จะต้องเสนอตัวเป็นตัวเลือกของประชาชน เราก็ต้องยิ่งต้องตั้งคำถามว่านโยบายเหล่านั้นมาจากความฝัน หรือคำพูดหวานๆ ที่จะเอาใจฐานเสียง หรือมาจากการค้นคว้าวิจัยที่จริงจัง หรือมาจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้สนใจในปัญหาเหล่านั้นมาเป็นเวลานาน ที่พรรคการเมืองสามารถเชื่อมประสานนำเอาแนวคิดเหล่านั้นมาจัดทำเป็นนโยบายได้

อีกเรื่องที่สำคัญที่ตำราด้านนโยบายของบ้านเราไม่ค่อยพูดถึงกันก็คือ อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายกับการเมือง? เพราะในการสอนเรื่องการกำหนดนโยบายในบ้านเรา เรามักจะพยายามทำให้ผู้กำหนดนโยบายนั้นปลอดจากการเมือง หรือเป็นนักเทคนิคที่ใช้เครื่องมือมากมายในการกำหนดและวัดประเมินนโยบาย

เรื่องที่ควรจะทำความเข้าใจก็คือ การหาเสียงด้วยนโยบายมากมายนั้นจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ชัยชนะ หากผู้ที่อ้างว่าหาเสียงด้วยนโยบายนั้น แม้ว่าจะฉลาดหรือมีการศึกษาสูงแค่ไหน ไม่มีความเข้าใจในโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของประเทศนี้ และไม่เสนอขั้นตอนและกระบวนการในการจัดการกับโครงสร้างอำนาจของสังคมนี้

พูดง่ายๆ ว่าจะเปิดเมนูนโยบายหรือโครงการอะไรที่ดูหวือหวาและน่าสนใจแค่ไหน หรือคำพูดจะเท่และจับใจแค่ไหน ถ้าไม่มีมุมมองที่ว่าด้วยการรัฐประหาร ไม่มีมุมมองว่าด้วยเรื่องของระบบราชการ ไม่มีมุมมองเรื่องความมั่งคั่งและการกระจายรายได้และอำนาจในสังคมนี้ รวมทั้งไม่มีมุมมองว่าอะไรคือความยุติธรรมและกระบวนการใช้กฎหมายในสังคมนี้ ผมว่าการอ้างว่าการเมืองของตนนั้นเป็นการเมืองแบบนโยบายก็เป็นเรื่องของการปาหี่เท่านั้นหล่ะครับ

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าการเมืองเท่ากับการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นนะครับ ฝ่ายที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมจะถูกถามเช่นกันว่า เขามีมุมมองในแต่ละเรื่องที่ผมกล่าวถึงไปบ้าง ในเรื่องโครงสร้างอำนาจในสังคมนี้

ในแง่นี้การเมืองในแง่อุดมการณ์-จุดยืนทางการเมืองย่อมแยกขาดจากการเมืองเรื่องนโยบายไม่ทั้งหมด ต่างจากตำราพื้นๆ บ้านเราที่ลอกกันไปลอกกันมาว่านโยบาย โดยเฉพาะนโยบายสาธารณะเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะเพื่อสาธารณะ โดยไม่พยายามอธิบายถึงความเกี่ยวเนื่องที่ซับซ้อนว่าการเมืองกับนโยบายนั้นสัมพันธ์กันมากกว่าแค่เข้าใจว่าการเมืองที่เข้ามาด้วยการเสนอนโยบายเป็นเพียงตัวแบบหนึ่งของการเมือง

ทั้งที่เรื่องสำคัญคือ จะทำนโยบายให้สำเร็จได้จะต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจและสถาบันทางการเมืองของสังคมอย่างไรด้วย

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
([email protected])

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image