มัมมี่ 2,500 ปี ที่พบโดยบังเอิญ

REUTERS

มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้โลงศพอียิปต์โบราณโลงหนึ่งมาราว 150 ปีมาแล้ว และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เกิดความผิดพลาดอย่างต่อเนื่องในหมู่นักวิชาการทั้งหลายของมหาวิทยาลัย ทำให้เชื่อกันมาโดยตลอดว่า โลงศพเก่าแก่นี้เป็นแค่โลงว่างเปล่า ไม่มีข้าวของใดๆ บรรจุอยู่ภายใน

กว่าจะรู้กันว่าข้อสรุปดังกล่าวผิดพลาดโดยสิ้นเชิงก็ต่อเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่นักวิชาการของมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่เกิดอยากรู้อยากเห็นและจัดการเปิดโลงศพดังกล่าวขึ้นมา สิ่งที่พบก็คือภายในเป็นซากมัมมี่ที่แตกกระจัดกระจายเป็นชิ้นๆ เพราะขาดการบำรุงรักษาที่เหมาะสมตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา แต่ก็กลายเป็นโอกาสอันดีในทางวิทยาศาสตร์ เพราะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถจัดการตรวจสอบซากมัมมี่ดังกล่าวได้เต็มที่

REUTERS/Colin Packham

เจมี เฟรเซอร์ ภัณฑารักษ์อาวุโสของพิพิธภัณฑ์ นิโคลสัน ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ระบุว่า มันมี่ที่พบโดยทั่วไปจะถูกรักษาไว้ให้คงสภาพเหมือนเดิมให้มากที่สุด ทำให้ยากต่อการตรวจสอบซากศพโดยละเอียดได้ แต่มัมมี่ที่ไม่คงสภาพแล้วเช่นนี้ ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบเพื่อหาคำตอบสำคัญๆ หลายอย่างได้โดยอาศัยวิธีการทางพยาธิวิทยา ตั้งแต่เรื่องของอาหารการกิน, เรื่องของเชื้อโรคยุคนั้น เรื่อยไปจนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในยุคนั้นว่ามีชีวิตอยู่ได้อย่างไร และเสียชีวิตอย่างไร ความรู้ดังกล่าวยิ่งสำคัญมากขึ้น หากซากมัมมี่ที่พบนี้เป็นนักบวชสตรีจริงอย่างที่มีอักษรภาพบ่งบอกเค้าเงื่อนเอาไว้ เพราะสามารถได้รับรู้ถึงบทบาทของสตรีที่โดดเด่นในยุคนั้น

อักษรภาพที่ติดมากับโลงศพ บอกว่า ซากมัมมี่ดังกล่าวเป็นของสตรีชื่อ เมอร์นีธ อิทเทส ซึ่งนักอียิปต์วิทยาเชื่อว่าเป็นนักบวชสตรีสูงสุดในสมัย 600 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งเป็นยุคสุดท้ายที่อียิปต์โบราณอยู่ภายใต้การปกครองของคนเชื้อสายพื้นเมืองอียิปต์

Advertisement

นักบวชสตรีรายนี้ทำหน้าที่อยู่ในวิหารเซกห์เม็ท เทพีที่มีศีรษะเป็นสิงโตนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image