09.00 INDEX “ประชามติ” สมรภูมิ การเมือง ระหว่าง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์

ในที่สุด ท่าทีต่อ”ร่าง”รัฐธรรมนูญฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ของพรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มมีความแจ่มชัด
เป็นความแจ่มชัดในความ”ไม่แจ่มชัด”

เหมือนกับลักษณะ “ไม่แจ่มชัด” จะเป็นเรื่องแปลกสำหรับพรรคการเมืองอันถือว่าเป็น “สถาบัน” เช่นพรรคประชาธิปัตย์

แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่คือ “เอกลักษณ์”

หากรับฟังเสียงอันมาจาก นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ หรือมาจาก นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ
ก็จะเป็นอย่าง 1

Advertisement

หากรับฟังเสียงอันสะท้อนมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือสะท้อนมาจาก นายจตุ ไกรฤกษ์
ก็จะเป็นอย่าง 1

เรียกตามสำนวน “ประชาธิปัตย์” ก็คือ ความหลากหลาย ซึ่งดำเนินไปด้วยท่วงทำนองแบบ “ประชาธิปไตย”

แต่ถ้าหากฟัง”น้ำเสียง” อย่าง”เจาะ”ลึก ก็จะค่อยๆรับรู้

Advertisement

รับรู้ว่า “เป้าหมาย” แท้จริงของพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างไร และทำไมจึงต้องแสดงท่าทีกำกวมแบบนั้นออกมาให้ปรากฏ

ขณะเดียวกัน เขี้ยวและคมของแต่ละคนก็ไม่ธรรมดรา

ฟังจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะอันเป็นหัวแถว
“พรรคจะไม่ออกแถลงการณ์”

ขณะเดียวกัน หากฟังจาก นายจุติ ไกรฤกษ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะอันเป็น “แม่บ้าน”

“ผมเป็นเหมือนนักกีฬา เมื่อกรรมการเขาเขียนกติกามาหากเราอยากเล่นก็ลงไปเล่น หากไม่รับก็อย่าไปเล่น

เขาเขียนมาสำหรับทุกคน ที่ผ่านมา เราอึดอัดกับการโกงแล้วไม่ถูกลงโทษ

“บางคดีนานกว่า 10 ปี เมื่อกำหนดว่าต้องทำเร็วขึ้นน่าจะดีขึ้น

“ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ออกมาใช้แล้วสามารถยืนยันได้ว่าคุกไม่ได้มีไว้ขังแต่คนจนแต่ไว้ขังคนทุจริต คดโกง น่าจะเป็นที่ยอมรับได้”

แม้ไม่มี “แถลงการณ์” ก็ “ชัด”

ชัดว่าแนวโน้มของ “พรรคประชาธิปัตย์” คือ การยอมรับและพร้อมให้”ร่าง”รัฐธรรมนูญผ่าน “ประชามติ”
“แถลงการณ์” จึงไม่จำเป็น

ความจริง มองอย่างเปรียบเทียบระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์มีความแตกต่างกันมาโดยตลอด
ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

กระทั่ง ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็ยังดำรงความแตกต่างไม่เคยแปรเปลี่ยน

เพราะว่า “เป้าหมาย” ของ”พรรคประชาธิปัตย์”ไม่เคยเปลี่ยน

ตอนก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์คือพรรคไทยรักไทย
ต่อมาก็คือ พรรคพลังประชาชน

เมื่อพรรคพลังประชาชนประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทย นั่นก็คือ การยุบพรรค

และพรรคเพื่อไทยคือ”อวตาร”แห่งพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย

เป้าหมายของพรรคประชาธิปัตย์จึงต่อเนื่องจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มายังพรรคเพื่อไทย

การต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคมิได้อยู่ที่สนาม”เลือกตั้ง”อย่างเดียว

สนาม “ประชามติ” ที่จะปะทุขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ก็อีกสนาม 1

ที่พรรค ประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจะต้องสัประยุทธ์กัน

หลัง”ประชามติ”แล้วก็ยังจะ “ต่อสู้”กันต่อไป

เดิมพันอันใหญ่หลวงอย่างยิ่งก็คือ เดิมพันจาก “การเลือกตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image