อ.เจษฎา โพสต์โต้คลิปท้าพิสูจน์น้ำดื่มยูทูบเบอร์ มั่ว-สร้างความเข้าใจผิด เหตุใช้ที่ทดสอบผิดวิธี

กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อ ยูทูบเบอร์รายหนึ่ง ที่ใช้ชื่อว่า Ketchup Jo นำน้ำดื่มยี่ห้อต่างๆมาทดสอบว่าน้ำดื่มแบรนด์ใด มีสภาพความเป็นกรดและด่างอย่างไร ด้วยการใช้ชุดวัดค่ากรดด่างแบบหยดสารเคมีผสมกับน้ำที่ต้องการตรวจ และประเมินว่ายี่ห้อไหนมีค่าเท่าไหร่ โดยมีผู้เข้าไปกดชมแล้วมากกว่า 1 ล้าน 9 แสนครั้ง สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก

เรื่องนี้ ทำให้ อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“น้ำดื่มยี่ห้อดัง ไม่ได้ไม่ดี อย่างในคลิปที่แชร์กัน” (ยาวครับ เรื่องนี้)

เป็นประเด็นที่มีคนส่งมาถามกันใหญ่เลยเมื่อคืน หลังจากที่ยูทูบเบอร์ชื่อดังคนนึงทำคลิปทดสอบคุณภาพ “น้ำดื่มบรรจุขวด” ว่ายี่ห้อไหนที่ดีที่สุดสำหรับร่างกายคุณ ทั้งที่แพงและถูกเป็นสิบกว่ายี่ห้อ ซึ่งตอนนี้คลิปนี้ดังมาก มียอดวิวกว่า 1 กว่าล้านวิวแล้ว ติดอันดับ Youtube on trending เลย … แต่วิธีการทดลองตามคลิปนี้มัน “ไม่ถูก” ครับ และผลการทดลองที่ออกมา ก็สร้างความเสียหายให้กับน้ำดื่มยี่ห้อดังหลายยี่ห้อ เพราะไปบอกว่าน้ำเค้ามีค่า pH อยู่ในเกณฑ์ที่อันตราย !!

Advertisement

การทดลองของเค้าเพื่อบอกว่า “น้ำยี่ห้อไหนดีที่สุด” นั้น คือการวัดค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่าง (อย่างเดียวเลย ไม่มีการวัดค่าอย่างอื่น) ด้วยชุดวัดค่ากรดด่างแบบหยดสารเคมีลงไปผสมกับน้ำที่ต้องการตรวจ แล้วเทียบกับแผ่นกระดาษสีต่างๆ เพื่อบอกค่าพีเอชจากฝั่งสีส้ม (กรด) ไปสีเขียว (กลาง) ไปสีม่วง (ด่าง) โดยเค้าบอกว่าร่างกายของคนเราต้องการน้ำที่มีค่าพีเอชเป็นด่างเล็กน้อย ดังนั้น เค้าบอกว่าถ้าหยดน้ำยาลงในน้ำบรรจุขวดอันไหน แล้วอยู่ในช่วงสีส้มถึงสีเหลือง แปลว่า “น้ำนั้นไม่ดี” ถ้าน้ำไหนได้สีเขียว ไปสีฟ้า จนถึงสีม่วง อันนี้ “ดีมาก”

จากนั้นเค้าก็ทดลองกับน้ำสารพัดที่หามาได้ กว่า 20 ชนิด ตั้งแต่น้ำกลั่นใส่แบตเตอรี่ น้ำบรรจุขวดยี่ห้อต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงน้ำโซดา น้ำอัดลม น้ำยาฟอกสีผ้า และแอลกอฮอล์… วิธีทดสอบเค้าคือ เอาน้ำใส่แก้วพลาสติกเล็กๆ (ขนาดซัก 50 มิลลิลิตร) แล้วหยดน้ำยาลงไป บางทีก็สองหยด บางทีก็หลายหยด แล้วแกว่งๆ แก้วนิดหน่อย โดยไม่ได้ใช้แท่งแก้วคนอะไรให้น้ำยาผสม แต่ดูสีน้ำทั้งอย่างนั้นเลย

เอาล่ะซิ เรื่องใหญ่คือ น้ำบรรจุขวดยี่ห้อดังหลายยี่ห้อ เมื่อทดสอบแบบที่เขาทำ มันออกมาเขียวอมเหลือง ซึ่งเค้าก็เริ่มทำเสียงแบบตกใจแล้ว .. ปัญหาใหญ่คือ ยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง (สมมติว่า XXX) ซึ่งขายดีในบ้านเรา มันออกมาสีส้ม (ประมาณวงสีที่สอง ในแถบสีตรวจสอบ) ซึ่งเค้าก็พูดชัดเจนว่า “โอ้โห XXX ทำไมเป็นแบบนี้เนี่ย” และ “วายย ทำไม XXX ทำแบบนี้เนี่ย” … นอกจากนั้นยังมีอีกยี่ห้อ ซึ่งเป็นราคาแพงมาก และได้ผลสีทดสอบออกมาเป็น “เหลือง” พร้อมทั้งจบด้วยการทิ้งคำถามให้คนชมตอบด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับยี่ห้อแล้ว น้ำยี่ห้อไหนดีที่สุด

Advertisement

เอาล่ะซิ คลิปนี้ไวรัลอย่างหนักเลย เพราะคนตกใจกับน้ำดื่มยี่ห้อที่ทดสอบออกมาแล้วสีส้มเหลือง ไม่เขียวฟ้า แสดงว่า “ไม่ดี” ตามที่ยูทูบเบอร์คนนี้ให้นิยามไว้ … คนแชร์กันกระหน่ำ และส่งมาถามผมกันใหญ่ แต่คำตอบของผม ก็คือ “เค้ามั่วครับ” หลายเรื่องเลย

อย่างแรก มาตรฐานน้ำดื่มบรรจุขวดนั้น การดูว่าดีหรือไม่ เค้าไม่ได้ดูแค่ค่าพีเอช กรดด่าง แต่ต้องดูค่าหลายๆ อย่างประกอบกัน ได้แก่ สี กลิ่น ความขุ่น ค่ากรดด่าง ปริมาณสาร ความกระด้าง และปริมาณแร่ธาตุต่างๆ แบคทีเรียปนเปื้อน (ดูรายละเอียดได้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2534) เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (ฉบับที่ 2) http://www.dss.go.th/…/st-artic…/sti_6_2550_WaterPackage.pdf)

สำหรับค่าความเป็นกรดด่างของน้ำดื่มบรรจุขวดนั้น กำหนดให้อยู่ระหว่างพีเอช 6.5-8.5 ซึ่งถ้าดูตามแผ่นชาร์ตสีเปรียบเทียบของชุดตรวจนั้น จะอยู่ที่สีเขียวอ่อน (วงที่ 5 แถวบน) ไปจนถึงสีฟ้า (วงที่ 4 แถวล่าง) … ถ้าอยู่ในช่วงนี้ ถือว่าบริโภคได้ทั้งหมด ไม่แตกต่างกัน ไม่ได้แปลว่าเป็นด่างมากขึ้นแล้วจะดีต่อสุขภาพอะไร อย่างที่เค้าบอกในคลิป (ถ้าเชื่อตามเค้าบอก คือดีไปจนถึงสีม่วงเลย อันนั้นอันตรายแน่ เพราะพีเอชไปถึง 9.5 เลย) เรื่องกินน้ำด่างแล้วดีต่อสุขภาพ ก็เป็นแค่ความเชื่อกันเอง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ (ยกเว้นเอาไว้รักษาโรคกรดไหลย้อน)

ทีนี้ ถ้าเราดูวิธีการใช้ชุดทดสอบพีเอชที่ว่า (ดูรูปประกอบ) จะเห็นว่ายูทูบเบอร์คนนั้นไม่ได้ทำตามวิธีการที่แนะนำไว้ที่ฉลาก ซึ่งกำหนดให้ใช้หลอดทดสอบที่แถมมา ผสมน้ำแค่ 5 มิลลิลิตร กับน้ำยา 3 หยด เขย่าเบาๆ แล้วเช็คสี … ซึ่งแตกต่างมากกับที่เค้าทำ ที่ใช้น้ำยาผสมกับน้ำเป็นแก้ว แล้วไม่ได้ผสมให้เข้ากันด้วย ทำให้ความเข้มและระดับของสีออกมาผิดเพี้ยนจากที่จะเอาไปเทียบ

ความจริงแล้ว ถ้าเค้าอยากจะรู้ค่าพีเอชที่ถูกต้องของน้ำดื่มแต่ละยี่ห้อ ก็ควรจะใช้เครื่องวัดค่าพีเอช ซึ่งสำหรับน้ำดื่มยี่ห้อดัง XXX นั่น รวมถึงอีกหลายยี่ห้อ เคยมีคนวัดไว้แล้วว่ามีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มไทย “แน่นอน” (ดู http://www.manager.co.th/AstvWeekend/ViewNews.aspx…) … ข้อน่ารู้อย่างนึงคือ เป็นเรื่องปรกติที่น้ำดื่มที่ผ่านกระบวนการกรองแบบ RO จะมีค่าเป็นกรดเล็กน้อย ขณะที่พวกที่เป็นน้ำแร่ มักจะเป็นค่าด่างเล็กน้อย (ซึ่งกินได้ทั้งคู่)

สรุปว่า สิ่งที่ยูทูบเบอร์ชื่อดังคนนี้ทำไป ก็คือการทดลองที่ misleading สร้างความเข้าใจผิดแก่สังคม ว่าน้ำดื่มหลายยี่ห้อ (และโดยเฉพาะยี่ห้อหนึ่ง) นั้นคุณภาพไม่ดี เพียงเพราะมีค่าพีเอชเป็นกรด ซึ่งไม่จริง แถมผลยังผิดพลาดเพราะทำการทดสอบมั่วโดยไม่ทำตามคู่มือที่กำหนด … อย่าไปเชื่อ อย่าไปช่วยแชร์คลิปดังกล่าว

ปล. ตาคนเนี่ย ก็คนเดียวกับที่เคยทำคลิป “ดูไข่ปลอม” ออกมามั่วเมื่อเดือนก่อน

ปล. มีคนแจ้งว่า เค้าทำคลิปแก้ตัวตามออกมาอีกคลิปนึงแล้ว แต่ก็ยังทดสอบไม่ถูกต้องตามหลักการใช้ชุดตรวจพีเอชนี้อยู่ดี (ดันใช้กระดาษวัดพีเอช แบบผิดๆ อีกด้วย เค้าให้เอาไปแตะๆน้ำแล้วขึ้นมาดูเลย ไม่ใช่เอาไปแช่น้ำทิ้งไว้นานๆ แบบในคลิปที่สองนั้น) แถมมันอยู่คนละคลิปกัน ไม่ได้ช่วยอะไรที่จะให้คนหวาดกลัวหรือเข้าใจผิดน้อยลง … ถ้ากลัวถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อย่างน้อย ก็ควรรีบลบคลิปแรกทิ้งไป เพื่อแสดงเจตนาว่าไม่ได้ตั้งใจ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปล 2. ยังมีอีกหลายคลิปการทดลองของยูทูบเบอร์คนนี้ที่ไม่ถูกต้องนะ เช่น อันที่ทดสอบว่า น้ำอัดลมยี่ห้อไหนมีน้ำตาลสูง ด้วยการเอาไปแช่น้ำ ว่ามันลอยหรือจม (ถ้าจม เค้าบอกว่า แสดงว่ามันหนักและมีน้ำตาลสูง อันไหนลอย มันจะมีน้ำตาลต่ำกว่า) ซึ่งไม่ถูกต้องครับ เพราะการลอยหรือจมนั้น ขึ้นกับ “ความหนาแน่นจำเพาะของวัตถุ” เมื่อเทียบกับน้ำ ซึ่งความหนาแน่นนั้นคือมวลรวมของวัตถุต่อปริมาตรรวมของวัตถุ (เช่น กิโลกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ไม่ใช่แค่มวลหรือน้ำหนักแค่นั้น กระป๋องน้ำอัดลมแต่ละยี่ห้อนั้นมีปริมาตรของกระป๋องไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถเทียบหาน้ำหนักได้โดยตรงจากการลอยน้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image