เที่ยวงาน ‘เกษตรมหัศจรรย์’ แน่น แห่ฟังเคล็ดลับเกษตรกรดีเด่น 61 ชี้เป้าหมายชัด รวมกลุ่มทำการตลาด

เปิดเคล็ดลับความสำเร็จ ‘เกษตรกรดีเด่น ปี61’ เป้าหมายการเกษตรชัด-ศึกษาละเอียด-รวมกลุ่มทำการตลาด

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 24 พฤษภาคม ที่ SKY HALLชั้น 3 เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ร่วมกับองค์กรหน่วยงานภาครัฐ และพันธมิตรธุรกิจภาคเอกชน จัดงานเกษตรมหัศจรรย์ 2561 “เกษตรสร้างสุข ยุคดิจิตอล” ระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2561 ขณะที่เวทีกลางจัดกิจกรรมสเปเชียลทอล์ก เคล็ดลับความสำเร็จ เกษตรกรดีเด่นปี 2561 “Farmers Of The Year 2018” วิทยากรโดย นายศุภชัย มิ่งขวัญ ผู้นำปลูกผักอินทรีย์แห่งแดนอีสานที่เน้นการตลาดนำการผลิต นายธีระกิจ เมณร์กูล เกษตรกรรุ่นใหม่จาก จ.สุโขทัย ผู้เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดสร้างรายได้บนพื้นฐานความสุข และ น.ส.ดวงพร เวชสิทธ ประธานกลุ่ม YSF จ.จันทบุรี ทำสวนบุษรา สวนเกษตรผสมผสานบนเนื้อที่ 30 ไร่จนประสบความสำเร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้ร่วมรับฟังเสวนาจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างสนุกสนาน

นายศุภชัยกล่าวว่า ปัจจุบันผลิตผักออร์แกนิกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล ผลิตส่งห้างสรรพสินค้า Tops โดยมีบริษัทพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา ปัจจุบันสามารถผลิตได้ 10 ตันต่อเดือน ขณะที่ก่อนหน้านี้มีโอกาสศึกษาเรื่องการเกษตรที่อิสราเอลนานกว่า 7 ปี ทั้งเรียนและทำงานที่นั่นด้วย สิ่งที่พบคือการเกษตรของอิสราเอลไปไกลมาก มีการปลูกพืชกลางทะเลทราย อีกทั้งสามารถส่งผลผลิตทางการเกษตรได้เป็นลำดับต้นๆ ของโลก

Advertisement

“พอกลับมาเลยคิดใหม่ว่าเราทำเกษตรแบบเก่าไม่ได้ ความเสี่ยงของบ้านเราคือ ผลิตแล้วขาย อะไรขายดีก็ปลูกขายตาม ทำให้ผลผลิตล้นตลาด ส่วนตัวนำนวัตกรรมช่วยเรื่องการปลูกผัก จากเดิมปลูกผักแบบผสมผสาน ภายหลังได้ทำการปรึกษากับตลาด พัฒนาเกษตรพอเพียงเป็นเกษตรเชิงพาณิชย์ เช่น การปลูกพืชระบบโรงเรือน หรือกรีนเฮาส์ พร้อมพัฒนาการจ่ายน้ำแบบอัตโนมัติควบคู่ไปด้วย อีกทั้งมองการทำการเกษตรเป็นกลุ่ม ทำให้มองเห็นอำนาจการต่อรอง บ่งบอกถึงอำนาจฐานการผลิต เรื่องมาร์เก็ตติงทางการผลิตนั้น ก่อนผลิตต้องคุยกับตลาดว่าต้องการอะไร จากนั้นมากำหนดวางแผนให้กลุ่มสมาชิก และจะไม่ผลิตในสิ่งที่ผู้บริโภคไม่ต้องการ” นายศุภชัยกล่าว

นายธีระกิจกล่าวว่า ปัจจุบันเพาะพันธุ์ปลาดุกกับปลาหมอเป็นหลัก ประกอบกับมีปลาใหญ่อื่นๆ รวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันยังเปิดอบรมการเพาะพันธุ์ปลาแก่นักศึกษาและผู้สนใจเข้ามาเรียนฟรี เดิมทีเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรแห่งหนึ่ง ที่บ้านมีสวนส้ม หลังเรียนจบจึงกลับมาทำงานที่บ้าน ทำ 2 ปี ขาดทุน 2 ปี จึงมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯทำงานออฟฟิศ แต่ทำได้เพียง 6 เดือนก็หันหลังกลับ เนื่องจากขณะเรียนเกษตรถูกปลูกฝังมาตลอดว่า สิ่งใดก็ตามที่เราสามารถกำหนดราคาได้เอง เช่น ลูกค้าสอบถามว่าวันนี้ปลาดุกกิโลกรัมละเท่าไหร่ เรามีความรู้ เนื่องจากตอนเรียนเรียนเกี่ยวกับสาขาประมง รวมทั้งเคยขายปลาสวยงามด้วย จึงใช้ความรู้ตรงนี้กลับมาเพาะพันธุ์ปลาจนประสบความสำเร็จ

Advertisement

“เรื่องประมง หัวใจหลักคือคุณภาพน้ำ สมัยนี้มีเครื่องวัดออกซิเจน วัดค่าความเป็นกรดด่างซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของปลา อีกอย่างที่นำเทคโนโลยีมาใช้คือทางออนไลน์ เราเน้นการตลาด ผลิตแล้วขายเอง ปีแรกของเรายอดขายทางออนไลน์สำเร็จเกือบทั้งหมด 100% สามารถหาแหล่งต้นทุน หาวัตถุดิบจากออนไลน์ได้ ส่วนใหญ่ใช้เฟซบุ๊กแฟนเพจ และไลน์” นายธีระกิจกล่าว

ด้าน น.ส.ดวงพรกล่าวว่า อยู่ จ.จันทบุรี ที่สวนปลูกมังคุดเป็นพืชหลัก และเนื่องจากจันทบุรีทำผลผลิตเชิงปริมาณ ทำให้ตลาดหลักคือการส่งออก ก่อนหน้านี้เคยทำงานออฟฟิศ แต่ที่บ้านเป็นสวน ช่วงที่แม่หมดภาระส่งลูกเรียนจึงประกาศให้เช่าสวน คิดว่าจะดีกว่าไหมหากเราดูแลพัฒนาสวนเอง จึงขอแม่เข้าไปทำทั้งที่ไม่มีความรู้ด้านการเกษตร ปรากฏว่าเป็น 3 ปีที่ขาดทุนย่อยยับ แต่ไม่ถอดใจ เพราะ 3 ปีนั้นเป็น 3 ปีที่ศึกษาจริง เริ่มจากหาความรู้จากเพื่อนบ้าน รอบสวน เข้ากลุ่มเกษตรกร ทุกที่ที่มีความรู้ให้เข้าไปศึกษาก็ไปหมด

“เรียนรู้ว่ามังคุดรดน้ำใส่ปุ๋ยยังไง แต่สิ่งสำคัญคือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมีผลต่อการออกดอก จากนั้นได้ปรึกษาความรู้กับ ผอ.อุตุนิยมวิทยาที่จันทบุรี เพื่อเตรียมการให้กับต้นไม้ เกิดเป็นโครงการรู้ทันฟ้าฝนของโครงการเกษตร เนื่องจากเรากำหนดสภาพอากาศไม่ได้ แต่หากมีข้อมูลแม่นยำย่อมเป็นสิ่งสำคัญ การดูสภาพอากาศใช้ทั้งแอพพลิเคชั่น เรดาร์ดาวเทียม ดูทั้งหมด เคล็ดลับความสำเร็จคือ ต้องมองตัวเอง มองความถนัด ดูพื้นที่ตามความเหมาะสม หาข้อมูลรอบด้านสำหรับการพัฒนา รวมถึงหาเครือข่ายทางการเกษตรทำการตลาดด้วย” น.ส.ดวงพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจบเสวนามีการแจกพันธุ์กล้วยน้ำว้าฟรีแก่ผู้เข้าฟัง จากนั้นเปิดให้ผู้ร่วมงานร่วมรับพันธุ์ไม้ฟรี โดยมีผู้สนใจเข้ามารับแจกจนหมดลงอย่างรวดเร็ว

ภายในงานผู้ร่วมงานจะได้พบกับไฮไลต์แห่งปีกับทุเรียนกว่าร้อยสายพันธุ์ อลังการพันธุ์ไม้ดอก ไม้ประดับจากสวนนงนุช พัทยา และเพลาเพลิน บุรีรัมย์ ฟังเสวนาเวทีเกษตร พร้อมคุยกับดิจิทัลฟาร์มเมอร์เกษตรคนดัง ลุ้นชิมฟรีสุดยอดทุเรียนพันธุ์หายากของเมืองไทยทุกวัน กิจกรรมออกบูธหนังสือของสำนักพิมพ์มติชน พร้อมช้อปสินค้าหลากหลาย ทั้งไม้ผล ไม้ประดับ ไม้หายาก ของฝาก ของกิน ของที่ระลึก อุปกรณ์การเกษตรกว่า 200 บูธ และร่วมรับพันธุ์ไม้แจกฟรีทุกวัน จำนวนจำกัด อาทิ พริก กล้วยน้ำว้า มะละกอแขกดำ มะละกอฮอลแลนด์ มะเขือเปราะ

ทั้งนี้ งานเกษตรมหัศจรรย์ 2561 “เกษตรสร้างสุข ยุคดิจิตอล” จะจัดไปจนถึงวันที่ 27 พ.ค. ที่ SKY HALLชั้น 3 เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image