เดินหน้าประชามติ โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

แฟ้มภาพ

 

ข่าวเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเริ่มดุเดือด

หวังว่าคงไม่ลุกลามไปถึงขั้นตีตราประทับกันว่า ให้ผ่าน-ดี ไม่ให้ผ่าน-เลว เหมือนสี่ขาดี-สองขาเลว ในแอนิมอลฟาร์มขึ้นมาอีก

เสียงหนึ่งบอกว่า มีขบวนการไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่อีกเสียงขัดคอว่า แล้วขบวนการจะให้ผ่านก็มี จะทำยังไงกันดี

Advertisement

ส่วน กรธ.บอกว่า เหนื่อยเหลือเกินกับกลุ่มบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ

เหมือนจะบอกว่าโดนผู้ร้ายรังแกจะแย่แล้ว

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่ข้อพิพาทของพระเอกสุดหล่อกับผู้ร้ายแสนเลวเหมือนละครทีวี

Advertisement

หากเป็นเรื่องของความคิดความเชื่อทางการเมืองที่แตกต่างกันไปคนละทาง

คณะกรรมการยกร่างฯ เป็นนักกฎหมาย หลายท่านเป็นครูบาอาจารย์ มีผลงานทางวิชาการเป็นที่เชื่อถือ แต่เมื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ใช่การมารวมตัวกันแต่งตำรากฎหมายไปสอนนิสิตนักศึกษา

แต่มารวมตัวกันยกร่างกฎหมายสำคัญ จะเขียนกฎหมายฉบับนี้ออกมาอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าได้ตั้งโจทย์ปัญหาไว้อย่างไร และจะใช้แนวคิดแบบไหนไปแก้ปัญหา

ดูจากผลงานที่ออกมา พอเข้าใจได้ว่า ผู้ยกร่างมีความคิดความเชื่อทางการเมืองอย่างไร

อาจจะเห็นว่าการเมืองระบบตัวแทน การให้ชาวบ้านเลือกนักการเมืองไปเป็นฝ่ายบริหาร เป็นบ่อเกิดปัญหา ทั้งการทุจริต คอร์รัปชั่น เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ

ลองไปพลิกอ่านร่างรัฐธรรมนูญกันดู จะเห็นความคิด ความเชื่อ ความกลัว อยู่เบื้องหลังบทบัญญัติต่างๆ

แต่ในสังคมสมัยใหม่ ความรู้เรื่องการเมือง รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เข้าถึงได้ในมหาวิทยาลัยทั่วไป แหล่งความรู้และสื่อต่างๆ จึงมีคนอีกมากที่ไม่ได้มองปัญหาอย่างที่ผู้ยกร่างเห็น

นักการเมืองที่เสียประโยชน์ เพราะกลายเป็นผู้ร้ายจากวิธีคิดของคณะผู้ยกร่างนั้นก็ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีผู้สนใจ และติดตามรู้เห็นเรื่องการบ้านการเมืองอีกมากที่เห็นต่างออกไป

คนเหล่านี้ก็เป็นสุจริตชน มีความสุจริตไม่แพ้ผู้ที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ

ก็เพราะคิดไม่เหมือนกัน เห็นไม่เหมือนกัน เชื่อต่างกันนี่เอง จึงต้องใช้วิธี “ประชามติ”

ลองเปิดกว้างให้เหตุผล ข้อมูลต่างๆ ได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ ไม่แบ่งแยก น่าจะได้ประชามติที่คุ้มค่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image