‘หมอธี’ ไล่บี้ทุจริตอีสาน พบมีมูลหลายเรื่อง แฉเพิ่มครูสาวร้อง‘บิ๊กสพท.’ส่งไลน์ลวนลาม ขอนอนด้วย

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)  เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า ล่าสุดตนได้เชิญพล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการศธ.  และเชิญผู้เกี่ยวข้องจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ ที่พล.ท.โกศล ตรวจพบมาดูรายละเอียด  เอกสาร และคนที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะเดินหน้าตรวจสอบทั้ง 3 เรื่อง  พบข้อมูลระดับหนึ่ง หลายเรื่องมีมูลชัดเจน เตรียมสอบสวนวินัย ทั้งนี้การตรวจสอบของตนจะใช้ขั้นตอนที่รวดเร็ว ตาม มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนด ให้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน  และหากเรื่องใดมีความชัดเจนให้สามารถสอบสวนได้ทันที ซึ่งจากการหารือ กับพล.ท.โกศ และสพฐ. ตนเองเห็นข้อมูลระดับหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากมีจำนวนมากจึงต้องขอเวลาและได้สั่งการให้ทีมกฎหมาย และสพฐ. เร่งตรวจสอบโดยที่สุด

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า เรื่องที่มีหลักฐานชัด และคิดว่าจะตั้งสอบสวนวินัยได้เร็ว  เช่น กรณีที่ผู้ค้าร้องเรียนว่า ขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อครุภัณฑ์ฝึกทักษะมัธยมศึกษาตอนต้น งบประมาณ 6 แสนบาทต่อโรงเรียน ว่าอาจจะมีการล็อกสเป็ก  ซึ่งงบฯดังกล่าวมีการแจ้งจัดสรร 458 โรงเรียน งบทั้งสิ้น 279 ล้านบาท แต่ภายหลังเมื่อมีการอนุมัติงบฯ พบว่า มีโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรงบฯทั้งหมด 600 กว่าโรงเรียน ซึ่งตอนนี้มีหลักฐานทางบัญชี มีหมดแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้  ยังมีขั้นตอนต้องสืบต่อ ว่าใครทำอะไร อย่างไร คงต้องใช้เวลา เพราะอาจจะเกิดการทำลายหลักฐาน  ขนาดตนเพิ่ง เปิดเผยการทุจริตเรื่องนี้ไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ล่าสุดยังพบว่า มีคนสั่งให้โอนงบฯ ดังกล่าวให้โรงเรียน แต่ฝ่ายกองคลังของ สพฐ. ไม่ได้โอน  ส่วนใครสั่งให้โอนนั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบ  ว่ามือมืดอยู่ที่ไหน กำลังเรียกหลักฐานมาดู

“ตอนแรกผมโกรธมาก ทั้งที่เพิ่งเปิดเผยเรื่องการทุจริตในโครงการนี้ แต่ยังมีไอ้โม่ง สั่งให้โอนเงิน ที่ผมรู้เพราะมีผู้หวังดีมาบอก และส่วนใหญ่เป็นคนในเกือบทั้งนั้น การโกงยุคนี้เป็นการโกงที่ยาก เพราะมีสื่อโซเซียลมิเดีย และคนดีมีมาก สัปดาห์หน้าให้ติดตาม เพราะตอนนี้ผมกำลังไล่แกะรอยการทุจริตทุกระดับ บางเรื่องทำกันมานาน อย่างเรื่องอนุมัติงบจัดซื้อครุภัณฑ์ 279 ล้านบาท เป็นอำนาจใคร ใช่อำนาจรัฐมนตรีหรือไม่ แล้วทำไมถึงอนุมัติได้ ให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบ และคนที่ชงเรื่องนี้พอแกะรอยแล้วเจอกลับไม่ใช่คน ที่มีหน้าที่เป็นแค่รักษาการ ขณะที่คนที่มีหน้าที่กลับไม่ยอมเซ็นเพราะรู้ว่าจะมีการทุจริตกัน ดังนั้นขอเวลาให้ผมสืบก่อน ขอให้ใจเย็น ๆ เดี๋ยวไก่ตื่นหมด”นพ.ธีระเกียรติกล่าว

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีตกพบพฤติกรรมของผู้บริหารเขตพื้นที่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) บุรีรัมย์ เขต 2  มีการตกเขียว เรียกเงิน 10%จากผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ให้โรงเรียนจ่ายก่อน 5% เมื่อได้รับงบฯ แล้ว ให้จ่ายอีก 5%  ในปีงบประมาณ 2562 นั้น มีหลักฐานเป็นทางวาจา ซึ่งต้องเข้าใจว่า การทุจริตที่พบในพื้นที่ภาคอีสาน โชคดีที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่เราตรวจสอบพบก่อน ความเสียหายยังไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นถือว่า เราป้องกันได้  สิ่งที่เราต้องตรวจสอบ เมื่อมีการเตรียมการทุจริต จะเป็นเรื่องทางวินัย ซึ่งต้องรอบคอบ เพราะวิธีปฏิบัติมีอยู่ ดังนั้น ต้องขอเวลาทีมพล.ท.โกศล และผม ลงไปแกะหลักฐาน  หลายเรื่องตนไม่รอสพฐ.สืบ เพราะประวัติศาสตร์บอกหลายเรื่องดำเนินการช้า เช่น กรณีเจ้าหน้าที่พัสดุ ใน สพป.นครราชสีมา เขต 5 ที่มีการวางฎีกาเบิกเงินซ้ำ กับเงินที่โรงเรียนได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว กลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่พัสดุ โดยคนเดียว แต่ไม่ดูว่าใครสั่ง  ขณะนี้มีหลักฐานเพิ่ม ว่ามีการเตรียมการฎีกาซ้อนเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งต้องรวบรวมหลักฐานว่ามีการวางฎีกาของใหม่ซ้อนขึ้นมาอีก ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่เกิด แต่ต้องตรวจสอบ ลงไปด้วยว่า ของเก่าที่เกิดขึ้นไปแล้วมีเท่าไร เพราะตรงนั้นจะเป็นส่วนที่ทุจริต  เรื่องนี้เกิดที่จังหวัดในภาคอีสาน โอกาสที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดอื่นจึงมี ดังนั้นตนจึงต้องการป้องกันไว้ก่อน ทั้งนี้ ล่าสุด มีครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ส่งข้อมูล ทางไลน์ คนรู้จักของตน ให้ตรวจสอบ ว่ามีผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯ แห่งหนึ่งส่งไลน์ลวนลามครู และขอนอนด้วย ซึ่งตนได้สั่งการให้พล.ท.โกศล ตรวจสอบ และส่งเรื่องให้สพฐ. ดำเนินการแล้ว  ส่วนจะเป็นพื้นที่ใด นั้นยังไม่ขอเปิดเผย

Advertisement

พล.ท.โกศล กล่าวว่า  ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยความคืบหน้า กรณีเจ้าหน้าที่พัสดุ สพป.นครราชสีมา เขต 5 มีการวางฎีกาเบิกเงินซ้ำ กับเงินที่โรงเรียนได้มีการเบิกจ่ายไปแล้วนั้น ตนได้คุยรายละเอียดกับทาง สพฐ. แล้ว เบื้องต้นทราบว่าทางเขตพื้นที่ฯได้ตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และตนได้เห็นของมูลจากเขตพื้นที่ฯ แล้ว จากนี้ต้องไปสอบถามทางศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ว่ามีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยแล้วหรือยังและตั้งสอบใครบ้าง ถ้าโยงไม่ถึงคนที่เกี่ยวข้อง ที่ตนตรวจสอบพบ ก็ต้องให้มีการสอบเพิ่ม

“ทุกสิ้นปีงบประมาณ จะมีงบฯเหลือ คนกลุ่มนี้จะตั้งฎีกาลอย หมายถึงการตั้งเบิกเตรียมไว้ เป็นการเบิกซ้ำซ้อนกับสิ่งที่โรงเรียนได้เบิกไปแล้ว และทำกับร้านประจำ ซึ่งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร มีการทำหลักฐานไว้ครบถ้วน ชัดเจนถ้าเจ้าหน้าที่พัสดุกับฝ่ายการเงิน ไม่ร่วมหัวจนท้ายกัน คงทำไม่ได้ ชัดเจนว่า เรื่องนี้ทำเป็นกระบวนการ เพราะปกติเจ้าหน้าที่พัสดุ จะไปวางฎีกาเบิกไม่ได้ เรื่องนี้ต้องไปตรวจสอบ แต่ผมตั้งข้อสังเกตว่า การจะทำแบบนี้ผู้บริหารระดับสูงไม่รู้เห็น คงไม่ได้ เพราะเลขรหัสต่างๆ จะมีเพียงผอ.เขตพื้นที่ฯ และหัวหน้าการเงินและบัญชีเท่านั้น แต่นี้กลายเป็นว่า มีรหัสอยู่หลายคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่พัสดุ ซึ่งก็คือครู และอาจไม่รู้เรื่องหรืออาจถูกขโมยรหัสไปก็ได้”พล.ท.โกศลกล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image