เสียงทักทายจากวันพรุ่งของเมื่อวาน โดย กล้า สมุทวณิช

แฟ้มภาพ

ปรากฏการณ์สนุกๆ ในโลกโซเชียลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรืออันที่จริง อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเรื่อง “สนุก” ของคนกลุ่มหนึ่ง ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งน่าจะไม่สนุกด้วย

จากข้อสังเกตของใครหลายคนว่า ในช่วงรัฐบาลอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์นั้น “ผู้คน” จำนวนหนึ่ง ออกมาอวดแสดงความตื่นรู้ทางการเมือง เปิดเผยซึ่งความห่วงใยในประเด็นต่างๆ ของประเทศ และออกมาคัดค้าน แสดงความเห็นต่างๆ นานา ต่อทุกนโยบายหรือโครงการที่รัฐบาลในครั้งนั้นได้จัดทำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการจำนำข้าว โครงการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่จะอาศัยพระราชบัญญัติชื่อเดียวกันนั้นกู้เงินสองล้านล้าน มาเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งมีรถไฟความเร็วสูงเป็นตัวชูโรง โครงการบริหารจัดการน้ำ หรือกระทั่งโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์

ก่อนที่ประชาชนตื่นรู้กลุ่มเหล่านั้นจะรวมตัวกันในชื่อของกลุ่ม กปปส. เป่านกหวีดขับไล่รัฐบาลในขณะนั้นไปทั่วเมือง จนกระทั่งเหตุการณ์ลาดไหลลงสู่การรัฐประหารครั้งล่าสุด ยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาจนบัดนี้

ทั้งหมดคือเรื่องในอดีตเกือบสามปีที่แล้ว กระทั่งผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันกลุ่มหนึ่งนึกสงสัยว่า ผู้คนผู้ตื่นรู้เหล่านั้นอยู่ที่ไหนกันบ้างหนอ ตอนนี้ประเทศไทยเรากำลังจะมีรถไฟความเร็วสูงเทคโนโลยีจีนด้วยสตางค์คนไทย (ด้วยราคาแพงกว่าอีกร่วมล้านล้านบาท) แต่ได้รถไฟเพียงสายเดียวไปถึงแค่โคราช และตอนนี้เขื่อนที่เดินต้านกันล้มประดาตายนั้นก็ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาจะสร้างแล้วนะ รวมถึงเรื่องสภาผัวสภาเมียที่ดูว่าจะถอยหลังเข้าคลองในตอนนั้น ในวันนี้เราพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นด้วยสภาผัวเมียแถมลูกชายลูกสาวครบเป็นสภาครอบครัวกันเลยจ้า

Advertisement

มนุษย์ช่างสงสัยเหล่านั้น จึงเดินทางข้ามเวลาไปพูดคุยกับพวกเขา ซึ่งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีรูหนอนควอนตัมอะไรทั้งสิ้น เพียงแค่เข้าไปไต่ “เส้นเวลา” หรือ Time line ของระบบ Facebook ที่สามารถค้นคืนข้อความที่บุคคลเหล่านั้นเคยแสดงความคิดเอาไว้

ก่อนจะไปทักทายกันเบาๆ ว่า “สวัสดี เรามาจากโลกอนาคต”

เพียงเท่านั้นก็ก่อให้เกิดความสนุกสนานปั่นป่วน ด้วยว่าระบบของ Facebook นั้น จะไปแจ้งเตือนยังเจ้าของข้อความเหล่านั้นว่ามีผู้คนมากดถูกใจหรือโพสต์คุยกับคุณในสเตตัสนั้นรูปภาพนี้ ผู้คนจากโลกอนาคตของอดีต เสียงทักทายเหล่านั้นเอง ก่อให้เกิดความขำเคืองและเดือดดาลตามแต่วุฒิภาวะทางอารมณ์ของเจ้าของข้อความ

Advertisement

พร้อมข้อแก้ตัวว่า “ไม่ได้โพสต์เรื่องการเมืองนานมากแล้ว” บ้าง “การเมืองนั้นไม่สำคัญ เท่ากับการทำสิ่งเล็กๆ ในตัวเราให้ดีก่อน” หรือว่า “ผมก็ทำอยู่ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดิมเหมือนตอนนั้น” ฯลฯ

หรือบ้างก็ถึงขนาดขู่จะดำเนินคดี หรือไม่ก็แอบเนียนมาสั่งลบข้อความหรือรูปภาพนั้น ปฏิกิริยาสะดุ้งสะเทือนด้วยเสียงทักทายจากโลกอนาคตนั้นไม่ปรานีใคร ไม่ว่าจะเป็นป้าสลิ่มในที่ทำงานของท่าน นักอนุรักษ์ชื่อดังออกสื่อบ่อย หรือนักแต่งเพลงระดับตำนานก็ตาม

ปฏิกิริยาตอบสนองเหล่านั้น พาให้นึกไปถึงคำสอนหนึ่งว่า ก่อนที่เราจะตัดสินทำอะไรลงไป ขอให้เราคิดถึงว่าตัวเราในอนาคตจะรู้สึกอย่างไร และหากเหตุการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไปแล้ว เราจะภูมิใจกับการกระทำนั้นๆ หรือจะอับอายไม่อยากกล่าวถึง และผลักมันทิ้งไปอยู่ในตะกร้า “เรื่องเห่ยวันวาน” กันนะ

เทคโนโลยีสมัยนี้นั้นน่ากลัวตรงที่ว่า ผู้คนสามารถเข้าไปค้นคืนความทรงจำหรือสิ่งที่คุณแสดงออกกลับคืนมาย้ำเตือนได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนยุคสมัยที่พูดปากเปล่าเล่าแล้วก็ลืมไป หรืออาจจะเคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ซึ่งก็อาจกลายเป็นถุงกล้วยแขกไปหมดภายในเวลาไม่ถึงปีนับจากการตีพิมพ์ หรือแม้แต่ในยุคเริ่มแรกของสังคมออนไลน์ในเว็บบอร์ด ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีที่จะลบกระทู้เก่าออกเพื่อรักษาพื้นที่

หากปัจจุบันเราอยู่ในอนาคตของอดีตที่หน่วยความจำพื้นฐานว่ากันที่เทียบเท่าหนึ่งล้านล้านคำ โทรศัพท์กว่าสองในสามต่อเชื่อมเข้ากับเครือข่ายเดียวกัน ผู้คนทั้งหลายพูดคุยอยู่บนพื้นที่เดียวกัน พื้นที่ซึ่งเวลาที่ล่วงไปนั้นเป็นมิติรูปธรรมที่ดึงคืนค้นกลับมาได้

คงไม่อาจสรุปได้ว่า การเดือดร้อนไล่ลบ “อดีต” ของตัวเองนั้นมาจากความอับอายหรือเพียงแค่รำคาญ แต่การที่นานๆ ครั้ง ความทรงจำค้นคืนขึ้นมาสอบถาม “สัญญาณตอบรับ” ของท่านอีกครั้งเมื่อเวลามันเปลี่ยนไป ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ใช้ทดสอบหลักการและจุดยืนที่ดีมิใช่หรือ

ว่าท่านเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงนั้นยังไม่จำเป็นต่อประเทศในขณะนี้ หรือท่านแค่ไม่อยากให้นักการเมืองที่ท่านชังน้ำหน้าเป็นผู้สร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น

ว่าท่านเห็นว่าวินัยการคลังเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรักษาไว้เพื่อมิให้ระบบการเงินของชาติประเทศล่มจม หรือท่านว่าวินัยการคลังเป็นโซ่ตรวนเอาไว้ล่ามรัฐบาลที่ไม่ได้ประกอบจากพรรคขวัญใจท่าน

ว่าท่านมีความ “กล้าหาญ” ออกมาเดินต้านเขื่อนอย่างอึกทึกครึกโครมได้หากอยู่ในสมัยรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งความกล้าหาญและความกระตือรือร้นของท่านก็เหี่ยวหดลงได้ในมือของรัฐบาลที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ

ว่าท่านสนใจการเมือง มุ่งตรวจสอบการทุจริตโดยแท้จริง เพื่อหวังจะเห็นประเทศไทยใสสะอาดปราศจากคอร์รัปชั่น หรือท่านสนใจแต่เฉพาะว่า “นักการเมืองในระบบเลือกตั้ง” เท่านั้นที่ทุจริต

หรือถ้ากล้าหาญกว่านั้น ท่านอาจจะยอมรับตรงๆ ว่าท่านไม่สนใจหรอกว่าใครจะทุจริต จะมีสภาผัวเมีย ใครจะสร้างรถไฟความเร็วสูงราคาเท่าไร มิได้อินังกับเรื่องเขื่อนเรื่องเขาอะไรหรอก เพียงแค่อยากขอติดรถฟรีไปไล่รัฐบาลในขบวนใหญ่ด้วย เรื่องต่างๆ ข้างต้นเป็นเพียงข้ออ้างเกเรเอาไว้ใช้เมื่อพรรคการเมืองที่ท่านเลือกแพ้การเลือกตั้ง แล้วท่านพาโลเพราะไม่ยอมรับกติกาว่าคนส่วนใหญ่เขาชอบอีกพรรคหนึ่งมากกว่า เมื่อพวกเมื่อพรรคที่ขวางหูขวางตาหายไปหมดแล้ว ท่านก็หลุดพ้นความตื่นรู้ กลับสู่ภาวะจำศีลทางการเมืองใหม่ ก่อนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น กินอาหารฝรั่งเศส ปฏิบัติธรรมที่ศรีลังกาอย่างหมดความไยดีต่อเรื่องอนาคตของประเทศและการเมืองใดๆ อีกต่อไป

คำถามนี้ไม่ได้ตั้งเพื่อให้ท่านไปตอบใคร แต่หากก็ควรที่จะตอบตัวท่านเองอย่างซื่อสัตย์ด้วยคำถามเดียวกันนั้นเอง

ซึ่งถ้าท่านยืนยันได้ ว่าท่านจะวิพากษ์รถไฟความเร็วสูงไม่ว่าใครจะสร้าง ไม่ยอมรับสภาครอบครัวไม่ว่าจะเลือกตั้งมาหรือไม่ หรือจะต้านเขื่อนด้วยมาตรฐานเดิมไม่ว่ากับรัฐบาลใดๆ เมื่อนั้นเองที่ท่านจะยืดอกตอบผู้มาจากอนาคตได้อย่างผึ่งผาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image