ประสานักดูนก : นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว : โดย นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

นกกระเต็นน้อยคาบจิ้งเหลนด้วง

นกกระเต็นขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย ด้วยความยาวเพียง 12-14 ซม. ชนิดนี้นับเป็นที่หมายปองของนักดูนกเพราะสีสันฉูดฉาดหลากสี ไม่แพ้หลอดไฟนีออน ด้วยสีเหลือง ส้ม ม่วง และน้ำเงินประดับบนนกตัวเล็กๆ พอๆ กับนกกระจอก ที่พิเศษอีกประการ นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว Oriental Dwarf Kingfisher ต่างจากนกกระเต็นชนิดอื่นๆ ของไทย ที่มีเพียง 3 นิ้วตามชื่อไทย

“นกกระเต็น” มีลักษณะทางกายวิภาคของนิ้วตีนต่างจากนกส่วนใหญ่ ที่นิ้วด้านหน้า 2 จาก 3 นิ้ว เชื่อมกันบางส่วน เรียกว่า syndactylous บ่งบอกความโบราณของบรรพบุรุษที่เหลือรอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน แต่เจ้ากระเต็นน้อยสีนีออน กลับ มีเพียง 3 นิ้วแทนที่จะเป็น 4 นิ้วเหมือนญาติร่วมสกุลชนิดอื่นๆ ที่ขนาดใหญ่กว่า

เจ้าสามนิ้วจัดเป็นนกกระเต็นป่า เช่นเดียวกับนกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน นกกระเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล แม้จะขุดโพรงบนตลิ่งริมลำธาร แต่น้อยครั้งจะจับปลากิน อาหารส่วนใหญ่ของมันกลับเป็นสัตว์บกนานาชนิด ที่มักพบได้ตามพื้นป่า อาทิ ด้วง แมงมุม แมงป่อง กบ กิ้งก่า จิ้งเหลน งู จิ้งจก ตุ๊กแกบิน เหยื่อบางตัวยาวใหญ่กว่าตัวเจ้าสามนิ้วหลายเท่า

หากคิดถึงตอนมันกินเหยื่อ จะยิ่งทึ่งเพราะนกกระเต็นไม่สามารถฉีกทึ้งเหยื่อได้เหมือนนกนักล่า หรือนกเค้าแมว เพราะลักษณะของนิ้วตีนที่เชื่อมกัน และท่อนขาที่สั้นเต่อมากๆ อีกทั้งลักษณะของจงอยปากสีแดงสด ยาวตรง อวบหนา ขอบแหลม ทำหน้าเหมือนปากคีบ แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ถ้านกกระเต็นจะพยายามฉีกเหยื่อที่ล่าได้เป็นชิ้นๆ ดังนั้นนกกระเต็นจะต้อง กลืนเหยื่อที่สลบหรือตายคาปาก หลังจากฟาดกับกิ่งไม้แล้ว เข้าไปทั้งตัว! เรียกว่าคำเดียวอิ่มไปทั้งวัน

Advertisement

ดังนั้นถ้ามีโอกาสได้เฝ้าดูนกกระเต็นน้อยสามนิ้วจับเหยื่อมาป้อนลูกน้อยในโพรงดิน ที่นกจะขุดเข้าไปเป็นเส้นตรง ยาวถึง 1 เมตร และวางไข่ได้มากถึง 7 ฟอง! จะเพลิดเพลินมาก เสมือนได้ชมหนังสารคดีชุดใหญ่ของระบบนิเวศในป่าดิบที่เจ้าสามนิ้วอาศัยอยู่ ว่ามีสัตว์บก อาทิ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอะไรบ้าง หากมองย้อนมุม พินิจชนิดของเหยื่อที่นกกระเต็นน้อยสามนิ้วล่าได้ บ่งบอกความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศย่อยๆ บนผืนป่าที่นกกระเต็นเรียกว่าบ้านนั่นเอง และเฉดสีนีออน เช่น สีเหลือง ส้ม ม่วงของขนบนตัวที่ฉูดฉาดก็มาจากเม็ดสีแคโรทีนอยด์ ซึ่งนกผลิตเองไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหาร ที่นกกระเต็นได้จากเหยื่อที่กินพืช ผลไม้และสัตว์อื่นๆ

ในอดีตนักปักษีวิทยาแบ่งนกกระเต็นน้อยสามนิ้วเป็น 2 ชนิด คือ “หลังดำ” และ “หลังแดง” โดยนกกระเต็นน้อยหลังดำจะมีขนบนหลังและชนคลุมบนปีกสีน้ำเงินเข้ม แต่จะเป็นสีส้มแดง ในนกกระเต็นน้อยหลังแดง

อย่างไรก็ตาม นกกระเต็นน้อย 2 กลุ่มประชากรนี้มีการผสมข้ามพันธุ์กัน เกิดลูกนกกระเต็นบางตัวที่สีสันของหลัง ก้ำกึ่งระหว่างสีแดงและสีน้ำเงิน ปัจจุบันจึงถูกรวบกลายเป็นชนิดเดียวกัน มีชื่อว่านกกระเต็นน้อยสามนิ้ว โดยกลุ่มหลังดำเป็นนกประจำถิ่น อาศัยอยู่ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ในขณะที่กลุ่มหลังแดง ทำรังวางไข่ในภาคใต้ และมีนกบางตัวของกลุ่มหลังดำที่อพยพย้ายถิ่น จึงพบได้ในสวนสาธารณะในภาคกลาง อาทิ กทม. ได้เช่นกัน

Advertisement

ข้อมูลเพิ่มเติม http://birdsofthailand.org/bird/oriental-dwarf-kingfisher

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image