ดิวตี้ฟรี เกมธุรกิจเดิมพันสูง

หลังคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ดทอท. มีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ให้เปิดประมูล 3 สัญญาใหญ่ กิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) กิจกรรมเชิงพาณิชย์ (Retail, F&B, Service และ Bank) และกิจการให้บริการเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ มติดังกล่าวเสมือนหนึ่งการเปิดฉากเกมธุรกิจช่วงชิงเค้กมูลค่าแสนล้าน ซึ่งมีบริษัทดิวตี้ฟรียักษ์ใหญ่อย่างน้อยจาก 3 ประเทศที่เตรียมเข้าสู่สมรภูมิ ประกอบด้วย คิง เพาเวอร์ เจ้าของพื้นที่เดิมจากประเทศไทย ล้อตเต้ บริษัทดิวตี้ฟรียักษ์จากประเทศเกาหลีใต้ และดีเอฟเอส ดิวตี้ฟรีชื่อดังสัญชาติสิงคโปร์

ที่จริงบรรยากาศอาจจะยังไม่ถึงระดับแดงเดือด หากไม่มีผู้เล่นอีกรายกระโดดเข้าสู่สงคราม กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำธุรกิจค้าปลีก ได้จับมือกับดีเอฟเอส กระโจนเข้าร่วมทำศึกดิวตี้ฟรีด้วยความคึกคะนองอย่างยิ่ง

การประมูลรอบนี้ไม่มีใครสามารถประเมินได้ว่ามูลค่าจะสูงแค่ไหน แต่ทุกคนทราบดีว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามามากกว่า 60 ล้านคนต่อปี สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินหลักต่างๆ เป็นประตูเข้าออกที่สำคัญ ฉะนั้น ร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าปลีก และบริการต่างๆ ในพื้นที่ท่าอากาศยานนั้นเปรียบเสมือนเหมืองทองคำขนาดใหญ่

การแข่งขันอย่างเสรีในรูปแบบการเปิดประมูล ควรดำเนินไปตามครรลองของเกมธุรกิจในยุคสมัยใหม่ที่วางตัวอยู่บนฐานความ “แฟร์” แต่จู่ๆ กลับมีผู้เล่นรายหนึ่งซึ่งมิได้มีสถานะเป็นผู้ร่วมประมูลหรือคู่ต่อสู้ทางธุรกิจโดยตรง ได้ออกหน้าวิพากษ์ถึงหลักเกณฑ์การประมูลอย่างเผ็ดร้อน ผู้เล่นรายนี้มาในรูปของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย บทบาทของสมาคมแห่งนี้ทำให้ผู้ติดตามข่าวการประมูลดิวตี้ฟรีเกิดสับสนงงงวยขึ้นมา

Advertisement

ทุกครั้งที่ปรากฏข่าวคราวเกี่ยวกับสัมปทานดิวตี้ฟรีเป็นต้องมีชื่อสมาคมนี้ออกมาเรียกร้อง ทำให้เกิดข้อสงสัยและข้อกังขาพอสมควร ถึงที่มาและที่ไปของสมาคมฯ

วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกคนปัจจุบัน ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน อดีตเจ้าของ Officemate ที่กลุ่มเซ็นทรัลเข้าเทคกิจการตั้งแต่ปี 2012 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือธุรกิจออนไลน์ของกลุ่มเซ็นทรัลนั่นเอง

เมื่อค้นข้อมูลสมาคมย้อนขึ้นไปอีกหน่อยก็พบว่า ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกมาจากกลุ่มเซ็นทรัลถึง 6 คน จากประธานที่ผ่านมา 9 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกนักหากมองว่ากลุ่มเซ็นทรัลเองก็เป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกอยู่แล้ว แต่หลายแอ็คชั่นที่ผ่านมาทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเข้ามาเกี่ยวข้องตรงส่วนไหนของธุรกิจดิวตี้ฟรี ทั้งที่ในความเป็นจริงสมาคมน่าจะเป็นปากเป็นเสียงให้กับกลุ่มผู้ค้าปลีกรายที่กำลังประสบปัญหาหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาวการณ์ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เช่นทุกวันนี้  

ช่วงตุลาคม ปี 2561 สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและกลุ่มรีเทลในนามบริษัทร่วมทุน แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ ไทยแลนด์ สามารถเข้าสู่โครงการ Downtown Vat Refund For Tourist ด้วยการเปิดจุดคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ จุดขาย ให้กับนักท่องเที่ยวได้ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ถือได้ว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของวรวุฒิ อุ่นใจ ทั้งๆ ที่บริการนี้ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด จากกลุ่มซีพีได้สัญญามาแล้ว

ล่าสุดสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาเปิดแถลงข่าวหลังจากบอร์ด ทอท. มีมติเรื่องการประมูลดิวตี้ฟรี ร้านค้าเชิงพาณิชย์ และจุดรับส่งสินค้า วรวุฒิ ย้ำท่าทีของสมาคมไม่เห็นด้วยที่จะมีผู้รับสัมปทานแบบรายเดียว (Master Concession) พร้อมกับเรียกร้องให้บอร์ด ทอท. ใช้ระบบสัมปทานตามกลุ่มสินค้า (Multiple Concession by Category) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่ต้องการขยายอาณาจักรเข้าสู่ตลาดค้าปลีกในสนามบิน ที่มีกำลังซื้อสูงและอัตราขยายตัวอย่างรวดเร็ว   

การออกโรงของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องดิวตี้ฟรี ทำให้ข่าวคราวการประมูลครั้งนี้ถูกจับตามองมากขึ้นเป็นพิเศษ เกมธุรกิจที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรซับซ้อนจึงกลายเป็นเกมธุรกิจที่มีเดิมพันสูง น่าติดตามว่าจากนี้จะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์อะไรเกิดขึ้นหรือไม่.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image