สำรวจชีวิต “น้อยแต่มาก” ของ “ซันเต๋อ” ผู้ออกแบบภาพประกอบงานวิ่ง FEED RUN FOR FUTURE

หลายคนจัดภาพวาดของ SUNTUR“ซันเต๋อ” ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล ศิลปินวาดภาพประกอบชื่อดังที่มาแรงในช่วงหลายปีนี้ให้อยู่ในสไตล์ “มินิมัล” แต่สำหรับเจ้าตัว เขาขอเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นเรื่อง “น้อยแต่มาก” ที่ไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่ภาพวาด ทว่าคือวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่เขาพึงใจ

    ผลงานของซันเต๋อ มีทั้งโปรเจกต์ส่วนตัวที่นำเสนอภาพวาดผ่านโลกโซเชียลมีเดียและนิทรรศการของตัวเอง รวมทั้งโปรเจกต์ที่ทำงานกับลูกค้าแบรนด์ต่างๆ อาทิ บิวตี้แบรนด์ระดับโลก ทั้ง ลาแมร์ (La Mer) อินนิสฟรี (Innisfree) ไม่นับศูนย์การค้าชั้นนำและแบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย ที่เชื่อมั่นในฝีมือและไอเดียของเขา 

    บ่ายวันหนึ่งใกล้กลางเดือนธันวาคม โค้งสุดท้ายของปี 2563 ศิลปินหนุ่มวัย 31 ปี เปิดสตูดิโอย่านสัมมากรให้เราพบปะพูดคุยอัปเดตความเป็นไป โดยเฉพาะโปรเจกต์ล่าสุดที่ซันเต๋อร่วมงานกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) อีกครั้ง อย่างการออกแบบภาพประกอบ FEED RUN FOR FUTURE งานวิ่งอารมณ์ดีที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี 2564 ที่สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี 

ภายในสตูดิโอของซันเต๋อ นอกจากโต๊ะทำงานและชั้นวางของด้านหลังแล้ว ก็มีเพียงชั้นตะกร้าใส่สี ขาตั้งวางเฟรมผ้าใบ โซฟาสีเทาแสนนุ่ม และต้นไม้ในกระถาง ที่สีเขียวของใบและแสงเงาของมันตัดกับผนังสีขาวของห้องได้อย่างสะดุดตา เป็นอีกอย่างที่สะท้อนความเรียบง่ายแบบมีรายละเอียดของเขาได้เป็นอย่างดี

Advertisement

คน ไดโนเสาร์ ต้นไม้ สู่ลายเส้นสดใสของงานวิ่ง FEED RUN FOR FUTURE

    หลังจากออกแบบบูธและของพรีเมียมให้สำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเดือนเมษายนปีที่แล้ว จนเรียกเสียงฮือฮาและสร้างความประทับใจให้นักอ่านจำนวนมาก 

Advertisement

    ปีนี้ ซันเต๋อร่วมงานกับเครือมติชนอีกครั้ง ในโปรเจกต์ภาพวาดลายเส้นสวยๆ สำหรับงานวิ่ง FEED RUN FOR FUTURE จัดโดย FEE:D สื่อดิจิทัลภายใต้เครือมติชน ที่ซันเต๋อถ่ายทอดความมินิมัลเข้ากับความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าของการวิ่ง และบรรยากาศสวยๆ ภายในสวนนงนุช พัทยา ได้อย่างลงตัว ผ่านคน ไดโนเสาร์ และต้นไม้นานาพันธุ์ ที่เพียงแค่เห็นก็ทำเอาหลายคนอยากไปสัมผัสบรรยากาศจริง

    เขาเล่าถึงแนวคิดในการออกแบบภาพประกอบงาน FEED RUN FOR FUTURE ว่า โจทย์ที่ได้รับคืองานวิ่งที่สวนนงนุช พัทยา จึงไปดูว่าสวนนงนุช พัทยา มีสัญลักษณ์อะไรที่เป็นจุดเด่นที่ทุกคนจำได้ ก็ไปเจอ “หุบเขาไดโนเสาร์” ที่มีรูปปั้นไดโนเสาร์หลายร้อยตัว ท้ายสุดเลยปิ๊งไอเดียเป็นภาพไดโนเสาร์คอยาว ส่วนต้นไม้ก็หาข้อมูลว่าในสวนนงนุช พัทยา มีต้นไม้ชนิดใดที่สื่อถึงความหลากหลายของพันธุ์พืชได้บ้าง แล้วหยิบรูปร่างของต้นไม้เหล่านั้นมาถ่ายทอด

    “ผมมีหน้าที่คิดต่อว่าไดโนเสาร์ที่ใช้จะเป็นแบบไหน ต้นไม้แบบไหน คนแบบไหน สำหรับผมแล้วคนที่จะเห็นภาพประกอบนี้คือกลุ่มคนที่กว้างมาก เพราะฉะนั้นรูปและลายเส้นที่เลือกใช้ต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นแล้วเข้าใจได้ง่าย เลยเลือกทุกอย่างมาวาดให้น่ารัก ใช้สีสันสดใส ดูแล้วรู้สึกอารมณ์ดี ให้คนทุกเพศทุกวัยดูแล้วเข้าใจว่า FEED RUN FOR FUTURE เป็นงานวิ่งที่สนุก มีชีวิตชีวา” 

    เมื่อถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับการออกกำลังกายในความคิดของซันเต๋อ ศิลปินรุ่นใหม่ยิ้มกว้างก่อนตอบว่า ทั้งสองอย่างมีจุดร่วมกันคือทำให้มีสมาธิและมีความสุข สำหรับปีหน้า ซันเต๋อก็จะยังมุ่งมั่นทำงานในโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่เขาสะสมไอเดียไว้ต่อไป ส่วนสิ่งที่จะเพิ่มเติมเข้ามาในชีวิตคือการดูแลสุขภาพ

    “สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สำคัญกว่าเงินอีก ปีหน้าผมคงเริ่มออกกำลังกาย อาจจะวิ่งหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่อยากทำเพื่อสุขภาพเสียที” 

“ศิลปะคือความเรียบง่าย” 

    “คนจะบอกว่างานผมมินิมัล ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่เหมือนทุกคนจะเรียกอย่างนั้น ผมก็โอเค ส่วนตัวผมมองว่างานตัวเองอาจจะเป็นงานเข้าใจง่าย ดูสบายตา ลายเส้นคลีน ดูสะอาดมากกว่า” ซันเต๋อเริ่มหัวข้อที่ว่าด้วยสไตล์งานที่เป็น “ลายเซ็น” ของเขา 

    ย้อนไปสมัยประถม เด็กชายยศนันท์จะตื่นเต้นเสมอเมื่อถึงวิชาศิลปะ เพราะเป็นวิชาเดียวที่ทำได้ดี พอมีการประกวดวาดรูปหรือระบายสีก็มักจะได้รางวัลติดไม้ติดมือเสมอ ครั้งหนึ่งที่เขาจำได้ไม่ลืมคือการประกวดระบายสีในวันสุนทรภู่ ที่ครูแจกภาพพระอภัยมณีและนางเงือกให้ระบายสี เด็กชายยศนันท์เอาสีไม้ของเพื่อนมาละเลง ปรากฏว่าติด 1 ใน 3 อันดับที่ดีที่สุดของชั้นเรียน จนเขาคิดว่าขนาดไม่ตั้งใจระบายสียังได้รางวัล ถ้าครั้งต่อไปตั้งใจทำจริงๆ จะแค่ไหน จุดนั้นเลยทำให้เขาคิดว่าตัวเองน่าจะมุ่งไปทางศิลปะ 

    ถึงอย่างนั้น ตอนที่เป็นนักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ รั้วศิลปากร เขาก็ยังไม่แน่ใจว่าการวาดรูปจะเป็นอาชีพหลักได้หรือไม่ จึงชิมลางด้วยการทำงานโฆษณาช่วงปี 4 เทอม 2 พอเรียนจบก็รับจ๊อบเล็กๆ ที่เป็นงานวาดรูปควบคู่ไปด้วย เริ่มจากวาดลงนิตยสาร วาดโปสเตอร์ ประกอบกับการลงภาพวาดในอินสตาแกรมและเฟซบุ๊กส่วนตัว ทำให้มีคนเห็นผลงานมากขึ้น ลูกค้าเริ่มเข้ามาจ้าง และมีโอกาสทำงานร่วมกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมากขึ้น 

    หลังจากรับวาดภาพควบคู่กับทำงานโฆษณาอยู่เกือบ 5 ปี ซันเต๋อก็ตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วยึดอาชีพนักวาดภาพประกอบอย่างเต็มตัว 

    “ผมเป็นคนไม่ค่อยกล้าเสี่ยง เลยทำสองอาชีพพร้อมกันเพื่อดูว่าไปได้มั้ย คือถ้าจะกระโดดออกจากงานเราต้องมีฟูกที่หนา จึงต้องหางานและสร้างคอนเนคชันจนถึงระดับหนึ่งที่ฟูกเราหนา เราพร้อมกระโดดแล้ว

    “ตอนนั้นตอบไม่ได้ว่าลาออกมาแล้วจะดีกว่ามั้ย แต่เท่าที่ทำมาก็รู้สึกว่าทำได้ เพราะถ้าทำไม่ได้ก็กลับไปทำออฟฟิศเหมือนเดิม แต่ว่าถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้กลับไปทำ มันมีอะไรให้ต่อยอดไปเรื่อยๆ นอกจากรับงานลูกค้า ผมยังทำนิทรรศการ ขายงานวาดรูป แล้วก็ทำแบรนด์ SUNTUR STORE ขายสินค้าที่ต่อยอดจากงานศิลปะของเรา” 

ในความเป็นศิลปิน ซันเต๋อบอกว่าสไตล์งานของเขาก็มีปรับเปลี่ยนไปบ้างเหมือนกัน ตามอายุและประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น แต่หลักๆ ก็ยังคงเป็นสไตล์ที่ดูเรียบง่าย สบายตา และลายเส้นสะอาดๆ เหมือนเดิม ซึ่งเอาเข้าจริง สไตล์เหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การวาดรูปเท่านั้น แต่ยังอยู่ในวิถีชีวิตของศิลปินหนุ่มอย่างแยกไม่ออก อย่างที่เขาบอกว่า ความเรียบง่ายไม่ใช่แค่งานวาดรูป แต่การเลือกซื้อเสื้อสักตัว รองเท้าสักคู่ หรือการตกแต่งห้อง ก็สะท้อนการใช้ชีวิตได้เหมือนกัน 

“พอโตขึ้นระดับหนึ่ง ผมชอบห้องที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย มันเลยชัดเจนขึ้นว่างานศิลปะของเราคือความเรียบง่าย” 

แรงบันดาลใจ ชื่อเสียง และความกดดัน 

    เบื้องหลังผลงานที่กลั่นออกมาเป็นความเรียบง่ายแต่แฝงด้วยรายละเอียดชวนคิดของซันเต๋อ คือแรงบันดาลใจที่มาจากศิลปินหลากหลายสาขา อาทิ เนียม มะวรคนอง ที่ถึงจะตาบอดสีแต่กลับเลือกใช้สีถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างหาตัวจับยาก เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ นักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์มือรางวัล รวมทั้ง บอย โกสิยพงษ์ นักแต่งเพลงและอดีตผู้บริหารค่ายเพลงเลิฟอิส 

แม้จะมีแรงบันดาลใจเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนไอเดียการทำงาน แต่ก็มีหลายครั้งที่ซันเต๋อเกิดอาการตัน คิดงานไม่ออก วิธีแก้คือเบนเข็มไปดูหนัง ฟังเพลง รวมทั้งไปคุยกับเพื่อนๆ เผื่อจะมีมุมมองใหม่ๆ ที่สามารถเอามาปรับใช้ได้

“บางทีการคิดงานคนเดียวก็ตันเหมือนกัน แต่การได้แลกเปลี่ยน ได้ฟังเรื่องอื่นบ้าง มันช่วยในการคิดงานของเราได้ ผมไม่เคยมีที่จะส่งงานแล้วไม่มีไอเดีย ส่วนใหญ่คือมีไอเดียอยู่แล้วแต่ยังไม่ดีพอ ซึ่งถ้าถึงเวลาจริงๆ เราอาจเลือกอันที่ไม่ได้ดีมากมาทำให้ทันเวลา แล้วหาอะไรใส่เข้าไปให้น่าสนใจ บางไอเดียที่เรามองว่าไม่ได้ดีที่สุด พอเอามาปรับแต่งแล้วอาจเหมาะกับงานนั้นก็ได้”

ชื่อเสียงที่นับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นอาจมาพร้อมความคาดหวังจากภายนอก แต่สำหรับซันเต๋อ เขาเลือกจะกดดันตัวเองก่อน แถมยังเป็น “ความจำเป็น” ที่จะต้องกดดันตัวเองเสียด้วย เพราะถ้าไม่กดดันก็จะไม่ตั้งใจทำ 

“อย่างการจัดนิทรรศการ ผมก็จะกังวลว่าเราจะทำออกมาได้ดีหรือเปล่า แต่เพราะไอ้ความกดดันนั้นแหละ เราเลยต้องทำให้เต็มที่ที่สุด อย่างน้อยออกมาก็ไม่เสียใจที่ทำเต็มที่แล้ว” 

สร้างสมดุลระหว่างความจริงกับความฝัน

    “ผมชอบศิลปะอยู่ตลอด แต่พอโตขึ้นมันมีหลายปัจจัย คือเราเริ่มทำเพราะเป็นอาชีพเราด้วย เราต้องหาเงินจากสิ่งนี้ ดังนั้นความสุขอาจไม่เหมือนตอนเด็กที่วาดเพื่อความสุขอย่างเดียว ภาระหน้าที่ทำให้เราต้องมองศิลปะเป็นอีกแบบด้วย เราต้องหาเงินจากตรงนี้ ต้องพยายามหาว่าศิลปะสามารถต่อยอดไปทำอะไรได้บ้าง”

    ซันเต๋อถือเป็นหนึ่งในศิลปินวาดภาพประกอบที่เนื้อหอมคนหนึ่งในวงการ ทำให้หลายคนคิดว่าเขาสามารถใส่ตัวตนลงไปในงานคอมเมอร์เชียลได้อย่างเต็มที่ แต่ซันเต๋อยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่เพราะการทำงานกับลูกค้า คือการยึดความพอใจและความสุขของลูกค้าเป็นหลัก 

    เขาเล่าประสบการณ์การทำงานคอมเมอร์เชียลให้ฟังว่ามีหลากหลาย บางชิ้นแทบไม่ต้องคิดอะไรเพิ่มเติมเลยก็มี เพราะลูกค้ากำหนดมาแล้วว่าต้องการแบบนั้นแบบนี้ “เรามีหน้าที่ทำตาม และให้สิ่งที่เขาต้องการอย่างเหมาะสมที่สุดและดีที่สุด โดยที่เรายังใส่ตัวตนของเราเข้าไปได้เท่าที่ลูกค้าพอใจ” ซันเต๋อบอก

    เขาไม่ได้ยึดความเป็น “ซันเต๋อ” ในงานคอมเมอร์เชียลแบบสุดโต่ง แม้จะมีเสียงทักท้วงว่าผลงานที่ออกมา ควรเป็นงานที่มาจากตัวตนศิลปินมากกว่า แต่เขามองว่าในฐานะผู้รับงานก็จำเป็นต้องลดตัวตน และทำตามโจทย์ที่ลูกค้าอยากได้มากที่สุด ถ้ามีไอเดียเพิ่มเติมก็เสนอไป ถ้าลูกค้าชอบไอเดียนั้นก็ลุยต่อ 

    “ผมชอบทำงานที่มีกรอบมากกว่าคิดนอกกรอบ เพราะถ้ามีกรอบผมยังหาทางวิ่งหลบตรงนั้นตรงนี้ได้ แต่ถ้ากว้างเกินไป ผมไม่รู้จะจับตรงไหนมาทำ” 

    งานที่บ่งบอกตัวตนของซันเต๋อได้อย่างเต็มที่คือ “นิทรรศการ” ที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นงานเติมไฟให้ตัวเอง ซึ่งแต่ละครั้งก็จะคิดประเด็นและกำหนดกรอบไว้ว่าอยากทำอะไร สื่อสารออกมาแบบไหน แล้วนำเสนอออกมาทุกๆ ปีครึ่งหรือสองปี อย่างช่วงที่โควิด-19 ระบาด ซันเต๋อถูกลูกค้ายกเลิกหรือเลื่อนงานไปหลายราย เลยมีเวลาวาดภาพสำหรับนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองอย่าง “A Little Letter From Someone Somewhere” มากขึ้น 

    “อนาคตผมคงจะวาดรูปอย่างนี้แหละ แต่อยากปรับเรื่องการทำงานส่วนตัวให้เยอะขึ้น งานคอมเมอร์เชียลก็คงจะเลือกขึ้น เพราะรู้สึกว่าถ้าเราทำงานที่ตอบความต้องการของตัวเอง เราอาจไปได้ไกลกว่าการตอบโจทย์ของคนอื่น” 

เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์

ภาพ: ปานตะวัน

****************************************************

FEED RUN FOR FUTURE

FEE:D x สวนนงนุช x SUNTUR x ครูดิน

โปรเจกต์งานวิ่งอารมณ์ดี ที่ FEE:D ผนึกกำลังกับ SUNTUR ศิลปินวาดภาพประกอบชื่อดัง สวนนงนุช พัทยา สวนสวยติดอันดับโลก และ “ครูดิน” สถาวร จันทร์ผ่องศรี นักวิ่งเจ้าของเหรียญทองแดง ซีเกมส์ ปี 2528 จัดขึ้นวันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี 

ภายในงานแบ่งเป็น 3 แพ็คเกจ 

“ฟัน รัน” (รับสมัคร 1,000 คน) ระยะทาง 5 กิโลเมตร ค่าสมัคร 450 บาท ได้รับเบอร์วิ่ง (บิบ) เสื้อวิ่ง และเหรียญรางวัล

“มินิ มาราธอน” (รับสมัคร 1,000 คน) ระยะทาง 10 กิโลเมตร ค่าสมัคร 550 บาท ได้รับเบอร์วิ่ง เสื้อวิ่ง กระเป๋าสะพายหลัง และเหรียญรางวัล

VIP (รับสมัคร 200 คน) เลือกวิ่งระยะใดก็ได้ ระหว่าง “ฟัน รัน” หรือ “มินิ มาราธอน” ค่าสมัคร 1,000 บาท ได้รับเบอร์วิ่ง เสื้อวิ่ง เหรียญรางวัลตามระยะวิ่งที่เลือก พร้อมกระเป๋าสะพายหลัง หมวก และกระบอกน้ำสุดเก๋

ผู้เข้าเส้นชัยระยะมินิมาราธอน 10 กม. ลำดับที่ 1 – 5 (Over All) ชายและหญิง จะได้รับเงินรางวัลและถ้วยรางวัล (5,000 / 4,000/ 3,000 / 2,000 และ 1,000 บาท ) ตามลำดับ

รายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดงาน มอบให้ มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ เพื่อร่วมสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) เนื่องในโอกาสครบวาระ 150 ปี แห่งการสถาปนาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ติดตามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ facebook.com/Feedforfuture และสมัครวิ่งได้ที่ https://www.berving.com/event/FEED2020 หมดเขตรับสมัครวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image