เปิดบทสนทนาภาษาคอมพิวเตอร์ กับแอดมินเพจ DataRockie ผู้ปลุกกระแสการโค้ดดิ้ง สร้างอาชีพแห่งอนาคต!

ในยุคที่ผู้คนใช้ชีวิตในโลกออนไลน์พอๆ กับโลกความเป็นจริง หากใครมีทักษะด้านการเขียนโค้ด หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ย่อมมีแต้มต่อมหาศาล เพราะตำแหน่ง Data Science, Data Analyst หรือชื่ออื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน กำลังเป็นที่ต้องการในบริษัทชั้นนำ ไม่เพียงแค่ในไทย แต่ยังรวมถึงทั่วโลก

หากใครกำลังมองหาอาชีพใหม่ๆ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เฟซบุ๊กเพจ DataRockie อาจเป็นจุดสตาร์ทที่ดี เพราะเพจนี้การันตีสาระความรู้แน่นปึ้กเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ภาษาต่างๆ ที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ของ ทอย-กษิดิศ สตางค์มงคล แอดมินเพจผู้มีประสบการณ์ด้าน Data Analytic ในองค์กรใหญ่อย่างยูนิลีเวอร์และดีแทคมาแล้ว

งานนี้มั่นใจได้เลยว่า เข้าไปเสพคอนเทนต์ในเพจเมื่อไหร่ โกยความรู้แน่นปึ้กออกมาได้อย่างแน่นอน!

ต้องรู้ว่าเรียนเพื่ออะไร เพื่อใช้ประโยชน์ให้เต็มที่

Advertisement

ปัจจุบัน กษิดิศทำงานเป็น Data Analytic Manager ให้ บริษัท ซัมซุง (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่ดูแลระบบข้อมูลทั้งหมดของบริษัท แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ เขาย้อนความว่า เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เขายังไม่ได้สนใจด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จนกระทั่งไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี แล้วมีเหตุให้ต้องทำโปรเจกต์ที่ต้องเขียนโปรแกรมส่ง ซึ่งกว่าจะผ่านไปได้เล่นเอาทุลักทุเลพอควร

หลังผ่านประสบการณ์ครั้งแรกไปแบบหืดจับ เมื่อกลับไทยเขาก็ได้งานด้านการวิจัยตลาด และต้องคลุกคลีกับ “โปรแกรมคอมพิวเตอร์” อีกครั้ง 

คราวนี้เมื่อต้องวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก เขาจึงเริ่มมองหาเครื่องทุ่นแรงในการวิเคราะห์ นำไปสู่การเริ่มศึกษาด้วยตนเองอย่างจริงๆ จังๆ  จนเกิดเป็นความสนุก ความมั่นใจ และความท้าทาย

Advertisement

“พอเราทำงานและเรียนการเขียนโปรแกรมด้วยตัวเอง ก็เจอเพนพอยต์หลายอย่างที่รู้สึกว่าหลายๆ คนน่าจะเจอเหมือนเรา ช่วงปี 2559 เลยเริ่มทำเพจ DataRockie เพื่อแชร์ความรู้และประสบการณ์ จนตอนนี้มีคนติดตามประมาณแสนกว่าคนแล้ว และยังเปิดคอร์สสอนสำหรับผู้ที่สนใจเรียนด้านนี้โดยเฉพาะ”

เบื้องต้น กษิดิศหรือ “แอดทอย” แนะนำผู้ที่สนใจอยากเรียนเขียนโปรแกรมว่า สามารถเริ่มต้นได้จากภาษาพื้นฐานง่ายๆ เช่น ภาษาอาร์ (R) ภาษาไพธอน (Python) และ ซีควล (SQL) ซึ่งเป็นภาษาพื้นฐานที่ใช้อย่างกว้างขวางในปัจจุบันก่อน จึงค่อยเรียนภาษาอื่นที่ยากขึ้น 

“ถ้าใครคิดจะเรียนเขียนโปรแกรม สิ่งที่จำเป็นมากๆ คือต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่า จะเรียนภาษาเหล่านั้นเพื่อทำอะไร ภาษาที่เรียนสามารถนำมาใช้กับงานได้อย่างไรบ้าง มิฉะนั้นต่อให้เรียนเยอะแค่ไหน ก็อาจใช้ประโยชน์จากมันได้ไม่เต็มที่” กษิดิศย้ำ

เรียนภาษาคอมพิวเตอร์ ต้องอย่าลืมภาษาอังกฤษ

ในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายปี กษิดิศยอมรับว่า ปัจจุบันมีคนสนใจงานด้าน Data Analysis หรือ Data Science เยอะกว่าเดิมมาก อย่างน้อยถ้าวัดจากนักเรียนในเพจ DataRockie ของเขาเอง

“ตอนนี้มีคนเรียนกับทอยประมาณ 30,000 คน เคยสำรวจว่านักเรียนอยากเรียนอะไรบ้าง คำตอบที่ได้จะมาทางสาย data เยอะหน่อย แต่ก็มีคนสนใจด้าน A.I. กับ machine learning ไม่น้อยเหมือนกัน” 

เจ้าของเพจ DataRockie สังเกตว่า ที่ผ่านมาผู้คนมักจะมาเรียนตามกระแส ซึ่งไม่ผิดแต่อย่างใด แต่กระแส Data Science ในไทยอาจเก่าไปแล้วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาซอฟต์แวร์แทน

“ตอนนี้ด้าน data ใกล้อิ่มตัวแล้ว แต่สิ่งที่ยังไปได้อีกไกลคือด้านซอฟต์แวร์ และจะเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่ควรต้องทำให้เป็น เพราะ ‘ซอฟต์แวร์กำลังกินโลกนี้อยู่’ ทอยเองกำลังเริ่มเรียนด้านนี้อยู่ และตั้งใจจะสอนเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย”

หากใครสนใจด้านซอฟต์แวร์ แอดทอยขอแนะนำให้เรียนจาวาสคริปต์ (Javascript) และไพธอนได้เลย เพราะเป็นภาษาพื้นฐานที่ใช้ง่าย ได้รับความนิยม เพียงแค่เปิดเบราเซอร์ก็ฝึกเขียนได้ทันที

อย่างไรก็ตาม แอดทอยถือโอกาสนี้ย้ำว่า อีกภาษาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ภาษาอังกฤษ เพราะการจะเข้าถึงตำราและองค์ความรู้ใหม่ๆ ได้ ต้องอ่านจากภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่มันเป็นกำแพงที่คนไทยจำนวนมากยังก้าวข้ามไม่พ้น

“น้องๆ ไม่ต้องเก่งภาษาอังกฤษมาก ขอแค่พออ่านออกฟังได้ การอ่านตำราภาษาอังกฤษจะช่วยได้เยอะเลย อย่ามัวแต่รอหนังสือฉบับแปลภาษาไทย เพราะองค์ความรู้จะช้าในระดับเป็นปีเลยทีเดียว” แอดทอยให้คำแนะนำ

METAVERSE โลกอนาคต หรือแค่ขายฝัน?

ไม่เพียงสนใจด้านการเขียนโปรแกรม แต่กษิดิศยังเกาะติดข่าวสารเกี่ยวกับ “เมตาเวิร์ส” อย่างใกล้ชิด เนื่องจากความสนใจส่วนตัวและเกี่ยวข้องกับงานปัจจุบัน 

“ตอนที่ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก นำเสนอเรื่องเมตาเวิร์ส ผมว่าน่าตื่นเต้นดี แล้วหลังจากเฟซบุ๊ก เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เมต้า (Meta) ทุกอย่างเติบโตเร็วมาก ทุกคนกระโดดเข้ามาเล่นกันหมดเลย”

ถึงอย่างนั้น แอดทอยก็มองว่า ทุกวันนี้ภาพของ “จักรวาลนฤมิต” ยังมีความคลุมเครือ และมีอีกหลายคำถามที่ยังรอคอยคำตอบ

“ในเมื่อทุกวันนี้อยู่ที่ไหนเราก็ประชุมงานได้ เครื่องมือที่เราใช้อยู่ตอนนี้อย่าง Zoom หรือ Google Meet ก็ตอบโจทย์การใช้งานอยู่แล้ว ผมเลยไม่เห็นว่าเราจะมีเมตาเวิร์ส ที่ตัวตนของเรามานั่งคุยกันอยู่ในห้องในโลกเสมือนอีกทำไม” 

อีกคำถามที่รอคำตอบเช่นกันคือ หากเฟซบุ๊ก กูเกิล และบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ต่างมี “จักรวาลนฤมิต” ของตัวเอง โลกเหล่านั้นจะเชื่อมถึงกันหรือไม่ และจะสร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อได้จริงไหม?

กว่าจะได้รู้คำตอบอาจต้องรอกันอีกนาน อย่างไรก็ดี แอดทอยมั่นใจว่า คนทำงานด้านการเขียนโปรแกรมจะได้ประโยชน์จากเมตาเวิร์สไปเต็มๆ เพราะอาชีพนี้จะยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น เนื่องจากทุกบริษัทต่างต้องการคนเก่งมาช่วยสร้างสรรค์โลกอีกใบให้ใช้งานได้อย่างสมจริง 

ดังนั้น หากใครกำลังจับจ้องเทรนด์นี้อยู่ล่ะก็ นี่คือโอกาสสำคัญที่ไม่ควรตกขบวน!

 

ช่วงเวลาของคนรุ่นใหม่ กับอาชีพแห่งอนาคต

วันที่ 21-23 มกราคมนี้ มหกรรม META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE จะอุบัติขึ้นอย่างเป็นทางการ ไฮไลท์ของงานไม่เพียงอยู่ที่การแข่งอีสปอร์ตเกม RoV และ Free Fire แต่ยังมีการเสวนาหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับแวดวงเทคโนโลยีแห่งอนาคตด้วย 

แอดทอยเผยว่า เขาได้รับเกียรติให้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Coding : A Needed Skill for Tomorrow?” ด้วยในวันที่ 21 มกราคมนี้ หากใครสนใจ แอดทอยขอชวนมาร่วมฟังประสบการณ์ของเขา ที่ไม่เคยบอกใครแบบจัดเต็มขนาดนี้มาก่อนได้เลย

แอดทอยยังมองว่า ภาพรวมของงาน META THAILAND 2022 น่าจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ไม่น้อย จากการระดมหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ และเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คน ทั้งเรื่องเกม บล็อกเชน คริปโตเคอร์เรนซี ฯลฯ มาไว้ในงานเดียวกัน ซึ่งน่าจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากทำอาชีพใหม่ๆ ตามมา

“เนื้อหาในงาน META THAILAND 2022 อินเทรนด์ดี มีหลายหัวข้อที่เด็กรุ่นใหม่น่าจะให้ความสนใจ เมื่อก่อนเด็กรุ่นใหม่อาจอยากเป็นวิศวกร หมอ แต่ตอนนี้เขาอยากเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ นักแคสต์เกม นักกีฬาอีสปอร์ต เป็นต้น และทุกวันนี้คนก็เริ่มเรียนเขียนโค้ดมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาแล้ว คิดว่าน่าจะเป็นอาชีพในอนาคตได้ไม่ต่างกันเลยครับ” แอดทอยทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ

META THAILAND 2022 : ESPORTS & DIGITAL LIFE จะจัดขึ้นวันที่ 21-23 มกราคมนี้ เตรียมเต็มอิ่มไปกับสาระความรู้สุดเอ็กซ์คลูซีฟจากกูรูด้านเกม และเทคโนโลยีจากทั่วประเทศได้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ https://www.facebook.com/metathailand2022/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image