สัตว์เลี้ยงของคุณต้องการสารอาหารแบบไหนกันนะ?

เคยสงสัยกันไหมว่า การให้อาหารสัตว์เลี้ยงนั้น ควรให้อาหารแบบไหน มีข้อจำกัดอะไรที่ควรระวัง และสารอาหารชนิดไหนที่สัตว์เลี้ยงของคุณต้องการเป็นพิเศษเพื่อเสริมระบบร่างขายให้แข็งแรง คำถามข้างต้นทั้งหมดนี้ สพ.ญ. ฐิตา เตโชฬาร หรือคุณหมอฮูโต๋ สัตวแพทย์ประจำคลินิกหัวใจ คลินิกระบบขับถ่ายปัสสาวะ และคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้คำตอบเบื้องต้นว่า ก่อนการเลือกอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงนั้น ผู้เลี้ยงควรจะรู้จักน้องเป็นอย่างดี เพราะแต่ละตัวมีความไม่เหมือนกันตั้งแต่สายพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต นิสัยส่วนตัว รูปร่างน้ำหนัก และช่วงวัย ซึ่งความแตกต่างทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหลักที่ผู้เลี้ยงควรเลือกสารโภชนาการอาหารที่เหมาะกับแต่ละตัว

เริ่มกับพฤติกรรมการให้อาหารกับเจ้าสัตว์เลี้ยง โดยบางบ้านที่เลี้ยงสัตว์หลายตัวพร้อมกัน อาจจะให้อาหารเหมือนกันทั้งหมด แต่นั่นคือพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องสักทีเดียว การให้อาหารเจ้าขนปุยนั้น ไม่ว่าจะเป็นน้องหมาหรือน้องแมว เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรเลือกอาหารที่เหมาะกับช่วงอายุและโรคที่สัตว์เป็น อย่างการเลือกอาหารจากช่วงอายุนั้นเป็นความจำเป็นมาก เพราะความต้องการของสารอาหารในแต่ละช่วงอายุจะแตกต่างกันออกไป 

คุณหมอฮูโต๋ยังเสริมว่า “การให้อาหารที่ตรงตามช่วงวัยจะทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่ดี และได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการดำรงชีวิตในช่วงวัยนั้นๆ นอกจากนี้การเลือกอาหารที่เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยง ยังต้องพิจารณาเกี่ยวกับโรคที่สัตว์เป็น หรือภาวะความผิดปกติที่สัตว์เป็นอยู่แล้วด้วย เช่นบางสายพันธุ์มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาไขมันในเลือดสูง เราอาจจะต้องเลือกอาหารที่ไขมันต่ำหน่อยให้น้องกินมากกว่า”

Advertisement

ในขณะเดียวกันเจ้าของที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงหลายตัวสามารถให้อาหารเหมือนกันได้ หากช่วงอายุหรืออาการป่วยของน้องเหมือนกัน แต่ก็ควรที่จะคำนึงถึงปริมาณของอาหารที่ให้โดยพิจารณาจากน้ำหนักตัวของสัตว์ ไม่อย่างนั้นอาจจะส่งผลเสียต่อน้องในระยะยาวได้ อย่างเช่น ปัญหาน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจากการให้อาหารในปริมาณที่เกินความจำเป็นของร่างกาย โดยเฉพาะในสุนัขสายพันธุ์ใหญ่อาจส่งผลให้มีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตของข้อ และกระดูกได้ในอนาคต หรือปัญหาขาดสารอาหารจากการที่น้องได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงควรเลือกอาหารที่มีความครบถ้วนและสมดุล หรืออาหารที่เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบันของสัตว์ ทั้งอายุและโรคที่เป็น แต่หากไม่แน่ใจว่าอาหารที่เราเลือกเหมาะสมหรือไม่ สามารถปรึกษาสัตวแพทย์เพิ่มเติมสำหรับอาหารที่เหมาะสมกับน้องมากที่สุด

ทั้งนี้การเลือกอาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยควรพิจารณาจากช่วงอายุ ได้แก่

Advertisement

1.  วัยตั้งท้อง และวัยเด็ก

แม่ที่ตั้งท้องและสัตว์เลี้ยงวัยเด็กต้องการสารอาหารที่คล้ายกันโดยเลือก เนื่องจากมีโปรตีน พลังงาน และแคลเซียมในปริมาณที่พอเหมาะในช่วงเวลาที่แม่ให้นมกับลูก และเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของลูกสัตว์ด้วย โดยคุณแม่ที่ตั้งท้องนั้นต้องแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

  1. แม่สุนัขที่ตั้งท้อง: โดยปกติแล้วสุนัขใช้ระยะเวลาตั้งท้องโดยรวมประมาณ 2 เดือน อาจจะใช้เวลามากหรือน้อยกว่าตามแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งการให้อาหารนั้นเจ้าของสามารถให้อาหารเป็นปกติและยังไม่ต้องเปลี่ยนอาหารในช่วง 2 ใน 3 ช่วงแรกของระยะเวลาการตั้งครรภ์ หรือประมาณ 3 อาทิตย์ แต่ในช่วงท้ายของการตั้งท้อง มดลูกจะมีการขยายใหญ่ขึ้นและจะเบียดกระเพราะอาหาร จึงทำให้กินอาหารได้ลดลงเจ้าของสัตว์ควรที่จะเลือกอาหารที่ย่อยง่ายเพื่อป้องกันภาวะท้องอืด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องได้รับสารอาหารที่มีพลังงานสูง โปรตีนสูง และแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้แม่ได้รับพลังงานที่เพียงพอ เอื้อต่อสุขภาพของแม่และการเจริญเติบโตของลูกในครรภ์ 
  2. แม่แมวที่ตั้งท้อง: แตกต่างกับสุนัขที่ตั้งครรภ์เพราะความต้องการสารอาหารและพลังงานจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยผู้เลี้ยงควรค่อยๆ เพิ่มปริมาณอาหารมากขึ้น และเน้นอาหารที่มีพลังงานที่ไม่สูงเกินไปและย่อยง่าย แต่ก็ยังต้องพึงระวังปริมาณอาหารโดยรวมที่ให้ เนื่องจากถ้าน้องหมาหรือแมวผอมหรืออ้วนเกินไป จะส่งผลกระทบถึงเด็กในท้องจากการขาดสารอาหารและทำให้ลูกเจริญเติบโตไม่ดี และอาจเกิดภาวะคลอดยากหากมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป

ส่วนของสัตว์เลี้ยงที่เกิดใหม่ระยะแรกนั้น เด็กๆ ควรที่จะได้รับนมจากเต้าของคุณแม่เพื่อที่จะได้รับสารอาหารจากน้ำนมเหลืองหรือโคลอสตรัม และได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ DHA ก็เป็นสารอาหารที่สำคัญในวัยนี้ เพราะเป็นกรดไขมันที่สำคัญในการเจริญเติบโตของทั้งลูกสุนัขและแมว โดยเฉพาะระบบประสาท ถ้าขาด DHA จะทำให้การพัฒนาระบบประสาทผิดปกติได้

เมื่อครบระยะเวลาประมาณ 2 เดือน สามารถเริ่มหย่านมได้ เริ่มจากการให้อาหารสำหรับลูกสุนัขหรือแมว เนื่องจากมีโปรตีนและแคลเซียมในปริมาณเหมาะสมกับการเจริญเติบโตกับลูกสัตว์ ซึ่งคุณหมอฮูโต๋เสริมทริคเล็กๆ ในการให้อาหารสำเร็จรูปในช่วงแรก โดยให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับลูกสัตว์ผสมกับน้ำและขยี้เป็นอาหารเนื้อเละๆ คล้ายกับโจ๊กได้ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกสัตว์ค่อยๆ ปรับตัวจากน้ำนมแม่เป็นอาหารสำหรับสำเร็จรูปได้ง่ายขึ้น

2. วัยผู้ใหญ่

วัยที่ต้องการสารอาหารไม่มากเท่ากับช่วงวัยเด็กและคุณแม่ตั้งท้อง โดยผู้เลี้ยงควรเลือกอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอต่อวันสำหรับสัตว์เลี้ยงวัยผู้ใหญ่ตามที่องค์กรอาหาร AAFCO (The Association of American Feed Control Officials) ได้กำหนดไว้ โดยสามารถดูจากฉลากบนผลิตภัณฑ์อาหารที่มีตารางคำแนะนำการให้อาหารและสารอาหารที่เหมาะกับแต่ละสายพันธุ์และช่วงวัย ซึ่งจะทำให้เจ้าของมั่นในมากขึ้นว่าน้องได้รับสารอาหารที่สมดุลและครบถ้วน

อีกปัจจัยหนึ่งที่เจ้าของควรคำนึงคือสายพันธุ์ของน้อง และปริมาณอาหารที่น้องควรได้รับ เพราะแต่ละสายพันธุ์มีน้ำหนักที่ไม่เท่ากัน และมีการผลัดเปลี่ยนเข้าช่วงวัยผู้ใหญ่ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งทำให้การเลือกสารอาหารนั้นแตกต่างกันออกไปด้วย อย่างสุนัขพันธุ์ใหญ่จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ช้ากว่าพันธุ์เล็ก เจ้าของสุนัขพันธุ์ใหญ่ อย่างไซบีเรียน ฮัสกี้ หรือโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ สามารถเลือกอาหารสูตรผู้ใหญ่ได้เมื่อน้องอายุประมาณ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี และสามารถให้ปริมาณที่มากกว่าพันธุ์เล็ก แต่สำหรับสายพันธุ์เล็กสามารถให้อาหารสูตรผู้ใหญ่ตั้งแต่น้องอายุ 1 ปี ในปริมาณที่น้อยกว่า ทั้งนี้เจ้าของควรให้อาหารตามคำแนะนำการให้อาหารที่อยู่ข้างซองอาหาร หรือถ้ารู้สึกว่าน้องมีเกณฑ์น้ำหนักเกินหรือน้อยกว่าเกณฑ์ ควรปรึกษาสัตว์แพทย์สำหรับปริมาณและชนิดอาหารที่เหมาะสม

สารอาหารที่สำคัญในวัยผู้ใหญ่นั้นก็คือโปรตีนและพรีไบโอติกส์ ซึ่งเจ้าของควรเลือกโปรตีนคุณภาพที่มีสารอาหารสูง เอื้อให้สัตว์เลี้ยงดูดซึมได้ง่าย ส่วนตัวพรีไบโอติกส์นี้คือไฟเบอร์ที่ช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ทำให้จำนวนของจุลินทรีย์ที่ดีนั้นเพิ่มขึ้น และส่งผลที่ดีขึ้นต่อสุขภาพ ซึ่งในช่วงวัยนี้ พรีไบโอติกส์นั้นมีความสำคัญเนื่องจากระบบการย่อยและขับถ่ายในช่วงผู้ใหญ่ตอนปลายจะเริ่มลดประสิทธิภาพลง ทั้งนี้กรดอะมิโนทอรีน (Taurine) นั้นก็จำเป็นมากสำหรับแมว เพราะน้องไม่สามารถสร้างเองซึ่งจะต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ถ้าขาดสารอาหารนี้ไปอาจมีความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจและโรคตาบอดกลางคืน

สพ.ญ.วธุวรรณ พฤกษนันต์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารวิชาการสัตว์เลี้ยง มาร์ส ไทยแลนด์ อิงค์ ได้เสริมว่า “นอกจากความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกันตามช่วงวัยแล้ว ทราบหรือไม่ว่า สัตว์เลี้ยงยังมีความต้องการที่แตกต่างกันตามขนาดอีกด้วย โดยเฉพาะในสุนัข สุนัขแต่ละขนาดจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน อีกด้วยสุนัขที่สายพันธุ์เล็กสามารถทานอาหารในปริมาณที่น้อยกว่า และมีความต้องการพลังงานต่อนำหนักตัวที่มากกว่าสุนัขขนาดใหญ่ อาหารที่เหมาะกับเจ้าตัวเล็กจึงควรเป็นอาหารที่มีพลังงานต่อกรัมที่สูงกว่า อาหารสำหรับสุนัขขนาดปกติหรือขนาดใหญ่ สุนัขพันธุ์เล็ก ยังมีปากขนาดเล็ก แต่ยังมีจำนวนฟันเท่ากับสุนัขขนาดใหญ่ นอกจากปัญหาเรืองขนาดเม็ดอาหารที่อาจจะใหญ่เกินไป ที่เจ้าตัวเล็กมักพบเจอแล้ว ยังมีปัญหาเรื่อง ความเสี่ยงของโรคเหงือกและฟันที่มากกว่าสุนัข ขนาดใหญ่อีกด้วย อาหารที่เหมาะสมสำหรับเจ้าตัวเล็ก ไม่เพียงแต่ต้องคำนึงถึงขนาดเม็ดอาหารที่ต้องเล็กแล้ว แล้ว ยังควรดูแลเรื่องสุขภาพฟันและช่องปากเป็นพิเศษอีกด้วย  ด้วยเหตุนี้สัตวแพทย์จึงร่วมคิดค้นสูตรอาหาร IAMS (ไอแอมส์) เพื่อให้มั่นใจว่าสุนัขและแมวในแต่ละวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และแต่ละความแตกต่างของความต้องการ จะได้รับสารอาหารครบถ้วนและสมดุล ส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย ความแข็งแรง และสุขภาพที่ดี”

สัตว์เลี้ยงเริ่มมีอายุที่มากขึ้น อาจไม่ได้มีกิจกรรมหรือขยับตัวมากนักเท่ากับสัตว์เลี้ยงวัยเด็กหรือผู้ใหญ่ เจ้าของจึงควรเลือกอาหารที่มีพลังงานต่ำกว่าช่วงวัยผู้ใหญ่และเน้นสารอาหารที่มาจากโปรตีนคุณภาพ วิตามินที่มีความเข้มข้นสูง และสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะการรับประทานสารอาหารพวกนี้จึงช่วยชะลอความชราได้ โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) จะช่วยลดสารอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของความเสื่อมของระบบร่างกายต่าง ๆ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นร่างกายของน้องจะสามารถต้านสารอนุมูลอิสระได้เอง แต่เมื่อแก่ตัวลงหรือป่วย สารนี้มีมากขึ้นจนน้องอาจจะจัดการเองไม่ได้ทั้งหมด ผู้เลี้ยงจึงควรเสริมสารต่อต้านอนุมูลอิสระในช่วงวัยนี้เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น โดยสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ใส่ในอาหารส่วนใหญ่นั้น ได้แก่ วิตามินอี วิตามินซี วิตามินเอ และกรดไขมันไม่อิ่มตัวกลุ่มโอเมก้าต่างๆ เช่น Omega 3 และ 6

นอกเหนือจากการให้อาหารแล้ว คุณหมอฮูโต๋ยังแนะนำให้พาสัตว์เลี้ยงวัยในทุกช่วงวัยไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะเป็นช่วงวัยที่เริ่มตรวจเจอโรคต่างๆ อย่าง โรคอ้วน โรคข้อและกระดูก โรคสมองเสื่อม โรคไต โรคหัวใจ หรือ ความดันโลหิตสูง ซึ่งบางโรคนั้นไม่แสดงอาการในระยะแรกของโรค เพื่อรักษาน้องได้ท่วงทัน เจ้าของควรหมั่นพาไปตรวจสุขภาพและจัดการอาหารที่เหมาะสมให้โรคเหล่านี้บรรเทาหรือชะลอลง การดูแลและเลือกสารอาหารที่ถูกต้องจะทำให้สัตว์เลี้ยงของเรามีอายุขัยที่นานขึ้น รวมถึงคุณภาพชีวิตของสัตว์ก็จะดีขึ้นด้วย

**

ขอขอบคุณ
ภาพและเนื้อหาจากไอแอมส์ (IAMS)®

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image