คืนเสน่ห์แห่งอดีต ชุบชีวิตศาลาท่าน้ำ”วัดนางนอง” สถาปัตย์รัชกาลพระนั่งเกล้าฯ

ศาลาท่าน้ำวัดนางนอง สร้างขึ้นจากภาพถ่ายเก่าสมัย ร.5 ภายใต้โครงการแบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง โดย "มติชน" ร่วมกับมูลนิธิโกวิท วรพิพัฒน์ อีกทั้งวัดและชาวบ้านร่วมทอดผ้าป่าสามัคคี รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตจอมทอง ต่างพร้อมใจสนับสนุน

บางขุนเทียน ย่านข้าหลวงเดิมยุคต้นรัตนโกสินทร์ มีวัดวาอารามมากมายเรียงรายตลอดลำน้ำอันเปรียบประดุจสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน หนึ่งในนั้น คือ “วัดนางนองวรวิหาร” ริมคลองด่าน เส้นทางคมนาคมสำคัญในอดีต

อารามเก่าแก่แห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา แล้วมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งบรมราชจักรีวงศ์

ปัจจุบัน ชาวบางขุนเทียบที่ตั้งบ้านอยู่เรือนริมน้ำยังใช้คลองในการสัญจร (ภาพโดย นาวิน มีบรรจง)
ปัจจุบัน ชาวบางขุนเทียบที่ตั้งบ้านอยู่เรือนริมน้ำยังใช้คลองในการสัญจร (ภาพโดย นาวิน มีบรรจง)

อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ ล้วนงดงามตามอย่างศิลปะพระราชนิยม

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญคือ “ศาลาท่าน้ำ” ซึ่งผู้คนใช้ขึ้น-ลงเรือ เดินทางมาทำบุญสุนทาน

Advertisement

เป็นส่วนหนึ่งของภาพชีวิตที่มีสีสัน

ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านพ้น สถาปัตยกรรมดังกล่าวไม่ปรากฏในวัดแห่งนี้ อาจด้วยความทรุดโทรมลงตามกาลเวลา กระทั่งผุพัง หรือเหตุผลอื่นใดไม่ทราบแน่ชัด

แต่ยังปรากฏหลักฐานในภาพถ่ายเก่าล้ำค่าสมัยรัชกาลที่ 5

Advertisement
ขรรค์ชัย บุนปาน (ขวา) ตรวจเยี่ยมการสร้างศาลาท่าน้ำวัดนางนอง
ขรรค์ชัย บุนปาน (ขวา) ตรวจเยี่ยมการสร้างศาลาท่าน้ำวัดนางนอง

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ผู้ใช้ชีวิตวัยเยาว์ในย่านบางขุนเทียน มากมายไปด้วยความทรงจำและความผูกพัน

จึงมีแนวคิดที่จะชุบชีวิตศาลาท่าน้ำแห่งนี้ขึ้นใหม่ ให้มีสภาพใกล้เคียงกับความเป็นดั้งเดิมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บนพื้นที่เดิมในแนวแกนหลักของผังวัดที่เชื่อมต่อจากริมคลองด่านไปยังพระเจดีย์และพระอุโบสถ

โครงการเนรมิตศาลาท่าน้ำจึงเกิดขึ้น ภายใต้การดูแลงานก่อสร้างโดย ประมุข บรรเจิดสกุล ผู้มีประสบการณ์อย่างยาวนานด้านสถาปัตยกรรมไทย

 รูปเก่าถูกใช้เป็นต้นแบบในการสร้างศาลาท่าน้ำวัดนางนองขึ้นมาใหม่ ให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด
รูปเก่าถูกใช้เป็นต้นแบบในการสร้างศาลาท่าน้ำวัดนางนองขึ้นมาใหม่ ให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด

ภาพถ่ายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ถูกนำมาใช้อ้างอิงอย่างเคร่งครัด เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

นอกจากโครงสร้าง ยังมีการคัดลอกลายฉลุไม้แกะสลักโดยยึดแบบจากภาพเก่า โดย ประดิษฐ์ ยุวะพุกกะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี)

ทางวัดเองก็จัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อสมทบทุนในงานประจำปี เมื่อเดือนมีนาคม 2559

ด้วยความร่วมแรงร่วมใจ ศาลาท่าน้ำแห่งนี้ จึงกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์อันสง่างามของวัดนางนอง

ศาลาท่าน้ำวัดนางนอง สร้างใหม่ตามรูปแบบเดิมสมัยรัชกาลที่ 3 จากภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5
ศาลาท่าน้ำวัดนางนอง สร้างใหม่ตามรูปแบบเดิมสมัยรัชกาลที่ 3 จากภาพถ่ายเก่าสมัยรัชกาลที่ 5

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการบูรณะอาคารแบบเก๋งจีน 2 หลังที่อยู่ใกล้เคียงกันซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมเช่นกัน

กลายเป็น องค์ประกอบทางสถาปัตย์ที่กลับมางดงามสมบูรณ์แบบอีกครั้ง

นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ จะมีการปรับภูมิทัศน์โดยการจัดสวนหย่อมเป็นร่มพระอารามอีกด้วย

ภาพถ่ายวัดนางนองริมคลองด่าน เมื่อ พ.ศ.2529 จะเห็นว่าไม่มีศาลาท่าน้ำ และไม่ปรากฏหลักฐานว่าถูกรื้อไปเมื่อใด
ภาพถ่ายวัดนางนองริมคลองด่าน เมื่อ พ.ศ.2529 จะเห็นว่าไม่มีศาลาท่าน้ำ และไม่ปรากฏหลักฐานว่าถูกรื้อไปเมื่อใด

นาวิน มีบรรจง ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์คลองบางประทุน ชาวบางขุนเทียน ผู้มีครอบครัวและบรรพบุรุษตั้งรกรากอยู่ในย่านเก่าแก่นี้ บอกเล่าถึงความรู้สึกเมื่อได้เห็นการคืนชีวิตให้มรดกทางวัฒนธรรม ว่าเป็นศาลาท่าน้ำวัดนางนอง เป็นการสร้างใหม่ที่ทำได้อย่างดียิ่ง ทั้งสวยงาม และมีรูปแบบที่แทบจะไม่แตกต่างจากภาพถ่ายเก่า นอกเหนือจากประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์โบราณสถานแล้ว ในฐานะคนที่ยังใช้คลองในการสัญจร มองว่าสามารถต่อยอดได้อีกมาก เช่น เรื่องของการท่องเที่ยว

“การมีจุดที่น่ามองบริเวณริมคลองอย่างศาลาท่าน้ำวัดนางนอง สามารถช่วยต่อยอดได้อีกเยอะ โดยจะช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวทางเรือให้น่าสนใจยิ่งขึ้น เพราะนอกจากสวยงามแล้ว ยังมีที่มาที่ไป มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชัดเจน เมื่อคนริมคลองและคนในพื้นที่ได้ประโยชน์ อาจทำให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น ทางเขต กลับมาดูแลลำคลองให้ใสสะอาด ทุกวันนี้ย่านบางขุนเทียนเปลี่ยนแปลงไปมาก จากสวนเป็นเมืองซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา โลกเปลี่ยนไปทุกวัน แต่จะทำอย่างไรให้ของเดิมยังคงคุณค่า และอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่หันหลังให้คลองและมรดกล้ำค่าที่เรามีอยู่”

ด้วยเหตุนี้ การเนรมิตศาลาท่าน้ำ และบูรณะเก๋งเก่าแก่ จึงไม่ใช่เพียงแค่การรักษา “ของเก่า” แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตด้วยมรดกทางวัฒนธรรม ไม่ทอดทิ้งทั้งเรื่องราวในวันวาน และห้วงเวลาในปัจจุบัน อันจะเป็นส่วนหนึ่งของวันพรุ่งนี้

ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 มีข้อความว่า "ศาลาวัดนางนอง ถวายพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงค์ราชานุภาพ ลงท้ายด้วยลายมือชื่อพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ภาพนี้องค์การซีอาโต้ มอบให้หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2512
ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 มีข้อความว่า “ศาลาวัดนางนอง ถวายพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงค์ราชานุภาพ ลงท้ายด้วยลายมือชื่อพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ภาพนี้องค์การซีอาโต้ มอบให้หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2512

“บางนางนอง”ชุมชนชาวสวนยุคเก่าแก่ฝั่งธนบุรี

ชื่อวัดนางนอง พ้องกับชื่อย่านเก่าแก่ว่า บางนางนอง ซึ่งปรากฏในวรรณคดีอย่างน้อยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังเช่น กลอนเพลงยาวนิราศ ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รวมถึงผลงานของกวีชั้นครูอย่าง พระยาตรัง, นรินทร์อิน และสุนทรภู่

ชื่อนางนอง คาดว่ามาจากสภาพภูมิประเทศซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ประกอบด้วยคลองเล็กคลองน้อยหลายสาย ไหลมารวมกับคลองด่าน ทำให้เกิดน้ำวน แล้วท่วมเรือกสวนไร่นาในฤดูน้ำหลาก

ดังมีความพรรณนาในโคลงนิราศพระยาตรัง สมัยรัชกาลที่ 2 ว่า

๏ สาชลพฤกษ์พร่างขึ้น ไขเสดิง

นองท่านางนองสนาน สนั่นหล้าย

สายสินธุ์สำเริงฟอง ฟัดฟาด ฝั่งเอย

นองย่านนางคล้ายคล้าย คลั่งไหล

มีผู้สันนิษฐานว่า บางนางนอง คงเป็นชุมชนสำคัญในท้องถิ่นเส้นทางคลองด่านตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นจุดพักการเดินทางไปเมืองเพชรบุรี และศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวสวน

ส่วนชื่อวัดนางนอง ก็คงตั้งตามชื่อบางนางนองที่ตั้งของวัดนั่นเอง

วัดนางนอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image