คุณภาพคือความอยู่รอด : วันหมดอายุ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ผมจำได้ว่าเคยถามท่านอาจารย์ “ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย” (พิธีกรของรายการดัง “ไอคิว 180” เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน) ว่า “ทำไมท่านจึงเลิกรายการนี้ไป ทั้งที่ยังมีคนนิยมอยู่อีกมาก โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่ติดตามดูอยู่ เพราะคนดูได้ความรู้และมีประโยชน์อย่างยิ่ง”

ท่านอาจารย์ชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย ตอบอย่างไม่ต้องคิดเลยว่า “รายการนี้หมดอายุแล้ว ถึงเวลาหนึ่งแล้วก็ต้องเลิก เพื่อให้รายการใหม่ๆ ที่ดีกว่ามีโอกาสเกิดบ้าง”

คำตอบของท่านอาจารย์ นอกจากจะทำให้ผมคิดถึงสัจธรรมของศาสนาพุทธข้อหนึ่งที่ว่า “ทุกอย่างมีอายุขัยของมัน เมื่อมีเกิด ก็ต้องมีดับไปเป็นธรรมดา” แล้ว ผมยังคิดถึงหลักการตลาดของ “ปรมาจารย์ Kotler” เกี่ยวกับ “วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์”

คือ ทั้งคนทั้งองค์กรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในโลกนี้ ก็หนีไม่พ้น “วันหมดอายุ” ซึ่งต้องล้มหายตายจากไปเมื่อหมดอายุของมัน

Advertisement

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าสิ่งต่างๆ ที่เราทำหรือที่เรานำเสนออยู่ในขณะนี้ จะล้าสมัยหรือหมดอายุเมื่อไร ไม่รู้แม้กระทั่งว่าวันหมดอายุกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ถึงตัวแล้ว

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุดในวันนี้ คือ ภายใน “ช่วงเวลาที่เรายังเป็นที่ต้องการของสังคม” แต่ทันทีที่เลย “วันหมดอายุ” แล้ว เราก็ต้องยอมรับความจริง ซึ่งอาจจะถูกสังคมมองข้ามหรือลืมในที่สุด

เราจึงต้องสร้าง “สิ่งใหม่หรือของใหม่” ออกมาก่อนที่ “ของเดิม” จะถึงวันหมดอายุจึงมีแต่ต้อง “เตรียมพร้อม” ด้วยการปรับปรุง “สิ่งที่มีอยู่” ให้เป็น “ของใหม่ที่ทันสมัย” ก่อนที่ของเดิมจะล้าสมัยและหมดอายุไป

Advertisement

ตัวอย่างที่สามารถเห็นได้ชัด ก็คือ กรณีที่สวนสนุก “ดิสนีย์แลนด์” ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดมา เป็นเพราะมีการเปลี่ยนแปลง (ปรับปรุงของเก่า เพิ่มเติมของใหม่) อยู่ตลอดเวลา

เช่นเดียวกับสวนสนุกทุกแห่งในโลกที่มีการสร้างเสริมหรือต่อเติม “เครื่องเล่น” ใหม่ๆ ตลอด เพื่อให้คนที่เคยเที่ยวแล้วกลับมาเที่ยวซ้ำอีกแบบไม่เบื่อ เพราะมีเครื่องเล่นหรือสิ่งที่น่าสนใจใหม่ๆ ให้น่าติดตามอยู่เสมอ

คน องค์กร และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนธุรกิจและอุตสาหกรรมก็ไม่ต่างจากนี้ หากเรายึดติดกับ “สภาพปัจจุบัน” แล้ว “วันหมดอายุ” ก็มีแต่จะใกล้เข้ามา เพราะจะมีคนใหม่ องค์กรใหม่ สินค้าใหม่ และวิธีการผลิตใหม่ๆ ที่ทันสมัยและสดกว่ามาแทนที่

เราจึงต้องอาศัย “งานวิจัยใหม่ๆ” หรือ “การนำเสนอคุณค่าใหม่ๆ” ให้กับตลาดหรือสังคมตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงของที่มีอยู่ก่อนถึง “วันหมดอายุ” เพื่อให้กลับกลายเป็นของที่สดใหม่และยังมีอายุใช้งานได้อีก เหมือนกับยืด “วันหมดอายุ” ออกไปให้นานขึ้น หรือทำให้ “ไม่มีวันหมดอายุ”

ทุกวันนี้ จึงได้แต่เสียดายความรู้ความสามารถของพวกเรา โดยเฉพาะข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งน่าจะมี “โอกาส” ได้ทำอะไรที่มีค่า มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อตนเอง องค์กร และประเทศชาติมากขึ้น ด้วย “การเรียนรู้ให้เร็วขึ้น” และมุ่งมั่นใน “การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง”

คือ ไม่ใช่ปล่อยให้หมดอายุหรือบูดเน่าคามือ ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image