จิตวิวัฒน์ : Childhood Disrupted บาดแผลในวัยเด็ก ส่งผลกระทบระยะยาวในตอนโต (1) : ญาดา สันติสุขสกุล

“ร่างกายไม่ลืมและจะบอกเล่าเรื่องราวของมัน”
หาก ณ วันนี้คุณกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บเรื้อรังหรือรู้สึกปั่นป่วนต่อบทบาทต่างๆ ในชีวิต เช่น เป็นพ่อแม่ที่มักมีอารมณ์รุนแรงเวลาที่ลูกทำผิดพลาด เป็นเจ้านายที่ไม่ค่อยพอใจลูกน้องที่ไม่กระตือรือร้น หรือระแวงว่าจะถูกคู่ครองทอดทิ้ง ขอให้ลองทบทวนสิ่งที่ฉันกำลังจะบอกเล่าจากการอ่านหนังสือ เกินกว่าเจ็บปวด (Childhood Disrupted: How Your Biography Becomes Your Biology, and How You Can Heal) บาดแผลทางใจในวัยเด็ก ก่อความเจ็บป่วยเรื้อรังเมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไร และเราจะเยียวยาด้วยวิธีใด เขียนโดย Donna Jackson Nakazawa ฉบับแปลภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์โอ้มายก้อด (OMG books)

เราจะมาทำความเข้าใจที่มาของตัวคุณในแง่มุมต่างๆ ว่าอดีตได้ส่งผลต่อคุณในปัจจุบันอย่างไร และคุณมีทางเลือกที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง เป็นพ่อแม่ที่เข้าใจลูกด้วยจิตใจที่สงบ เป็นคุณครูที่เอื้อเฟื้อต่อลูกศิษย์ด้วยความตระหนักรู้ เป็นหัวหน้าที่เข้าถึงจุดติดขัดของเพื่อนร่วมงานได้อย่างเข้าอกเข้าใจ คุณคือคนที่เริ่มเยียวยาใจตนเองด้วยทางเลือกที่สร้างสรรค์

อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เชื่อมโยงเป็นสายธารชีวิต

จากคำกล่าวในหนังสือว่า “ช่วงปีของวัยเด็กไม่ได้สูญหายไปไหนเลย แต่เป็นเหมือนรอยเท้าที่เหยียบลงบนซีเมนต์เปียก ซึ่งแปลว่ามันถูกประทับไปตลอดชีวิต”

Advertisement

ประสบการณ์ในวัยเด็กทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราเป็นอยู่ได้อย่างไร ถึงแม้เราจะพานพบวิกฤตชีวิตมากมายจนทำให้เราเข้มแข็งและเรียนรู้ที่จะอยู่รอดปลอดภัย แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็ค้นพบว่าความเครียด การสูญเสีย และประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ส่งผลให้เรามีปัญหาสุขภาพและมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงในตอนโต เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคภูมิต้านตนเอง โรคซึมเศร้า และยังกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์หรือการเลี้ยงดูบุตร

แม้ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวของโรคในวัยผู้ใหญ่ แต่มีงานวิจัยจำนวนมากที่บอกว่า ถ้าเราไม่รู้ว่าวัยเด็กของเรามีส่วนอย่างมากต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ การเยียวยารักษาจะยากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้เหล่านักประสาทวิทยาทั่วโลกค้นหาความเชื่อมโยงอันลึกลับระหว่างสมองและร่างกาย

ผู้เขียนหนังสือเริ่มต้นสืบค้นความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก กับสุขภาพในวัยผู้ใหญ่ของตัวเธอเอง หลังจากต้องต่อสู้กับโรคภูมิต้านตนเองที่ส่งผลให้เธอเป็นอัมพฤกษ์สองครั้ง

Advertisement

มีการศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Adverse childhood experiences : ACE Study) แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เลวร้ายต่างๆ ในวัยเด็กกับโรคทางกายและจิตใจในวัยผู้ใหญ่ บาดแผลทางใจอาจก่อรูปมาจากคำพูดที่ทำให้รู้สึกต่ำต้อยและอับอาย หรือการถูกทอดทิ้งทางกายและทางความรู้สึก การถูกลวนลามทางเพศ การใช้ชีวิตร่วมกับพ่อแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิต หรือติดสุรา สารเสพติด พ่อแม่หย่าร้างหรือแยกทางกัน การเห็นแม่หรือพี่น้องถูกรังแก หรือเติบโตในชุมชนที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ยากจน รวมถึงถูกเพื่อนหรือครูรังแก

ความทุกข์เรื้อรังได้เข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างทางสมองของเด็ก เปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งไปกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดด้วยกระบวนการอักเสบที่มากเกินไป จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ในกรณีของผู้เขียนหนังสือ แพทย์ประจำตัวบอกกับเธอว่า ความเครียดเรื้อรังที่เธอประสบในวัยเด็กอาจทำให้ร่างกายและสมองสะสมสารพิษที่ทำให้เกิดการอักเสบเรื่อยมา จากเดิมที่เธอสนิทสนมกับพ่อ ครอบครัวเคยอยู่อย่างอบอุ่นและมีความสุข แต่วันที่ท่านมาด่วนเสียชีวิตลง ความเป็นเด็กของเธอก็จบสิ้นลงในชั่วข้ามคืน ไม่ใช่ความผิดของใคร มันเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เธอคิดว่าคนที่ไม่ยอมหลุดออกจากอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กคือคนที่เป็นจำเลยของอารมณ์

แต่เราจะจะเยียวยาผลกระทบทางชีวภาพอันเกิดจากความเครียดที่เป็นพิษร้ายในวัยเด็ก ให้คืนกลับมาเป็นตัวเราเองอย่างแท้จริงได้อย่างไร ด้วยวิธีการใดบ้าง

นายแพทย์วินเซนต์ เจ เฟลิติ ได้ศึกษาผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งหมื่นเจ็ดพันรายเกี่ยวกับเรื่องเลวร้ายในอดีตที่โยงไปถึงสุขภาพ และค้นพบว่า “เวลาไม่อาจรักษาบาดแผลทุกชนิดได้ คนเราไม่สามารถแค่ลืมมันไปได้ง่ายๆ แม้จะผ่านไป 50 ปีแล้วก็ตาม” ตรงกันข้าม เวลากลับเก็บซ่อนมันไว้ และมนุษย์จะเปลี่ยนบาดแผลทางใจที่ได้รับในวัยเด็กให้เป็นโรคทางกายต่อไปในอนาคต
เพื่อเตรียมเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ระบบกลไกในร่างกายจะตอบสนองต่อความตึงเครียดเพื่อสู้หรือหนี ถ้าคุณตอบสนองได้อย่างถูกต้อง เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ร่างกายคุณจะหยุดการตอบสนองแบบสู้หรือหนี และกลับคืนสู่ภาวะฟื้นตัว ผ่อนคลายความตึงของกายและใจ

แต่หากคุณต้องเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง ร่างกายคุณไม่เคยได้หยุดตอบสนองต่อความเครียดเลย จะทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งการอักเสบระดับต่ำๆ ออกมาตลอดเวลา

ความเครียดในวัยเด็กทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง ซึ่งปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันจนเกิดการเปลี่ยนในระดับยีน เพราะสมองของเด็กเล็กกำลังพัฒนา เมื่อถูกผลักไปเจอกับสภาวะสู้หรือหนี ภาวะเครียดเรื้อรังจะระงับการทำงานของยีนที่ควบคุมการตอบสนองต่อความเครียด จนไม่สามารถควบคุมการตอบสนองได้อย่างเหมาะสมไปตลอดชีวิต แกนตอบสนองความเครียดในวัยผู้ใหญ่จะไม่สามารถแยกแยะอันตรายที่แท้จริงออกจากความรู้สึกเครียดได้ ส่วนผู้ใหญ่ที่ไม่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก เมื่อมีสิ่งกระตุ้นความเครียด ระดับสารเคมีในร่างกายจะพุ่งสูงได้เช่นเดียวกัน แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นผ่านพ้นไป เขาจะกลับสู่สภาวะพักและผ่อนคลายอย่างรวดเร็ว

ผู้ใหญ่ที่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กจะมีความตื่นตัวสูง เป็นนิสัยที่ถูกบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก หลังจากการป่วยร้ายแรงในตอนเด็ก มิเชลไม่เคยรู้สึกผ่อนคลายหรือรู้สึกปกติสุขอีกเลยเมื่อเป็นผู้ใหญ่ “ฉันกลัวว่าตัวเองจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเปลี่ยนชีวิตฉันไป”

ในห้องวิจัยที่ทดลองการทำงานในสมองของหนู โดยการสร้างความเครียดในระดับต่างๆ ให้หนูสองกลุ่มนานสามสัปดาห์ หนูกลุ่มแรก ถูกสร้างแรงตึงเครียดแบบอ่อนๆ โดยที่หนูไม่สามารถคาดเดาว่าจะเกิดอะไรหรือเวลาไหน หนูกลุ่มที่สอง ถูกสร้างความตึงเครียดในเวลาและลักษณะเดิมทุกวัน ผลคือสมองของหนูกลุ่มแรกไม่สามารถหยุดตอบสนองต่อความเครียดและมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมอง พวกมันป่วย มีแผลในกระเพาะอาหาร ต่างจากหนูกลุ่มที่สอง แม้จะถูกสร้างความเครียดที่รุนแรงกว่า แต่ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบหนูกลุ่มแรก ทีมวิจัยบอกว่า “พวกมันจะหาวิธีจัดการ พวกมันจะรู้ว่าสิ่งเร้ากำลังจะมา จากนั้นมันจะจบลงอย่างรวดเร็ว” ผลคือไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมอง การอักเสบหรือการเจ็บป่วยในแบบเดียวกัน

สรุปคือสมองสามารถทนต่อความเครียดที่รุนแรง ถ้าเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ แต่จะไม่สามารถทนต่อความเครียดแม้เพียงเล็กน้อยได้ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดา เพราะทำให้ “ระบบการตอบสนองแบบฉุกเฉินของคุณทำงานเกินกำลังตลอดเวลา”

แม้แต่ความเครียดของเด็กแบบที่พบได้ทั่วไป เช่น พ่อแม่ชอบจ้องจับผิด มีอารมณ์พลุ่งพล่านเกินปกติ สามารถก่อความเสียหายได้เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่ชอบระบายอารมณ์กับเด็ก

มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว ขี้ระแวงเกินเหตุ และด้วยสภาวะเซลล์สมองอักเสบระดับต่ำๆ โดยอาจจะไม่รู้ตัว สมองจะถูกกำหนดให้ต้องสู้กับภาวะอารมณ์ขุ่นเคือง และไม่อาจใช้ชีวิตได้เต็มตามศักยภาพ มองสิ่งต่างๆ เกินจริงอยู่เสมอ ทำให้ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเป็นเรื่องดีหรือร้าย แต่ส่วนใหญ่พวกเขามักจะมองทุกอย่างว่าเลวร้ายมากกว่าคนอื่น

ญาดา สันติสุขสกุล
ผู้ถอดความจากหนังสือ
FB: Yada Santisukskul
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image