คุณภาพคือความอยู่รอด : ประโยชน์ของการจัดลำดับ : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

สถาบันเพื่อการพัฒนาด้านการบริหารระหว่างประเทศ (ไอเอ็มดี) (IMD : Institute for Management Development) ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่รายงานการจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นเลิศด้านบุคลากรผู้มีความสามารถ ประจำปี 2562 (World Talent Report 2019)

ปีนี้สิงคโปร์ ติดอันดับ 1 ประเทศที่มีความเลิศด้านบุคลากรประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (และติดอันดับ 10 ของโลก) รองลงมาในระดับเอเชีย-แปซิฟิก คือฮ่องกง อันดับ 3 ในเอเชียคือ ออสเตรเลีย อันดับ 4 คือ นิวซีแลนด์ ส่วนไต้หวัน ติดอันดับ 5 อันดับ 6 คือ มาเลเซีย อันดับ 7 เกาหลีใต้ อันดับ 8 ญี่ปุ่น อันดับ 9 อินโดนีเซีย อันดับ 10 จีน อันดับ 11 ไทย อันดับ 12 ฟิลิปปินส์ อันดับ 13 อินเดีย และอันดับ 14 มองโกเลีย

สิงคโปร์ มีคะแนนสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย โดยคะแนนที่ได้มากที่สุดส่วนใหญ่เป็นด้านต่างๆ ที่ตอกย้ำถึงความพร้อมของสิงคโปร์ และสิงคโปร์ ยังได้คะแนนสูงในหมวดการสำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งยังได้คะแนนสูงในโครงการประเมินขีดความสามารถนักเรียนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการสำรวจการศึกษาทั่วโลกขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ที่จะให้นักเรียนทำการทดสอบด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ส่วนประสิทธิภาพของโรงเรียนระดับประถมและมัธยมก็เป็นเหตุผลที่ช่วยให้สิงคโปร์ได้รับคะแนนด้านการศึกษาสูงกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

ส่วนระดับโลก อันดับ 1 คือ สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 2 เดนมาร์ก อันดับ 3 สวีเดน อันดับ 4 ออสเตรีย อันดับ 5 ลักเซมเบิร์ก อันดับ 6 นอร์เวย์ อันดับ 7 ไอซ์แลนด์ อันดับ 8 ฟินแลนด์ อันดับ 9 เนเธอร์แลนด์ และอันดับ 10 สิงคโปร์ (ซึ่งอันดับของสิงคโปร์ในระดับโลกดีขึ้นขยับขึ้นมา 3 อันดับ)

Advertisement

ผลการจัดอันดับในปีนี้พบว่า ญี่ปุ่นมีอันดับแย่ลง ตามหลังเกาหลีใต้ โดยญี่ปุ่นติดอันดับที่ 8 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนในระดับโลก อยู่อันดับที่ 35 จากอันดับที่ 29 เมื่อปี 2561 ขณะที่เกาหลีใต้ ติดอันดับ 7 ในเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนในระดับโลก เกาหลีใต้ติดอันดับที่ 33 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อปี 2561

การจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถ ประจำปี 2562 จัดทำโดย IMD ที่ทำสำรวจขีดความสามารถของประเทศต่างๆ 61 ประเทศ โดยพิจารณาปัจจัยต่างๆ 3 ด้าน คือ ปัจจัยด้านการลงทุนและพัฒนา ปัจจัยด้านความน่าดึงดูดใจ และปัจจัยด้านความพร้อม

การประเมินทั้ง 3 ปัจจัยของ IMD นี้ ในส่วนของปัจจัยด้านการลงทุนพัฒนาจะเน้นด้านการลงทุนในภาคการศึกษา ทั้งยอดรวมการลงทุน และค่าเฉลี่ยต่อจำนวนนักเรียนสัดส่วนครูต่อจำนวนนักเรียน การฝึกงาน การฝึกอบรมพนักงาน การใช้แรงงานสตรี และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข

Advertisement

ปัจจัยด้านความดึงดูดจะเน้นเรื่องค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต แรงจูงใจ อัตราสมองไหล ความสามารถในการดึงดูดให้คนทำงาน การจ่ายค่าตอบแทน และปัจจัยด้านความพร้อม จะพิจารณาอัตราการเติบโตของแรงงาน แรงงานทักษะ ความสามารถด้านการเงิน ประสบการณ์ทำงานกับต่างประเทศ ความสามารถของผู้บริหารระดับสูง ระบบการศึกษา การศึกษาระดับอุดมศึกษา การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และการจัดการ ภาษา และการประเมินสัมฤทธิผลทางการศึกษา

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ การจัดลำดับ (อย่างถูกต้องและเป็นธรรม) ในเรื่องใดๆ จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อทำให้เราเกิดการเรียนรู้จากสถานะปัจจุบันที่เป็นอยู่ (เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น) เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงสถานะ (ลำดับ) ของเราให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image