คุณภาพคือความอยู่รอด : สิ่งที่เหมาะกับเรา : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ ไทยเรามี “ของดี” อยู่มากมายที่ขายได้ เพียงแต่ขาดจุดขายและการ บูรณาการเพื่อสร้าง “คุณภาพ” ในตรายี่ห้อ (Brand name) ของสินค้าไทยอย่างจริงจัง

เช่นเดียวกับที่เรามี “คนเก่ง” อยู่มากมาย แต่น่าเสียดายที่ยังหา “เวที” ของตัวเองไม่พบ เพราะขาดโอกาส
ปัญหาของเราในวันนี้ จึงไม่ใช่เพียงแต่เรื่องของ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” เท่านั้น ที่จะทำให้เราไปถึง “ประเทศไทย 4.0” อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ยังมีองค์ประกอบที่เป็นพื้นฐานสำคัญจะทำให้เราก้าวสู่ “ประเทศไทย 4.0” ช้ากว่าเป้าหมายที่ควรเป็น อันได้แก่ “วิธีคิดวิธีทำงาน” (วิธีบริหารจัดการ) และ “วัฒนธรรมองค์กร” ที่เป็นปกติวิสัยฝังอยู่ในสายเลือดและวิธีการทำงานของพวกเรา

ปัจจุบัน เรายังคงอาศัยทฤษฎีการบริหารจัดการของปรมาจารย์ฝรั่งและญี่ปุ่นอยู่มากมาย (เดี๋ยวนี้ยังรวมของจีนและเกาหลีด้วย) ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีด้านการตลาด (Marketing) ทฤษฎีทางด้านการปฏิบัติการหรือการผลิต (Operation) ทฤษฎีการเงินการบัญชี (Finance and Accounting) ทฤษฎีด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น เราจึงมีศัพท์แสงและคำย่อทางด้านการบริหารจัดการมากมาย ที่ได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวันของการทำงานและการบริหารจัดการ เช่น 5ส, QCC, TQC, TQM, TPS, BCG, BSC, OKR และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงปรัชญาต่างๆ ของ สามก๊ก, ซุนหวู่, ซัมซุง เป็นต้น

Advertisement

เรายังไม่มีวิธีการบริหารจัดการที่เป็น “แนวความคิด” ของไทยเราอย่างชัดเจนเลย ซึ่งเกิดจากการวิเคราะห์วิจัยหรือตกผลึกทางความคิดของคนไทย มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยที่พวกเราใช้ได้อย่างภาคภูมิใจว่า นี่คือวิธีการของไทยเราที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและบุคลิกภาพของคนไทยมากที่สุด “แนวความคิดทางการบริหารจัดการ”

เรายังไม่มี “ทฤษฎีการบริหารจัดการ” ที่เป็นของไทยเราเองที่เหมาะจะใช้กับองค์กรของไทยเช่นเดียวกับ “5ส ของญี่ปุ่น”

เราได้แต่หยิบยืมวิธีคิดวิธีบริหารจัดการของฝรั่งและของญี่ปุ่นมาใช้ตลอด ทั้งที่เป็นแนวความคิดและวิธีการที่ตั้งอยู่บนวัฒนธรรมของพวกเขา ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างต่างจากวัฒนธรรมของพวกเราอย่างมาก

Advertisement

แต่ก็ยังดี ที่พวกเราสามารถนำไปประยุกต์ปฏิบัติจนเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ แต่ที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ก็คือเราไม่ได้นำ เอาผลลัพธ์ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้อย่างได้ผลนั้นมาจดบันทึกเป็น “มาตรฐานวิธีบริหารจัดการของไทย” เพื่อถ่ายทอดและเรียนรู้ต่อไปอย่างเป็นระบบ

ในความเป็นจริงแล้ว เรามีอาจารย์และนักวิชาการหลายท่านที่พยายามทำดั่งว่า (คือ หาวิธีการที่เป็นของคนไทย) แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับและต้องเลิกราไปในที่สุด

ว่าไปแล้ว เรามีงานวิจัยและพัฒนา (RND) รวมทั้งกรณีศึกษา (Case Study) เกี่ยวกับวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการในองค์กรต่างๆ ของไทยเราที่ประสบความสำเร็จมากมาย แต่งานวิจัยเหล่านั้นก็ถูกเก็บวางไว้บนหิ้ง โดยไม่ได้ขยายผลและนำไปสู่การประยุกต์ใช้หรือไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ เราจึงไม่ได้เรียนรู้อย่างเป็นเป็นชิ้นเป็นอัน

จึงถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจว่า จะยังคงเป็น “ผู้ซื้อ” (เทคโนโลยีและการบริหารจัดการ) ต่อไป หรืออย่างไรดี ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image