จิตวิวัฒน์ : ยุติโทษประหาร ด้วยทางเลือกแห่งสันติ

ข่าวใหญ่ประจำรอบสัปดาห์นี้ก็คือ การประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ด้วยการฉีดสารพิษ ซึ่งเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 9 ปี ดิฉันได้อ่านสัมภาษณ์ของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในหนังสือพิมพ์ ท่านมีความหวังว่าการประหารชีวิตในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้ กรณีดังกล่าวทำให้มีการอภิปรายกันขึ้นมาอีกครั้งว่าเราควรคงโทษประหารไว้หรือไม่ ฝ่ายที่สนับสนุนการคงโทษประหารไว้ ก็เพราะอยากให้สังคมมีความสงบสุขและปลอดภัย ไม่มีคนทำผิดร้ายแรงอย่างที่ท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวไว้

แต่คำถามที่เราน่าจะถามมากกว่านั้นก็คือ เรามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าหรือไม่ ทางเลือกที่ไม่ต้องปกป้องชีวิตด้วยการเข่นฆ่าอีกชีวิต

ในฐานะผู้สอนการสื่อสารอย่างสันติ ดิฉันขอตอบคำถามนี้ว่า “มีค่ะ” แทนที่เราจะประหารชีวิตผู้กระทำความผิด เราสามารถเปลี่ยนให้เขากลายมาเป็นคนที่มีสติ มีความยับยั้งชั่งใจ มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นได้ มีหลายโครงการที่ทำได้อย่างประสบความสำเร็จ ช่วยสร้างสติและการควบคุมอารมณ์ของนักโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อพ้นโทษออกมาจากเรือนจำ พวกเขาสามารถอยู่กับสังคมได้อย่างสงบสุข บางคนกลายเป็นนักฝึกอบรมที่กลับเข้าไปสอนนักโทษคนอื่นๆ ในเรือนจำเลยทีเดียว

ครูชาวสหรัฐที่สอนการสื่อสารอย่างสันติให้ดิฉันคนหนึ่ง ก็เป็นผู้สอนนักโทษให้มีทักษะการสื่อสารอย่างสันติ และโครงการของครูก็ได้รับการยืนยันด้วยงานวิจัยมาแล้วว่าสามารถสร้างความเมตตากรุณาในใจนักโทษได้จริง และยังมีหลายโครงการเช่นที่ว่านี้อีกหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา สอนทั้งนักโทษที่ก่อคดีอุกฉกรรจ์ ได้รับโทษหนัก จนไปถึงโทษระดับกลาง และยังมีการสอนวิธีนี้ในเรือนจำในเดนมาร์กและสวีเดนอีกด้วย

Advertisement

เพราะอะไรการสอนทักษะการสื่อสารจึงช่วยเปลี่ยนแปลงนักโทษได้ เนื่องจากว่าความรุนแรงทางคำพูดนั้นเป็นตัวเร่งให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ ในอาชญากรรมที่รุนแรงทั้งหลาย การใช้คำพูดที่รุนแรงมีผลสัมพันธ์กับอัตราการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ มีงานวิจัยที่พบว่าการขาดทักษะการสื่อสารเป็นส่วนสำคัญต่อการเกิดความรุนแรงทางคำพูด อันจะนำไปสู่ความรุนแรงทางกายภาพตามมา การสอนทักษะการสื่อสารอย่างสันติเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างลงลึกในระดับจิตใจ ให้สามารถสร้างสติก่อนการสื่อสาร ลดความรุนแรงในการสื่อสาร จึงส่งผลให้ลดการกระทำผิดด้วยการใช้ความรุนแรงทางกายภาพได้ นอกจากนั้น ยังช่วยให้นักโทษสร้างทางเลือกใหม่ที่เป็นทางออกอย่างสันติในการแก้ปัญหาได้อีกด้วย

งานวิจัยในรัฐวิสคอนซินพบว่า การสื่อสารอย่างสันติช่วยลดความรุนแรงและแรงต่อต้านในตัวผู้ต้องขัง และอีกงานวิจัยในรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่า การสื่อสารอย่างสันติช่วยเพิ่มทักษะการเอาใจเขามาใส่ใจเราของผู้ต้องขังที่กำลังกลับคืนสู่สังคม (การขาดทักษะการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือ Empathy เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการกระทำความผิด) งานวิจัยนี้ยังพบว่าผู้ผ่านการอบรมมีทักษะในการดูแลความโกรธ การให้ความกรุณาต่อตัวเอง มีสติ และมีทักษะการสื่อสารอย่างสันติในสถานการณ์ความขัดแย้งสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ผ่านการอบรม

นอกจากนั้น การสื่อสารอย่างสันติยังช่วยลดการกลับไปกระทำผิดซ้ำด้วย งานวิจัยในรัฐวอชิงตันพบว่า ผู้ต้องขังที่ผ่านการอบรมการสื่อสารอย่างสันติร่วมกับการฝึกสติ มีอัตราการกระทำความผิดซ้ำหลังจากออกจากเรือนจำเฉลี่ยแล้วน้อยกว่าผู้ต้องขังที่ไม่เคยได้รับการอบรมเรื่องนี้ เมื่อมีจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำกลับเข้าสู่เรือนจำลดลง ส่งผลให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้อีกด้วย โดยพบว่า โครงการอบรมช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐได้ถึง 5,065,320 เหรียญต่อปี

Advertisement

รายงานยังชี้ให้เห็นว่าผู้ต้องขังในรัฐวอชิงตันที่ผ่านการอบรมมีความโกรธลดลง และอัตราการลดลงของความโกรธมีความสัมพันธ์กับจำนวนชั่วโมงการอบรม คือหากผ่านการอบรมนับเป็นจำนวนชั่วโมงมากกว่า จะมีความโกรธลดลงได้มากกว่า สามารถระบุและสื่อสารอารมณ์ความรู้สึก รวมทั้งรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตัวเองได้มากกว่า อธิบายถึงความต้องการของตัวเองได้มากกว่า หรือขอร้องโดยไม่ออกคำสั่งได้มากกว่า รวมทั้งเข้าอกเข้าใจผู้อื่นได้มากกว่า พูดได้ว่าผู้ที่ผ่านการอบรมมีทักษะในการสื่อสารที่ไม่พบในผู้ต้องขังทั่วไป

ดิฉันอยากจะยกตัวอย่างจริงของผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้ว และสามารถใช้ทักษะการสื่อสารอย่างสันติที่เรียนมาในเรือนจำสร้างทางเลือกใหม่ให้อยู่ร่วมกับผู้คนอย่างสันติสุขได้*

วอลเตอร์ เป็นผู้ต้องขังที่ถูกจำคุกเพราะกระทำชำเราทางเพศ ปีนี้เขาอายุ 49 และถูกจำคุกรวมแล้ว 20 ปี วอลเตอร์เติบโตมากับการถูกลงโทษอย่างรุนแรง จนทำให้เขาเชื่อว่าวิธีเดียวที่จะปกป้องตัวเองได้ก็คือ ต้องแข็งแกร่งและใช้ความรุนแรงให้มากกว่าคนที่อยู่รอบข้างระหว่างการถูกจองจำ วอลเตอร์มีโอกาสได้เข้าร่วมอบรมการสื่อสารอย่างสันติที่จัดขึ้นสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ เขาได้เรียนรู้หลักการของการสื่อสารอย่างสันติและได้เข้ากลุ่มเพื่อฝึกฝนวิธีการนี้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อเขาได้รับการปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 เขาต้องเผชิญกับโลกที่ไม่สนใจว่าเขาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างแล้ว วอลเตอร์ถูกปฏิเสธไม่ให้เช่าบ้านในเขตที่ปลอดภัยและมีสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล ในที่สุดเขาต้องกลับมาอยู่ในชุมชนที่เขาเคยอยู่ ทุกคนจำเขาได้ในฐานะเดิมคือ พ่อค้ายาเสพติด

วอลเตอร์เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างยากลำบาก เขาออกวิ่งบนทางเดินริมแม่น้ำทุกเช้า เพื่อรักษาสุขภาพกายและใจให้เข้มแข็ง แต่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลับลงข่าวกล่าวหาว่า วอลเตอร์พูดกับตำรวจว่า เขาจะก่อคดีอีกครั้งบนทางเดินริมแม่น้ำที่เขาไปวิ่งตอนเช้าทุกวัน และบอกว่าชุมชนกำลังต้องการความปลอดภัย

เมื่อรับรู้เรื่องราวในหนังสือพิมพ์และเห็นภาพของเขาติดอยู่ตามที่สาธารณะ วอลเตอร์รู้สึกโกรธและสิ้นหวังจากความอยุติธรรมที่ได้รับ เขายังกังวลว่าจะไม่สามารถไปวิ่งเพื่อรักษาสุขภาพกายและใจของตนได้อีกต่อไป

แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงเหมือนก่อน วอลเตอร์ใช้การสื่อสารอย่างสันติที่ได้เรียนรู้มา เขากลับมาสัมผัสกับความรู้สึกและค้นหาความต้องการของตนเอง เขารู้ว่าเขารู้สึกเจ็บและโกรธ เพราะต้องการความเข้าใจและความช่วยเหลือจากชุมชน และเขายังต้องการการออกกำลังกายซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตในโลกภายนอกได้อย่างเป็นปกติสุข

เมื่อเข้าใจตัวเองเช่นนี้ ความเจ็บปวดและความโกรธของเขาก็คลี่คลายลง จนสามารถเข้าใจได้ว่าขณะนี้คนในชุมชนเองก็กำลังกังวลใจ เพราะต้องการความปลอดภัย ดังนั้น เขาจึงหาวิธีการที่มาตอบสนองความต้องการทั้งของตัวเองและชุมชนได้ นั่นก็คือ ก่อนจะออกวิ่ง วอลเตอร์จะโทรไปบอกตำรวจก่อน และชวนคนอื่นไปวิ่งด้วยกันเพื่อให้คนในชุมชนรู้สึกปลอดภัย

หลังจากใช้วิธีนี้สักพักหนึ่ง วอลเตอร์ได้รับจดหมายจากคนในชุมชน เขียนมาขอโทษในสิ่งที่เคยทำกับเขา

วอลเตอร์ในเรื่องนี้ใช้ชีวิตอยู่ในคุกมาตั้งแต่อายุยี่สิบกว่า และเรื่องของเขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองเมื่อได้รับโอกาส นายธีรศักดิ์ก็เป็นนักโทษตั้งแต่วัย 19 ปีใกล้เคียงกับวอลเตอร์ที่ก่อคดีตอนยังเป็นวัยรุ่นอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น น่าเสียดายที่เขาไม่ได้รับโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สังคมได้เห็นอย่างวอลเตอร์ หากเรายุติโทษประหารและมีโครงการเปลี่ยนแปลงจิตใจของนักโทษที่มีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องเป็นการสื่อสารอย่างสันติวิธีเดียว อาจจะใช้วิธีการอย่างอื่นก็ได้ เราจะสามารถให้โอกาสใหม่กับนักโทษ สร้างสังคมที่สงบสุขและปลอดภัยได้โดยไม่ต้องเข่นฆ่าใคร

ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

——–
*จาก Dannahy, Patricia and Josephine Mchale. “Did Ya Hear about Some Workshop Going On This Weekend? Violent Offenders” Demonstrate Their Capacity for Nonviolence.” www.cnvc.org

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image