จิตวิวัฒน์ : การสอนเทอมที่แล้วของฉัน

ฉันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมา 16 ปี แทบไม่ได้สอนนิสิตปริญญาตรี เพราะว่าใช้พลังงาน ทักษะและไหวพริบมากกว่าการสอนปริญญาโทหรือเอกมาก แต่เทอมที่แล้วฉันได้สอนนิสิตปริญญาตรี แล้วพบว่าตัวเองทำได้โดยใช้ทักษะจากการไปอบรมเรื่องการสอน การช่วยเหลือของเพื่อน การค้นพบด้วยตัวเอง เลยคิดว่าน่าจะรวบรวมสิ่งที่ทำแล้วได้ผลมาเก็บไว้

นิสิตหรือคนทั่วไปชอบให้เราจำชื่อเขาได้ แต่ว่าชื่อจริงของคนสมัยนี้ซับซ้อนมาก ฉันเลยใช้การจำชื่อเล่น และเรียกนิสิตด้วยชื่อเล่น ทางจิตวิทยาบอกว่าการเรียกนิสิตด้วยชื่อทำให้เขารู้สึกว่ามีตัวตนในห้องเรียน

เด็กจะเรียนรู้ได้ดีจากคนที่เขาชอบ ฉันไม่ได้อยากให้เขาชอบฉันเฉยๆ แต่อยากให้ชอบฉันเพื่อให้เขาอยากเรียน ฉันไม่ได้พยายามอะไรมาก แค่สมมุติตัวเองเป็นนิสิตในบางที เช่น ไม่บ่นมาก (แต่ก็มี) ปล่อยตรงเวลา ไม่พยายามใช้อำนาจ (แต่มีหลุดแน่นอน)

ตอนแรก ฉันทดลองไม่เช็กชื่อเข้าเรียน ปรากฏว่า นิสิตมาเข้าเรียนสายมากๆ ระดับคาบ 3 ชั่วโมง มาสาย 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือไม่มาเรียนเลย ฉันจึงต้องกลับไปใช้วิธีโบราณ คือเช็กชื่อแบบมีคะแนน (วิชาสัมมนา) และให้ตอบแบบทดสอบทุกต้นคาบสำหรับวิชาอื่นๆ คือ ถ้าเด็กมาสายก็ไม่ได้ทำแบบทดสอบซึ่งช่วยทำให้นิสิตตื่นตัว ทยอยอ่านหนังสือ ไม่ต้องรอจนถึงสอบกลางภาคหรือปลายภาค เมื่อเด็กทำเสร็จ ฉันจะเฉลยคำตอบในห้องทันทีทำให้พวกเขาได้ทบทวนสิ่งที่เรียนไปเมื่อคาบที่แล้ว พอคาบต่อมา ฉันจะแจกแบบทดสอบคืน เป็นการให้ฟีดแบ๊กกับนิสิตว่าผลการทดสอบเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าคะแนนไม่ดี จะเป็นการตอกย้ำว่าแย่แล้วนะ

Advertisement

ฉันโพสต์คะแนนสะสมหรือสมุดคะแนนบน กูเกิลสเปรดชีต (Google spreadsheet – คล้ายกับไมโครซอฟท์เอกซ์เซล) โดยซ่อนชื่อจริงไว้ แสดงแต่คะแนนและรหัสนิสิต (ตั้งค่าให้ดูได้อย่างเดียว แก้ไขไม่ได้) เพื่อให้พวกเขาเห็นผลงานของตัวเองและของเพื่อนและเพื่อความโปร่งใส ถ้าฉันบันทึกผิด เด็กสามารถจะแย้งได้

ฉันสร้างกลุ่มเฟซบุ๊กสำหรับแต่ละวิชาเพื่อสื่อสารกับนิสิต แปะลิงก์ต่างๆ โพสต์เฉลยการบ้าน เฟซบุ๊กดีกว่าระบบจัดการเรียนการสอนใดๆ เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เด็กใช้อยู่แล้ว และเห็นได้ทันทีว่าพวกเขาอ่านข้อความกันหรือยัง ใครที่อ่านและยังไม่อ่าน ซึ่งเด็กตอบสนองเร็วมากๆ เมื่อจะถามความคิดเห็นก็สามารถสร้างโพลได้อีกด้วย

เมื่อตรวจข้อสอบเสร็จแล้ว ฉันจะคืนข้อสอบกลางภาคและปลายภาคให้เด็กดูทุกครั้ง เอามือถือถ่ายเก็บไว้ได้ ส่วนต้นฉบับขอคืนเพราะเป็น “หลักฐานของทางราชการ” ฉันโพสต์เฉลยคำตอบในเฟซบุ๊ก ถ้าตรวจผิดหรือรวมคะแนนผิด นิสิตมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง ฉันอยากให้พวกเขารู้ว่าตัวเองทำผิดตรงไหน การคืนข้อสอบให้นิสิตเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจารย์ทุกคนทำตอนเรียนปริญญาตรีโทเอกที่อเมริกา แต่ฉันประหลาดใจที่ไม่ทำกันที่นี่

Advertisement

ฉันมีบัญชีกูเกิลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทำให้ฉันใช้ กูเกิลฟอร์ม (โปรแกรมสร้างแบบสอบถามและรวบรวมข้อมูล) เพื่อรับการบ้านจากเด็กๆ ได้ ฉันเคยให้นิสิตส่งไฟล์ทางอีเมล์แล้วยุ่งยาก ต้องคอยจัดให้อยู่ในแฟ้มเดียวกัน แต่ถ้าเรามีบัญชีกูเกิลของมหาวิทยาลัย เมื่อสร้างกูเกิลฟอร์ม เราสามารถให้นิสิตอัพโหลดไฟล์ส่งการบ้านได้ (บัญชีกูเกิลทั่วไปทำไม่ได้) ผลของกูเกิลฟอร์มสามารถลิงก์ไปสร้างกูเกิลสเปรดชีตได้อีกด้วย ทำให้ประมวลผลง่ายเพราะผลในกูเกิลสเปรดชีตจะแสดงเวลาส่งเป็นหลักฐาน ไฟล์ที่เด็กอัพโหลดมาจะถูกจัดให้อยู่ในแฟ้มเดียวกันโดยอัตโนมัติ แถมบัญชีกูเกิลของมหาวิทยาลัยให้พื้นที่จัดเก็บไม่จำกัดอีกต่างหาก

ฉันใช้กูเกิลคลาสรูมเพื่อโพสต์วิดีโอที่ต้องการให้เด็กดูในยูทูบมีวิดีโอดีๆ มากมายที่ใช้เป็นสื่อการสอนได้แต่ถ้าให้ดูวิดีโอเฉยๆ จะน่าเบื่อมากและคาดว่าเด็กจะไม่ดู เพื่อนฉันสอนใช้โปรแกรม edPuzzle (นิยมใช้สร้างวิดีโอแบบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน) เพื่อตัดคลิปและสร้างคำถามแทรกในวิดีโอได้หลายแบบ เช่น แบบปรนัยซึ่งเราจะกรอกคำตอบที่ถูกต้องได้ หรือแบบคำตอบสั้นๆ แต่แทรกคำอธิบายเพิ่มเติมได้ ถ้าเป็นแบบปรนัย edPuzzle จะตรวจคำตอบให้เลย แต่ถ้าเป็นคำตอบสั้นๆ เราต้องเข้าไปตรวจเอง แล้ว edPuzzle จะรวมคะแนนให้ พอตอบคำถามใน edPuzzle เสร็จแล้ว สร้างเป็นการบ้านในกูเกิลคลาสรูมเด็กๆ ก็จะเห็นการตอบคำถามเหล่านี้ใช้เก็บคะแนนเป็นการบ้านได้

ฉันเชื่อที่ซัล ข่าน จากข่าน อะคาเดมี (Khan Academy) เคยบอกว่า เด็กเรียนรู้ได้มากจากวิดีโอที่ดีๆ เพราะเขาจะดูกี่รอบก็ได้

วิชาที่ฉันสอน คือ การวิจัยดำเนินงาน (Operations research) ซึ่งเป็นวิชาคำนวณที่ต้องทำโมเดล ฉันไม่ใช้เพาเวอร์พอยต์ เพราะรู้สึกว่าเนือยเกินไป ทำให้เด็กหลับ แต่ทำเป็นเวิร์กชีต (แผ่นงาน) มีโจทย์ มีคำอธิบายแต่ไม่ครบ นิสิตต้องเขียนเพิ่ม ฉันให้เด็กทำตัวแบบคณิตศาสตร์ในกระดาษและให้สร้างตัวแบบคอมพิวเตอร์ด้วยไมโครซอฟท์เอกซ์เซลนิสิตบางคนที่ทำคล่อง เสร็จเร็ว ฉันจะให้ไปช่วยคนที่ทำเสร็จช้า เขาจะได้ไม่เบื่อที่ต้องรอ และฉันคิดว่านิสิตพูดภาษาเดียวกัน จึงเป็นการฝึกให้นิสิตช่วยเหลือกัน สร้างความเห็นอกเห็นใจ (เป็นการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวกับมนุษย์ได้อีก) และฉันไม่ต้องเหนื่อยด้วย แต่วิธีนี้ ทำให้สอนเนื้อหาได้น้อยลง ฉันเลยเลือกตัดส่วนที่เป็นทฤษฎีมากๆ ออกไป เพราะอยากให้นิสิตประยุกต์ใช้เป็นมากกว่า

ฉันใช้เกมหลายชนิด เช่น บอร์ดเกมหรือเกมที่ใช้ร่างกาย เพราะรู้ว่าเด็กชอบมากๆ ขนาดบอร์ดเกมที่ไม่เคยเล่นและเป็นภาษาอังกฤษ เขาก็ยังอินกันมาก ฉันเล่นบอร์ดเกมแพ้เด็กทุกครั้ง ส่วนเกมที่ใช้ร่างกายช่วยให้เขาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงซึ่งเขาน่าจะจำได้ไปตลอดชีวิตเพราะทำผ่านร่างกาย ฉันได้เกม Traveling salesman problem (TSP : ปัญหาการเดินทางของพนักงานขาย) มาจากอาจารย์ในภาควิชาเดียวกันส่วนเกม Blending problem (ปัญหาการกำหนดส่วนผสมการผลิต) ได้มาจากอินเตอร์เน็ตให้นิสิตเล่นเพื่อให้เขาได้เรียนรู้และได้เห็นตัวอย่างว่าเกมเป็นอย่างไร

ในวิชาการวิจัยดำเนินงาน จะมีโครงงานกลุ่ม คือ ให้เด็กคิดเกมสำหรับปัญหาทางการวิจัยดำเนินงานต่างๆ เช่น Blending problem, ปัญหาการเชื่อมต่อทุกจุดในเครือข่าย (Minimal spanning tree problem), ปัญหาเรื่องการขนส่ง (Transportation problem) โดยมีงานสองส่วน ส่วนแรกคือนำเสนอโครงงานเป็นวิดีโอ อธิบายปัญหาที่ศึกษาและวิธีเล่นเกม เด็กยุคนี้เกิดมาพร้อมกับมือถือและการถ่ายวิดีโอ จึงทำได้ดีมาก บางกลุ่มมีเสียงดนตรีเป็นพื้นหลังบางกลุ่มมีซับไตเติลฉันไม่เคยสอนพวกเขาทำวิดีโอเพราะตัวเองทำไม่เป็น แค่สั่งให้ทำเลย ไม่มีใครบ่นว่าทำไม่ได้ เหมือนว่าพวกเขาเกิดมาก็ทำได้เลย

ในการเรียนคาบสุดท้ายก่อนสอบ ฉันจะให้เด็กๆ มาเล่นเกมกัน พวกเขาต้องเตรียมอุปกรณ์มาเอง บางกลุ่มเตรียมรางวัลมาให้เพื่อน น่ารักมาก เป็นการทบทวนก่อนสอบด้วย เนื่องจากฉันใช้งานเด็กๆ หนัก ฉันเลยเลี้ยงข้าวเด็กตอนท้ายคาบ

สําหรับวิชาสัมมนานิสิตปี 4 จำนวน 60 คน ฉันไม่มีลูกเล่นอะไร แต่เทคโนโลยีช่วยได้มาก ฉันใช้กูเกิลฟอร์มในการรับคำถามหรือความคิดเห็นจากนิสิต เพราะถ้าใช้กระดาษแล้วมาพิมพ์คงจะเสียเวลามาก

ฉันเชิญเพื่อนที่ได้พบในเวิร์กช็อปต่างๆ มานำกิจกรรมให้ เช่น มาเปิดตัวแบบแรงๆ เรื่องความคิดสร้างสรรค์ การไม่ตัดสิน มาทำเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง, ผู้นำสี่ทิศ หรือมาสอนเรื่องการเขียน เป็นต้น

ต้องขอบคุณหัวหน้าภาคซึ่งอนุมัติเงินให้จัดเวิร์กช็อปมายด์แมปปิงและการจับประเด็น เป็นคาบ 6 ชั่วโมง พบว่านิสิตทำได้ดี ฟีดแบ๊กพวกเขาชอบกิจกรรม Soft skills ที่ใช้เวลาอบรมแค่ 3 ชั่วโมง เช่น การฟังอย่างลึกซึ้งและผู้นำสี่ทิศ สนุกกันมาก การที่กระบวนกรอายุไม่ต่างจากพวกเขามากก็ช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปด้วยดี

ส่วนกิจกรรมจับประเด็นใช้กับนิสิตไม่ได้ผลแม้จะมีหลายคนเห็นว่ามีคุณค่า แต่ลักษณะของกิจกรรม ความเร็วในการเดินเรื่อง อายุของกระบวนกรไม่เหมาะกับนิสิตปริญญาตรี

จากการรับฟีดแบ๊กนิสิตบอกว่ากิจกรรมช้าเกินไป พวกเขาชอบอะไรที่เร็วๆ สั้นๆ เขาไม่เห็นประเด็นของกิจกรรมที่เตรียมความพร้อมไปสู่กิจกรรมหลัก มองว่าเยิ่นเย้อ ไม่จำเป็น อยากให้เข้าเรื่องเลย ทฤษฎีการเรียนรู้ที่ว่าต้องค่อยๆ ไต่ระดับการเรียนรู้ให้เป็นระฆังคว่ำดูเหมือนจะไม่ได้ผลนิสิตอยากให้เร่งจังหวะการเรียนรู้ไปสู่จุดพีคเลย

ทุกคาบที่สอน ฉันจะให้นิสิตเขียนสิ่งที่ได้เรียนรู้และข้อเสนอแนะบนกระดาษโพสต์อิตแล้วแปะที่ประตูก่อนออกจากห้อง (ฉันได้ไอเดียมาจากกระบวนกรของกลุ่มมะขามป้อม) ซึ่งดีงาม เพราะเราจะได้รับรู้ฟีดแบ๊กจากผู้เรียน แต่บางทีฟีดแบ๊กแรงๆ ในเชิงลบก็ทำให้จุกที่คอเหมือนกัน แต่เป็นการฝึกฝนสำหรับฉันด้วย ว่าจะรับฟีดแบ๊กอย่างไรโดยที่ไม่ถอดใจและเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนการสอนจริงๆ ฉันอยากมีวิสัยทัศน์ ทำสิ่งที่แปลกใหม่ แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ เมื่อไม่ได้ผล ก็ต้องยอมรับ ละทิ้ง และไปแสวงหาของใหม่

ฉันรู้ว่าตัวเองจะสอนแบบที่เคยสอนก็ได้ คือ เชิญใครสักคนมาพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเทอม แต่ฉันคิดว่าน่าเบื่อเกินไป เนือยเกินไป แม้จะยังต้องเชิญคนมาพูดในบางหัวข้อ เช่น การสัมภาษณ์งาน / เส้นทางการทำงานแต่ฉันจะเชิญมาคราวละ 3 คน แล้วจัดรูปแบบเหมือนการอภิปรายรวบรวมคำถามจากนิสิตผ่านกูเกิลฟอร์ม แล้วให้นิสิตอาสาในห้องสองคนมาเป็นพิธีกร รูปแบบนี้อาจารย์ท่านอื่นในภาควิชาก็เคยทำพอนิสิตผ่านกิจกรรมหลายอย่าง เขาจะรู้ว่าสนุกกว่านั่งฟังเฉยๆ และมีฟีดแบ๊กมาตอนท้ายเทอมว่าอยากให้เป็นแบบนี้อีก

ทั้งหมดทั้งมวลที่ทำมา ฉันสรุปว่าการได้ลองแล้วล้มเหลวดีกว่าอยู่เฉยๆ แบบตายทีละนิดฉันคิดว่าวิธีที่ฉันหรือคนอื่นเคยทำไม่ได้ผลอีกต่อไป ฉันแค่ไม่อยากนั่งเฉยๆ ดูความหายนะของตัวเอง แล้วก็แก่แบบขี้บ่น ขี้ประชดประชัน

จุฑา พิชิตลำเค็ญ
www.thaissf.org, twitter.com/jitwiwat
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image