จิตวิวัฒน์ : กล้าสอน พลังชีวิต แรงบันดาลใจ มุมมอง วิธีคิด วิธีสอน มิตรภาพ ชุมชน จิตวิญญาณครู : โดยณัฐฬส วังวิญญู

ในช่วงวันที่ 8-11 มิถุนายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาจิตวิญญาณและทักษะการสอนที่สร้างการมีส่วนร่วมและชีวิตชีวา หรือ “ครูกล้าสอน“ รุ่นที่ 3 ได้เริ่มต้นโมดูลแรก ครู 30 ชีวิต จาก 17 สถาบันอุดมศึกษา ได้เดินทางมาใช้ชีวิตและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยตอกย้ำหัวใจสำคัญของการศึกษาที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ และกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่เพียงสนใจแค่ความรู้ แต่ยังเห็นคุณค่าของผู้เรียนด้วย ท่ามกลางข่าวคราวที่นักเรียนนักศึกษามีความเครียด ความกังวลและกดดันสูง มีอัตราการป่วยทางจิต โดยเฉพาะอาการซึมเศร้าและความพยายามฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ประชากรครูและอาจารย์จำนวนไม่น้อยก็ต้องทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้รักหรือศรัทธา เพื่อตอบโจทย์ระบบวัดผลประเมินผลที่ดูเหมือนจะไม่สามารถสะท้อนคุณภาพของการเรียนรู้และการสอนได้อย่างแท้จริง เป็นเพียงการรายงานค่า “ตัวเลข” บางอย่างที่ระบบต้องการให้ผ่านพ้นไปเป็นครั้งคราว

โครงการ “ครูกล้าสอน” จึงถูกพัฒนามาจากความเชื่อพื้นฐานบางอย่างที่น่าจะสอดคล้องกับความต้องการของครูอาจารย์

ประการแรก การปฏิรูปการศึกษาควรจะมุ่งเป้าหมายที่การบ่มเพาะและหล่อเลี้ยงความเป็นมนุษย์ในตัวครู มากกว่าการอบรมเชิงเทคนิควิธีการที่อาจจะมีประโยชน์ในเชิงการประยุกต์ใช้งาน แต่ไม่สามารถสัมผัสหรือเข้าถึงชีวิตของครูได้ โมดูลแรกจึงเป็นเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไว้วางใจ เป็นมิตรและเปิดรับความแตกต่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การสำรวจโลกภายในของครูเอง พร้อมๆ กับสร้างสังคมหรือชุมชนที่เกื้อกูลต่อการเติบโตของชีวิตด้านในด้วย ผมเชื่อว่าพื้นที่หรือชุมชนที่ช่วยหล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจครู นอกเหนือจากวงวิชาการหรือเวทีประชุมที่ปะทะกันด้วยความคิด ทฤษฎีทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากระบบการศึกษา เราอาจจะไม่ได้ขาดงบประมาณ ความรู้ หรือผู้รู้ แต่ขาดกระบวนการ ภาษาหรือวิธีการดูแลจิตใจของครูอาจารย์อย่างลึกซึ้งมากพอ ซึ่งไม่จำต้องเป็นพื้นที่ทางศาสนาเท่านั้น

ประการที่สอง การสอนที่มีคุณภาพมาจากครูที่มีพลัง เป็นพลังที่มาจากการรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง เข้าใจตัวเองว่ามีจุดแข็งหรือพรสวรรค์อย่างไร หากครูอาจารย์ได้รับการสนับสนุนและเห็นคุณค่า ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและสนใจอย่างแท้จริง จนเกิดการพัฒนาตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ ศักยภาพการสอนและการดูแลนักเรียนนักศึกษาน่าจะมากตามไปด้วย แต่ระบบประเมินคุณภาพเพื่อควบคุม “มาตรฐาน” การทำงาน ที่น่าจะได้รับอิทธิพลจากแนวคิดอุตสาหกรรมนิยม ที่พยายามควบคุมผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจากโรงงานให้เหมือนๆ กัน มากกว่าให้คุณค่ากับเอกลักษณ์และความแตกต่างหลากหลาย น่าจะเป็นระบบที่บั่นทอนคุณค่าส่วนบุคคลและศักยภาพในการสร้างสรรค์ของครูแต่ละคนได้อย่างร้ายกาจ

Advertisement

ประการที่สาม ความสัมพันธ์และแวดวงที่มีความเป็นมิตร ความเข้าใจและให้คุณค่ากับความแตกต่างหลากหลาย ส่งเสริมพัฒนาการของชีวิต จากคำบอกเล่าของอาจารย์หลายคนที่เรียนจบปริญญาเอก เส้นทางการเรียนให้สำเร็จออกจะโดดเดี่ยว ต้องอาศัยวินัยและความอึดอย่างมาก เมื่อเรียนจบแล้วก็ใช่ว่าจะสอนเป็นเลย ส่วนเส้นทางการเป็นอาจารย์ก็โดดเดี่ยวไม่แพ้กัน ยิ่งการสอนให้ได้ผลดีเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว การมีวงสนทนาแลกเปลี่ยนในเรื่องวิธีการสอนต่างๆ ยิ่งเพิ่มทางเลือกในการสอนให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงวิธีการช่วยเหลือนักศึกษาที่ประสบปัญหาเรื่องการเรียนและปัญหาส่วนตัว ที่ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ ก็ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญของครูอาจารย์

ประการที่สี่ ครูอาจารย์ต้องการหลักการ ทัศนคติ วิธีคิดและกระบวนการสอนที่กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจ ความสนใจ และความหมายของการเรียนรู้ ตัวอย่างมุมมองที่มีผลต่อความสัมพันธ์ครูกับนักเรียน ได้แก่ การใส่ใจให้คุณค่ากับนักเรียนไม่น้อยไปกว่าเนื้อหาวิชาที่เรียน (Connection before Content) หากครูใส่ใจให้คุณค่ากับนักเรียนตรงตามสิ่งที่เขาเป็น โดยไม่ขึ้นต่อความสามารถหรือความถนัดในการเรียนวิชานั้นๆ และนักเรียนทุกคนรู้สึกว่าได้รับการมองเห็นและมีคุณค่าในสายตาของครู ยิ่งเป็นเด็กหลังห้องหรือเด็กที่มีพฤติกรรมเกเร หากครูใส่ใจว่าเบื้องหลังชีวิตที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนของพวกเขาเป็นอย่างไร ก็อาจจะทำให้พวกเขาหันมาสนใจเรียนมากขึ้น ครูต้องมีมุมมองว่าเด็กทุกคนไม่ได้มาโรงเรียนด้วยความว่างเปล่าและ “รอรับ” ความรู้จากครูเท่านั้น แต่พวกเขามาพร้อมกับศักยภาพที่จะ “ให้” และเรียนรู้ด้วยตัวเอง เด็กแต่ละคนต่างมีเรื่องราว เงื่อนไขของชีวิต พื้นฐานครอบครัวและเศรษฐานะแตกต่างกัน ทำให้มีความพร้อมและความสนใจที่แตกต่างกัน มุมมองเหล่านี้จะนำไปสู่การออกแบบชั้นเรียนและกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับผู้เรียนได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ครูอาจารย์ประสบปัญหาร่วมกันคือ เด็กนักเรียนขาดความสนใจในการเรียน ผมอยากแยกแยะความแตกต่างระหว่าง “อยากเรียน” กับ “อยากเรียนรู้” อย่างแรกสะท้อนให้เห็นถึงอาการของโรคไม่อยากเรียนที่ไม่ได้เกิดมาจากชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเราจะสังเกตเห็นเด็กเล็กๆ มีความอยากเรียนรู้ หยิบจับ เคลื่อนไหวตลอดเวลา แต่เป็นเพราะสภาพแวดล้อมทางการศึกษาที่ทำให้การเรียนน่าเบื่อ และการวัดผลที่ให้ความสำคัญกับความสามารถในการตอบได้มากกว่าชีวิตของเด็กเอง การแก้อาการความสนใจเรียนเสื่อมสภาพ ต้องอาศัยการ “เยียวยา” ทัศนคติที่มีต่อการเรียน ด้วยกระบวนการเสริมสร้างคุณค่าและความมั่นใจ (Empowerment) ให้เกิดขึ้นในชีวิตนักเรียน
บทบาทของครูอาจารย์ในปัจจุบันที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ผมเห็นว่าควรมีฐานะดังต่อไปนี้

Advertisement

1.ผู้เยียวยาคุณค่า ความภูมิใจในตัวเองและความมั่นใจให้กับนักเรียน (Healer and Coach)

2.สร้างความเป็นมิตรและมิติของการเป็นชุนชนแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในและนอกชั้นเรียน (Facilitator)

3.นักตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความคิดและจัดกระบวนการเรียนให้เกิดการมีส่วนร่วม และมีประสบการณ์ตรงหรือปฏิบัติจริงในเรื่องที่เรียน (Learning Process Facilitator)

4.นักสนทนาที่มีความเป็นประชาธิปไตย มีทักษะในการส่งเสริมและจัดการความคิดเห็น ความเชื่อและคุณค่าที่แตกต่างกัน (Constructive Conflicts Transformer)

เนื้อความข้างต้นเป็นสิ่งที่ผมค้นพบจากการรับฟังความคิดเห็นและการแลกเปลี่ยนกับครูอาจารย์ที่เข้าร่วมการอบรมในโมดูลแรก เรื่อง “ครูผู้ตื่นรู้ในตน” ผ่านกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อตกลงร่วม “โดโจ” การรับฟังอย่างลึกซึ้ง การเดินข้ามเส้น…ก้าวย่างอย่างยอมรับ นิสัยและภาวะผู้นำ 4 ทิศ การรับฟังอัตโนมัติ 8 แบบ การรับฟังอย่างเข้าใจความรู้สึกและความต้องการ เวทีแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องราวการปฏิรูปการศึกษาในคณะ ซึ่ง อ.วรชาติ เชิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มาเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงแนวทางการศึกษาที่คณะให้เป็นแบบจิตตปัญญาศึกษา ที่มุ่งสร้างความศรัทธาในตัวเองของนักศึกษาและการทำงานเป็นทีม โดยให้กำลังใจพวกเราว่าแม้จะเป็นคนกลุ่มน้อยในสถาบันของตัวเอง ก็ควรยืนหยัดทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อและศรัทธาในการรับใช้อุ้มชูจิตวิญญาณมนุษย์

นับว่าเป็น 4 วันที่เข้มข้น รื่นรมย์ด้วยเสียงดนตรีและเสียงหัวเราะของทุกคน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้บริหารด้านอุดมศึกษาและการศึกษาพื้นฐานของประเทศเรา รวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่ว่าระดับไหน จะมองเห็นคุณค่าของพื้นที่ชีวิตและการเรียนรู้ของครูอาจารย์ ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการสนับสนุนบุคคลสำคัญของการสร้างคนอย่างเป็นรูปธรรมและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหมายถึงอนาคตของประเทศชาติที่จะก่อรูปในใจของครูและนักเรียนแต่ละคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image