ประกาศ ‘กกต.’ เลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ ‘ธง’ ทาง การเมือง

ไม่ว่าจะมองธงแห่งการเลือกตั้งเป็นภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเพียง “ตุ๊กตา” ไม่ว่าจะมองว่าเป็นการปักลงตาม “ทฤษฎี”

แต่นี่คือ “หินลองทอง” และ “สันปันน้ำ”

อย่างน้อยก็แยกทองออกจากตะกั่ว อย่างน้อยก็กำหนดว่าหลังสันอันนี้คือ บาทก้าวที่จะคืบไปสู่กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” อย่างเป็นจริง

ปมเงื่อนอยู่ที่ “ท่าที”

Advertisement

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดของ นายอิทธิพร บุญประคอง มีความแน่วแน่มากยิ่งกว่าเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับชุดของ นายศุภชัย สมเจริญ

นี่ย่อมเป็นนิมิตหมายอันทรงความหมาย

พลันที่คำประกาศนี้ปรากฏในสังคมก็ก่อให้เกิดการแยกจำแนกโดยปริยายให้เห็น 1 การขานรับจากคนอยากเลือกตั้ง และ 1 อาการหงุดหงิดจากคนไม่อยากเลือกตั้ง

Advertisement

เป็นเช่นนั้น

ถามว่ากระแสที่ไม่ต้องการเห็นการเลือกตั้งดำรงอยู่ภายในความเรียกร้องต้องการให้การเลือกตั้งปรากฏขึ้นในสังคมจริงละหรือ

หรือว่าเสมอเป็นเพียงข้อกล่าวหา

หากสังเกตจากปฏิกิริยาต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Start Up สำแดงเจตจำนง “คนอยากเลือกตั้ง” ออกมาตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมกราคม กระทั่งเดือนพฤษภาคม 2561 ก็จะสัมผัสได้ในความรู้สึก 2 อย่างนี้

และเมื่อสัมผัสเข้ากับการเคลื่อนไหวภายใน สนช.ที่พยายามจะแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยโฟกัสไปยังตำแหน่ง “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง”

ยิ่งแจ่มกระจ่าง สว่างใส

เป้าหมายต้องการยื้อ ถ่วง หน่วง โรดแมปการเลือกตั้งอย่างแน่นอน อย่างน้อยหากทำสำเร็จการเลือกตั้งก็มิอาจเกิดขึ้นได้ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

คำถามก็คือ แล้วทำไมต้อง “ถอย”

การที่มีการถอนร่างแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งออกมาเป็นเพราะบรรดาไอ้ห้อยไอ้โหนภายใน สนช.บังเกิดภาวะตื่นรู้ในทางการเมืองจริงหรือ

ไม่จริงหรอก

คำตอบที่แจ่มชัดและตรงเป้าอย่างที่สุดก็คือ กระแสคัดค้านต่อต้าน อันเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในสังคมต่างหาก

ทำให้คนเหล่านั้นต้องจำนน

ทั้งหมดนี้คือการปะทะและขัดแย้งกันอย่างชนิดประจันหน้าระหว่างกลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้งกับกลุ่มคนที่อยากเห็นการเลือกตั้ง

เพราะเชื่อว่า มีแต่การเลือกตั้งเท่านั้นจะเป็นทางออก

ไม่ว่าความคับข้องหมองใจอันเนื่องจากความคับแค้นในทาง “จิตใจ” และความยากไร้ในทาง “วัตถุ” จะได้รับการแก้ไขด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง นั่นก็คือ กระบวนการอันเป็น “ประชาธิปไตย”

นั่นก็คือ ใช้ “ประชาธิปไตย” ไปชำระล้างคราบแห่ง “เผด็จการ”

นับแต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศปักธงการเลือกตั้งโดยถือเอาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นหมุดอันทรงความหมาย

แต่นี้เป็นต้นไปก็ต้องเป็นการติดตาม

ติดตามเสาะหาว่า “มาตรการ” อะไรทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรค ติดตามเสาะหาว่า เป็นองค์กรใดก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคนั้นขึ้น

หากไม่พบตัว “ปัญหา” ก็จะไม่สามารถสะสาง “ปัญหา” ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image