มิติ การเมือง พันธมิตร ‘แนวร่วม’ ต่อต้าน คสช.

พลันที่พรรคประชาชาติมีการเปิดตัวโดยมีการวางตัว นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นหัวหน้า ขณะที่ นายวรวีร์ มะกูดี จะอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการ

ก็มองเห็นพันธมิตรในแนวร่วม “เพื่อไทย” ชัดขึ้น

เพราะไม่เพียงแต่ นายวรวีร์ มะกูดี จะเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หากแม้กระทั่ง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็เคยอยู่ทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาแล้ว

ยิ่งเห็นอีกหลายคน

Advertisement

เช่น นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ แห่งนราธิวาส นายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา แห่งปัตตานี นายต่วน อับดุลเลาะ ดาโอ๊ะมารียอ แห่งยะลา

ยิ่งมีความแจ่มชัด

แจ่มชัดว่าพรรคประชาชาติไทยเน้นหนักไปยังพื้นที่มุสลิมและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

Advertisement

เป็นการเจาะเฉพาะกลุ่มอย่างเด็ดเดี่ยว มั่นคง

หากประเมินจากฐานทางความคิดด้วยการเอา “รัฐประหาร” เป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ถือได้ว่ามีอย่างน้อย 3 พรรคการเมืองที่ยืนอยู่แนวเดียวกัน

1 คือพรรคเพื่อไทย อันเป็นความต่อเนื่องจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และ 1 คือพรรคประชาชาติ อันสัมพันธ์กับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย

และ 1 คือ พรรคอนาคตใหม่

3 พรรคนี้มีจุดร่วมอย่างสำคัญ คือ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร และไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ คสช.

รูปธรรม คือ ต่อต้าน “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540”

รูปธรรม คือ ต่อต้านผลพวงเลวร้ายจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะจากเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นี่คือ พันธมิตรในแนวร่วม “ไม่เอา คสช.”

ไม่ว่าในที่สุดพันธมิตรในทางความคิดระหว่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ จะลงเอยอย่างไร

แต่หากนำเอาจุดเด่นของ 3 พรรคมาเปรียบเทียบ

พรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งอยู่ที่ ส.ส.ระบบเขต ซึ่งยึดครองพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ อย่างแข็งแกร่ง ขณะที่มีจุดอ่อนอยู่ในภาคใต้

จุดอ่อนของพรรคเพื่อไทยในภาคใต้จะได้จุดเด่นของพรรคประชาชาติมาทดแทน

ขณะเดียวกัน พรรคอนาคตใหม่อาจเป็นพรรคใหม่อย่างยิ่ง ละอ่อนอย่างยิ่ง แต่เป้าหมายที่พรรคนี้จะเจาะทะลวงเข้าไป คือ คนรุ่นใหม่

คนรุ่นใหม่ซึ่งอยู่ใน “ทศวรรษแห่งความมืดมน”

หากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ และพรรคอนาคตใหม่ สามารถแยกกันเดินและย้อนกลับมาก่อรูปพันธมิตรกระทั่งกลายเป็น “แนวร่วม” ทางการเมืองขึ้นได้

3 พรรคนี้จะกลายเป็นพลังต่อรองอย่างทรงความหมาย

การเมืองนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และโดยเฉพาะจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ถือได้ว่าเป็นการเมืองในอีกมิติหนึ่ง

แตกต่างไปจากก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 แน่นอน

ยิ่งกว่านั้น ยังแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และพร้อมจะฝ่าฟันแม้จะมีร่มเงาอันมืดครึ้มจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กางครองอยู่ก็ตาม

เป็นมิติแห่งการเปิดหน้าชกในทางความคิด ในทางการเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image