เดินหน้า สู่เลือกตั้ง คสช. นับถอยหลัง รอวัดผล ‘เสียของ?’

พลันที่มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ทุกอย่างก็ชัดแจ้ง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า การเลือกตั้งจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562

เป็นไปตามโรดแมป 24 กุมภาพันธ์ ปี 2562

เช่นเดียวกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมป

Advertisement

ขณะที่ กกต.ส่งเทียบเชิญพรรคการเมืองเพื่อพูดคุยถึงการตระเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด

นั่นคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก

ดูเหมือนว่าทุกอย่างกำลังคืนกลับสู่ประชาธิปไตย

Advertisement

เป็นประชาธิปไตยตามบทบัญญัติใหม่ที่ คสช. และแม่น้ำทั้ง 5 สายกำหนดขึ้น

เพื่อมิให้ “เสียของ”

บทบัญญัติที่มุ่งเป้าหมายไม่เสียของยังคงวนเวียนอยู่กับการป้องกันมิให้พรรคเพื่อไทยและเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร คืนสู่อำนาจ

กระบวนการไม่ให้เสียของได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูก โดยปรับเปลี่ยนวิธีการได้มาของ ส.ว.

กำหนดให้ ส.ว. 250 คน มาจาก คสช. 200 คน และมาจากการคัดกันเองแล้วส่งให้ คสช.เลือกอีก 50 คน

รวมๆ แล้ว ส.ว. 250 คนเป็นคนที่ คสช. มีส่วนในการคัดเลือก

นอกจากนี้ ยังระบุไว้ว่า ส.ว. 250 คนนี้ยังมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.อีกด้วย

ขณะที่ ส.ส.ได้มาจากเลือกตั้ง แต่วิธีการคำนวณเสียงเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงจากเดิม

แม้ ส.ส.จะมี 2 ประเภท คือ ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อเหมือนเก่า แต่การได้จำนวน ส.ส.นั้นมีสูตรคิด

เป็นสูตรที่ทำให้พรรคที่ได้ ส.ส.เขตมาก อาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

และเป็นสูตรที่พรรคที่แม้ ส.ส.เขตจะไม่มีสักคน แต่ก็อาจมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

วิธีการเช่นนี้ย่อมทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.ลดลง

ขณะที่พรรคการเมืองใหม่ และพรรคการเมืองอื่นๆ มีโอกาสได้ ส.ส.มากขึ้น

กระบวนการดังกล่าวมีโอกาสทำให้นักการเมืองหน้าใหม่เข้าสู่สนามอย่างมีหวัง

รวมถึง นักการเมืองหน้าใหม่ จาก คสช.

รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การประกาศใช้ พ.ร.ป. 2 ฉบับดังกล่าว นอกจากจะทำให้ทุกฝ่ายต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้งแล้ว ยังเป็นการ “นับถอยหลัง” ของ คสช.ด้วย

ทั้งนี้ เพราะในขณะนี้ คสช.ยังมีอำนาจ ม.44 คุ้มครองตัวเองจนกระทั่งรัฐบาลจากการเลือกตั้งเริ่มปฏิบัติงาน อำนาจตาม ม.44 ที่ คสช.เคยมีก็จะหายไป

เมื่อถึงเวลานั้น ทั้งพรรคการเมือง ทั้ง คสช. ต่างมีสิทธิมีเสียงไม่แตกต่างกันแล้ว

หาก คสช.สืบต่ออำนาจ แต่ไม่มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่ง โอกาสที่จะ “จบไม่สวย” ก็มีสูง

ขณะนี้มีกระแสข่าวว่า พรรคพลังประชารัฐจะเป็นพรรคที่สืบสานนโยบายของ คสช. สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

พรรคพลังประชารัฐ มีแรงดึงดูดนักการเมืองเก่าให้เข้าร่วม อย่างน้อยกลุ่ม 3 มิตรก็ประกาศชัดว่าสนใจเข้าผนึก และส่งเสริม พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกครั้ง

แต่หากพรรคพลังประชารัฐมีเสียงในสภาไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

ถ้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อรวมกับพรรคการเมืองอื่นๆ แล้ว มีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

แม้ พรรคที่สนับสนุน คสช. จะได้เป็นรัฐบาล หรือแม้ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯ

สุดท้ายก็เป็นรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพอยู่ดี

การบ้านของ คสช. จึงต้องมีพรรคที่สนับสนุนตัวเองที่มีเสียงสนับสนุนให้มากที่สุด และมีพรรคการเมืองที่เป็นพวกกันมาร่วมสนับสนุนให้มากที่สุด

เพื่อให้รัฐบาลที่หวังกันว่าจะเป็นรัฐบาลของ คสช. มีเสถียรภาพ

หรือมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนฯ

การประกาศใช้ พ.ร.ป. 2 ฉบับดังกล่าวยังเป็นสัญญาณบ่งบอกให้ คสช.ผ่อนคลายกฎระเบียบให้พรรคการเมือง

ไม่ว่าจะเป็นการ “คลาย” หรือจะเป็นการ “ปลด” แต่นับจากนี้พรรคการเมืองย่อมมีเสรีภาพมากขึ้น

เมื่อพรรคการเมืองเริ่มเคลื่อนไหว ความได้เปรียบที่ คสช.เคยมอบให้กลุ่มการเมืองตามข้อครหาก็จะลดน้อยลง

ยิ่งเมื่อพรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถหาเสียง และประกาศนโยบายได้อย่างเต็มที่

ความได้เปรียบเสียเปรียบที่เคยเกิดขึ้นก็ค่อยๆ คลี่คลายลง

ก่อนการเลือกตั้ง การหาเสียงที่แต่ละพรรคมีสิทธิและมีโอกาสจะเป็นตัวชี้วัดคะแนนนิยม

จุดยืนของพรรค นโยบายพรรค ทีมของพรรคที่จะเข้าไปทำงานบริหาร จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียกคะแนน

เรียกความสนใจของประชาชน ให้ไปลงคะแนนให้กับผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคตัวเอง

แล้วผลการลงคะแนนก็จะเป็นเสียงของประชาชนที่จะเลือกผู้มาบริหารประเทศ

เสียง ณ วันนั้น จะเป็นข้อสรุป

บทสรุปที่ว่า 4 ปีที่ คสช.ได้ดำเนินการสิ่งต่างๆ มานั้น

เสียของหรือไม่เสียของ

ดังนั้น นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคัดเลือก ส.ว. ไม่ว่าจะเป็นการตระเตรียมจัดการเลือกตั้ง ส.ส.

ทุกกระบวนการล้วนมีความสำคัญ เพราะนี่คือโค้งสุดท้ายของ คสช.

เป็นโค้งสุดท้ายในยุคของการ “ยึดอำนาจ เมื่อพฤษภาคม 2557”

และกำลังจะเข้าโค้งแรกของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้กฎกติกาที่ คสช.ปลุกปั้นขึ้นมา

เป็นอีกครั้งของการ “ยึด” และ “ส่งคืน” อำนาจให้แก่ประชาชน

เป็นการฟังคำตัดสินจากประชาชนอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้าที่เคยสัมผัสผลการตัดสินมาแล้ว

ประชาชนเคยตัดสินเมื่อการเลือกตั้งปี 2550 ประชาชนเคยตัดสินเมื่อการเลือกตั้งปี 2554

ขณะนี้กระบวนการกำลังโยนกลับมายังประชาชนอีกครั้งเพื่อเป็นผู้ตัดสิน

การเลือกตั้งในปี 2562 นี้ ประชาชนจะตัดสินอย่างไร

ผลการตัดสินอีกครั้งจะบ่งบอกว่า สรุปสุดท้ายแล้ว คสช.ทำงานสำเร็จหรือล้มเหลว

การที่ คสช.ตรากตรำทำงานหนักมา 4 ปีนั้น

สุดท้ายแล้ว “เสียของ” หรือไม่ เรื่องนี้น่าติดตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image