รากฐาน การเมือง ยุทธศาสตร์ ร่วม พรรคใหญ่ เป้าหมาย คือ คสช.

พลันที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศบนเวทีปราศรัยร้อยเอ็ด พลันที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศก่อนเคลื่อนคาราวานหาเสียงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ระบุเป้าหมายอยู่ที่เอาชนะ 250 ส.ว.

นั่นเท่ากับเป็นรูปธรรมยืนยันเป็นครั้งแรกถึงยุทธศาสตร์อันมีเป้าหมาย “ร่วม” ในทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์

ความหมายหมายความว่าต้องการเสียงมากกว่า 250 โดยพื้นฐาน

Advertisement

หากมองเฉพาะพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ อาจฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ

แต่เมื่อกำหนด “ยุทธศาสตร์” แล้วก็ต้องมี “ยุทธวิธี”

ความหมายที่แจ่มชัดที่สุดก็คือ ทั้งพรรคเพื่อไทย ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนมีเป้าหมายเพื่อจัดการกับ คสช.และพรรคอันเป็นเครือข่ายของ คสช.

Advertisement

สยบ 250 ส.ว.ในเบื้องต้น สยบ คสช.ในบั้นปลาย

ทําไมต้องให้บทบาทกับ “ยุทธศาสตร์” ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นพิเศษ คำตอบย่อมเด่นชัดอย่างยิ่งว่า

เพราะ 2 พรรคนี้คือ พรรคใหญ่

เป็น 2 พรรคที่ไม่เพียงมีความพร้อมอย่างเต็มอัตราศึกที่จะสัประยุทธ์กับพรรคของ คสช.โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มเปี่ยม

หากแต่ยุทธศาสตร์ของ 2 พรรคจะมีส่วนกำหนดยุทธศาสตร์โดยรวม

คำประกาศอันมาจาก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เมื่อประสานเข้ากับคำประกาศอันมาจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อให้เกิดพันธมิตรในแนวร่วมทางการเมืองขึ้นมาโดยพื้นฐาน

นั่นก็คือพันธมิตรในการต้านการสืบทอดอำนาจ

เนื่องจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคใหญ่ เป็นพรรคเดิมที่มีรากฐานทางการจัดตั้งอย่างค่อนข้างแข็งแกร่ง จึงส่งผลสะเทือนไปถึงพรรคการเมืองอื่นได้โดยอัตโนมัติ

เกิดเป็นปราการ “เอา” หรือ “ไม่เอา” คสช.ขึ้นทันที

ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์มีจุดต่างอย่างแน่นอนตามรากฐานที่เคยต่อกรกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และหลังสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

ผลก็คือ พรรคเพื่อไทยได้ชัย พรรคประชาธิปัตย์เป็นรอง

พรรคประชาธิปัตย์อาจมีท่าทีผ่อนปรนต่อ คสช.มากกว่าเชิงเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทย กระนั้น การผ่อนปรนนี้ก็ดำเนินไปอย่างมีลักษณะต่อรอง

ต่อรองและสร้างความเหนือกว่า

ตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีลักษณะต่อรอง ตรงกันข้าม ประกาศดับเครื่องชนกับ คสช.อย่างไม่มีการประนีประนอม

จุดนี้อาจสร้างความเหนือกว่ากับลักษณะต่อรอง

กระนั้น ภายในรายละเอียดนี้ก็อาจจะมีผลต่อคะแนนเสียง ไม่ว่าจะมองจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะมองจากพรรคประชาธิปัตย์

แต่ในที่สุดแล้วก็หวังกำราบ คสช.และพรรคเครือข่าย

ไม่ว่า คสช.จะต้องการ ไม่ว่า คสช.จะไม่ต้องการ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยุทธศาสตร์ “ร่วม” ของพรรคเพื่อไทยพรรคประชาธิปัตย์มีรากฐานมาอย่างไร

1 มาจากยุทธศาสตร์ “สืบทอดอำนาจ” ของ คสช.

1 มาจากยุทธวิธีในการกำหนดกฎและกติกาเพื่อสร้างความได้เปรียบอย่างชนิดเอาแต่ได้จนเกินขีดแห่งความอดทนของพรรคการเมือง

เป็นกรรมอันมาจากการก่อของ คสช.โดยแท้ 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image