ใกล้ 24 มีนาฯ คดี ‘การเมือง’ ตัวแปร ‘การเมือง’

ขณะที่บรรยากาศการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ได้ปรากฏบทบาทของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ปรากฏให้เห็น
ประการแรก คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีพรรคไทยรักษาชาติกระทำผิดในข้อหา “เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคดี และเปิดโอกาสให้พรรคไทยรักษาชาติชี้แจงแก้ต่าง ซึ่งพรรคไทยรักษาชาติได้ยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ ปฏิเสธข้อหาล้มล้างประชาธิปไตย และระบุว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ยอมเปิดให้ชี้แจง
พร้อมกันนั้นพรรคไทยรักษาชาติเสนอพยานบุคคล 19 ปาก เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญรับฟัง
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีมติว่าไม่ต้องไต่สวนพยาน เนื่องจากหลักฐานที่ได้รับนั้นเพียงพอ
นัดหมายวันที่ 7 มีนาคม ตัดสินคดี
คดีนี้มีบทลงโทษถึงขั้นยุบพรรค และมีผลต่ออนาคตของกรรมการบริหารที่มีโทษหมดสิทธิทางกาารเมือง 10 ปี
ที่สำคัญความดำรงอยู่ของพรรคไทยรักษาชาติกับเกมการเมืองหลังเลือกตั้งมีความผูกโยงกัน
ผลการตัดสินคดีจึงมีผลต่อการเมืองหลังเลือกตั้ง

ขณะที่พรรคไทยรักษาชาติต้องรอฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ พรรคอนาคตใหม่ก็กลายเป็นขวัญใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
กระแสเสียงที่สนับสนุน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ดังกระหึ่ม
เป็นความ “กระหึ่ม” ที่เกิดขึ้นก่อน แล้วตามมาด้วยกระแสเสียง “โจมตี” ที่สะพัดตามมา
ล่าสุด ได้บังเกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองยื่นเรื่องให้ กกต. ดำเนินการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ด้วย
ข้อหาที่กล่าวอ้างในการฟ้องยุบพรรค เป็นข้อกล่าวหาเดียวกันกับที่ “ไทยรักษาชาติ” กำลังรอฟังคำตัดสิน
เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ
นี่จึงเป็นอีก 1 สำนวนที่มีการร้อง และรอฟังการวินิจฉัยเบื้องต้นจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
และถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นพ้อง
ต่อไปย่อมเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้พรรคอนาคตใหม่ก็มีความสำคัญในเกมการเมืองหลังการเลือกตั้ง
อนาคตของ “อนาคตใหม่” จึงเป็นที่จับตามอง

เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีผู้ร้องให้ลงโทษเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นเรื่องขอให้ กกต.ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคพลังประชารัฐ
นายเรืองไกรอ้างเหตุผล 3 ประการที่เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐอยู่ในข่ายความผิดมาตรฐานเดียวกับพรรคไทยรักษาชาติ
3 เรื่อง ดังกล่าวประกอบด้วย 1.นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก่อนที่จะเป็นสมาชิกพรรค อาจเข้าข่ายการให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรค
2.กรณีพรรคพลังประชารัฐ จัดงานระดมทุนขายโต๊ะจีน ราคาโต๊ะละ 3 ล้านบาท เป็นการแสวงหากำไรเกินควรหรือไม่
3.กรณีพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะที่ยังเป็นหัวหน้า คสช. อาจเข้าข่ายการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เรื่องนี้ยังรอผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
แต่ผลคดีของการพิจารณาย่อมมีผลต่อเกมการเมืองหลังวันที่ 24 มีนาคมเช่นกัน
ถ้าไม่ผิด ย่อมมีผลแบบหนึ่ง แต่ถ้าผิดก็จะส่งผลกระทบอีกแบบหนึ่ง

จากปรากฏการณ์ที่ยกมา แสดงถึงความสำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้ง 2 องค์กรต้องวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพรรคการเมืองและนักการเมือง
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อนไทยขาดคุณสมบัติจำนวนมาก ขาดคุณสมบัติเพราะมีปัญหาเรื่องการจัดตั้งสาขาพรรค และแต่งตั้งตัวแทนพรรค
โดยผู้สมัครคนหนึ่งไปร้องศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และศาลฎีกาฯได้ยกคำร้อง
ทำให้ผู้สมัคร 206 คนของพรรคเพื่อนไทยส่อแววหมดสิทธิ
คำวินิจฉัยเช่นนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองใด หรือนักการเมืองคนไหน ย่อมมีผลกระทบ
หากยังไม่มีการเลือกตั้งก็กระทบแค่พรรคการเมืองที่ถูกวินิจฉัย แต่ถ้ามีการเลือกตั้งไปแล้ว และมีบุคคลที่เป็น ส.ส.แล้ว
ผลกระทบก็จะมีขอบข่ายกว้างขึ้น
บางพรรคมีผลกระทบต่อขั้วเอา คสช. กับไม่เอา คสช.
บางพรรคมีผลกระทบถึงการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรี

Advertisement

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทางการเมือง
การทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความหมาย
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม ผลวินิจฉัยจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งมีความหมาย
ยิ่งหลังจากมีการเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว จนกระทั่งถึงการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรี
ทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญ จะมีความหมายยิ่งขึ้น
มีความหมายต่อการดำรงอยู่ มีความหมายต่อการชนะหรือแพ้ทางการเมือง
มีความหมายอย่างมีนัยยะสำคัญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image