‘โควิด’ รอบใหม่อีก วัดฝีมือ ‘รัฐบาล’ เขย่าเก้าอี้ ‘บิ๊กตู่’

‘โควิด’ รอบใหม่อีก วัดฝีมือ ‘รัฐบาล’ เขย่าเก้าอี้ ‘บิ๊กตู่’

คลัสเตอร์สถานบันเทิงกลายเป็นแหล่งระบาดรอบใหม่ เมื่อปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้ออยู่ในสถานบันเทิง และมีผู้เกี่ยวข้องที่ต้องตรวจเชื้อและกักตัว 14 วัน

เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงมีจำนวนมากขึ้น ศบค.จึงเสนอความเห็นให้ปิดสถานบันเทิงใน 41 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี

ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา นราธิวาส นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานี บุรีรัมย์ เลย เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ตาก และเพชรบูรณ์

เริ่มตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 9 เมษายน แล้วนับไปอีก 14 วัน

Advertisement

ขณะเดียวกัน พบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น และที่มากกว่าคือผู้ที่ขอตรวจเชื้อจากสถานพยาบาลเนื่องจากสถานที่ที่เคยอยู่ หรือบุคคลที่เคยพบปะสังสรรค์ติดเชื้อไวรัส จึงถือว่าเสี่ยงต่อการป่วย

จำนวนผู้ขอเข้าตรวจเชื้อมีจำนวนมากกระทั่งโรงพยาบาลบางแห่งเริ่มไม่สามารถให้บริการได้ เนื่องจากมีข้อกำหนดว่าสถานพยาบาลใดพบผู้ติดเชื้อให้สถานพยาบาลนั้นรับผู้ป่วยเข้ารักษา

ผลจากการระบาดรอบใหม่ทำให้เตียงโรงพยาบาลเอกชนเริ่มเต็ม จึงเกิดกระแสข่าวปฏิเสธการตรวจเชื้อ และมีข่าวลือว่าน้ำยาตรวจหมด

Advertisement

กระแสทั้งหมดสร้างความกลัวให้เกิดขึ้น

การระบาดรอบใหม่นี้มีข้อแตกต่างจากการระบาดรอบก่อนตรงที่มีบุคคลสำคัญที่เป็นบุคคลสาธารณะป่วยอยู่หลายคน

มีรัฐมนตรีป่วย มีรัฐมนตรีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องตรวจเชื้อ มีพรรคการเมืองที่ต้องกักตัว 14 วันตามมาตรฐานสาธารณสุข

ผลที่เกิดขึ้นคือการทำงานของรัฐบาลที่ต้องหยุดชะงักการดำเนินการของรัฐสภามีปัญหา โดยการประชุมรัฐสภาในวาระพิจารณา พ.ร.บ.ประชามติ ไม่สามารถลงมติวาระ 2-3 ได้ในสมัยประชุมวิสามัญ 7-8 เมษายน เพราะองค์ประชุมฉิวเฉียด กระทั่ง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ต้องยอมให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวค้างไปพิจารณาในการประชุมรัฐสภาสมัยการประชุมต่อไป

ผลกระทบจากกรณีบุคคลสาธารณะป่วย และสถาบันหลักอย่างรัฐสภาและรัฐบาลต้องสะดุดเนื่องมาจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ คือ คำถามที่ประชาชนเริ่มสงสัย

ประการแรก สงสัยในคุณภาพของวัคซีน และเริ่มสอบถามเรื่องจำนวนวัคซีนที่ต้องใช้ ระยะเวลาที่จะได้มา และระยะเวลาที่วัคซีนจะฉีดให้คนไทยได้ทั่วถึง

ประการที่สอง สงสัยในเรื่องความพร้อมในการรับมือการระบาด เนื่องจากเมื่อประเทศต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การระบาดอีกรอบหนึ่ง และมีกระแสข่าวเรื่องสต๊อกของน้ำยา จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย และเกิดข่าวลือเรื่องขาดแคลนตามมา

ข้อสงสัยต่างๆ ย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่น

และความเชื่อมั่นจะมีผลต่อความกลัวของประชาชน

ภาระหนักอึ้งจากการระบาดรอบใหม่ย่อมตกอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะรัฐมนตรี

โจทย์ข้อเดิม คือ ต้องทำให้ประชาชนปลอดโรค และทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนยังคงต้องแสวงหาคำตอบต่อไป

การระบาดระลอกใหม่ทำให้โจทย์ด้านสาธารณสุขย้อนกลับมาให้รัฐบาลดำเนินการอีกครั้ง แต่รัฐบาลจะใช้วิธีการเดิม คือล็อกดาวน์ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักขึ้น

เงินเยียวยามีแต่ใช้เงินออกไป ภาษีอากรเก็บเพิ่มไม่ได้ ขณะที่ภารกิจด้านอื่นๆ เช่น การลงทุน การส่งออก ยังต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยของการเจริญทางเศรษฐกิจ

ประเทศไทยตกอยู่ในสภาพเช่นนี้มายาวนานเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลก

การใช้วิธีการ “เยียวยา” จึงเริ่มมีอุปสรรค ทางออกที่ดีที่สุดคือ ต้องเดินหน้าไปในสถานการณ์เช่นนี้ให้ได้

การจะขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าไปในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งความร่วมมือภายในรัฐบาล ทั้งความร่วมมือจากภาคเอกชน และที่สำคัญที่สุดคือภาคประชาชน

ขณะที่สถานการณ์ที่ท้าทาย พล.อ.ประยุทธ์ คือความร่วมมือจากทั้งรัฐบาล เอกชนและประชาชนนั้นมีมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันต้องบอกว่าอยู่ในห้วงเวลาการเผชิญหน้า

หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ผลจากการโหวตทำให้พรรคพลังประชารัฐมองหน้าพรรคภูมิใจไทยไม่สนิทใจนัก ประเด็นกลุ่มดาวฤกษ์กับการโหวตให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังมีรอยร้าว

หลังการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 2-3 ได้เห็นรอยร้าวพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ กับอีก 3 พรรคที่เหลือ ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติไทยพัฒนา

และยิ่งเห็นความคิดที่แตกต่างระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น เมื่อพรรคพลังประชารัฐฉายเดี่ยวยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยไม่แตะต้องอำนาจวุฒิสภา

แตกต่างจากพรรคร่วมรัฐบาลที่ยึดคำสัญญาตอนเลือกตั้ง ยังคงเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราโดยให้โละอำนาจวุฒิสภา

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ภายในพรรคพลังประชารัฐเองที่มีกระแสความไม่พอใจมาตั้งแต่ข่าวคราวการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด

ยิ่งเมื่อผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เรื่องโครงสร้างพรรค ทำให้ พล.อ.ประวิตร หลุดคำ “ไอ้ห่า” ออกมา

ยิ่งสะท้อนสภาพรอยร้าวภายในออกมา

ขณะที่ภาคเอกชนนั้นเคยส่งสัญญาณถึงรัฐบาลมานานแล้ว โดยเฉพาะการบริหารจัดการให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน

แรงกดดันจากภาคเอกชนมีส่วนสำคัญที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจปรับ ทีมเศรษฐกิจ

ขณะที่เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการด้านเศรษฐกิจให้มากขึ้น สะท้อนถึงระดับความศรัทธาที่เคยมีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ลดน้อยลง

สาเหตุไม่ได้เกิดจากความเกลียดชัง แต่มาจากฝีมือการจัดการ

แม้แต่การจัดการกับสถานการณ์โรคโควิด-19 หากจับกระแสความเคลื่อนไหวจากภาคเอกชนก็พบว่า ทนทุกข์ทรมานจากมาตรการล็อกดาวน์ในตอนแรกอย่างสาหัส

และน่าเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่รัฐบาลปรับวิธีการรับมือสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด โดยยอมเปิดช่องทางให้ผู้คนทำมาหากินกันได้ก็เนื่องมาจากภาคเอกชนกดดัน

ในเรื่องวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก็เช่นกัน ภาคเอกชนมองว่ารัฐบาลนำเข้ามาช้า นำเข้ามาปริมาณน้อยกว่าความต้องการ และยังจำกัดการนำเข้า

ทำให้ประเทศไทยมีและฉีดวัคซีนในปริมาณที่น้อยเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ

ระยะหลังจึงได้ยินเสียงจากภาคเอกชนอยู่บ่อยๆ ว่าพร้อมจะจ่ายเงินซื้อวัคซีน และพร้อมจะฉีดวัคซีนให้พนักงานเพื่อลดภาระของรัฐบาล

ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนให้เห็นมุมมองของเอกชนที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลมีผลงานในการควบคุมการระบาดได้เป็นอย่างดี ทำให้ทุกฝ่ายยังยอมรับการนำของ พล.อ.ประยุทธ์

ดังนั้น การควบคุมการระบาดรอบใหม่นี้ จึงมีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์

เริ่มต้นจากภาคประชาชนที่กำลังตั้งคำถามหลังจากการระบาดเกิดขึ้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคำถามเรื่องวัคซีนที่มีอยู่ จำนวนการฉีด การนำเข้า ประสิทธิภาพ ความพร้อมในการรับมือการระบาด ทั้งอุปกรณ์ จำนวนเตียง ยา น้ำยาตรวจวัด บุคลากรทางการแพทย์ และอื่นๆ

หากรัฐบาลตอบข้อสงสัยประชาชนไม่ชัด ทำให้ข่าวลือแพร่สะพัด และความกลัวเกิดขึ้น

ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐบาล

และหากบริหารจัดการความเชื่อมั่นดังกล่าวไม่ไหว ย่อมจะบานปลายไปสู่ภาคเอกชนและรัฐบาลเอง

ในที่สุด ถนนทุกสายจะพุ่งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image